x close

แต่งงานกันแล้ว เปิดบัญชีธนาคารร่วมกัน 2 คน ดีไหม

เปิดบัญชีธนาคารร่วมกัน

          สามีภรรยาเปิดบัญชีเก็บเงินร่วมกันดีไหม ถ้าสนใจ ควรเลือกรูปแบบบัญชีให้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการเปิดบัญชีร่วมกัน
       
          หลังจากที่คู่รักแต่งงานและเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยกันแล้ว ก็ได้เปลี่ยนสถานะจากแฟนมาเป็นสามีภรรยาซึ่งจะต้องพูดคุยเจรจากันในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทั้งในส่วนของรายได้และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของครอบครัว หลายคู่เลือกที่จะจัดการกับเรื่องการเงินในบ้านด้วยการเปิดบัญชีร่วมกัน ซึ่งวิธีนี้ก็มีข้อดีข้อเสียที่คู่รักควรรู้ไว้ จะมีอะไรบ้าง K-Expert มีคำแนะนำในเรื่องนี้มาฝากเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนเรื่องการเงินของครอบครัวค่ะ

          การเปิดบัญชีร่วมทำให้คู่สามีภรรยามีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของเงินก้อนนี้ร่วมกัน เมื่อวางแผนจะซื้อทรัพย์สินอะไรร่วมกันก็ตาม เช่น ซื้อรถคันใหม่ หรือดาวน์บ้านหลังใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สามีภรรยาจะรู้สึกมีส่วนร่วมหรือเป็นเจ้าของในทรัพย์สินชิ้นนั้นด้วยกัน หรือบางคู่อาจเปิดบัญชีร่วมเพื่อเป็นเงินกองกลางเอาไว้ใช้จ่ายในบ้านร่วมกัน เช่น เอาไว้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งซ่อมแซมบ้าน รวมถึงค่าอาหารการกินด้วย ซึ่งการมีเงินกองกลางนี้จะช่วยลดปัญหาจุกจิกกวนใจว่าค่าใช้จ่ายเรื่องไหน ใครเป็นคนออก เพราะสามารถนำเงินกองกลางมาใช้ได้เลย

          ในการเปิดบัญชีร่วม สามีภรรยาจะเปิดเป็นบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือบัญชีกองทุนรวมก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการเปิดบัญชีร่วมค่ะ เช่น ถ้าต้องการเก็บเงินไว้ดาวน์บ้าน หรือเป็นเงินกองกลางไว้ใช้จ่ายในครอบครัวจะเหมาะกับบัญชีเงินฝากหรือกองทุนรวมตลาดเงิน หรือถ้าต้องการเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณของทั้งคู่จะเหมาะกับกองทุนรวมหุ้นมากกว่า การเปิดบัญชีกองทุนรวมร่วมกันมีข้อแม้ว่า กองทุนรวมที่เป็นกองทุนประหยัดภาษี อย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะไม่สามารถเปิดร่วมกันได้ค่ะ

เปิดบัญชีธนาคารร่วมกัน

          ในการเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกัน สำหรับชื่อบัญชีร่วมนั้นมีทั้งหมด 4 แบบคือ "และ", "หรือ", "เพื่อ", "โดย" ซึ่งแต่ละธนาคารอาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันว่า คู่สามีภรรยาสามารถเปิดบัญชีเงินฝากร่วมในชื่อบัญชีแบบไหนได้บ้าง โดยทั่วไปแล้ว สามีภรรยาที่เปิดบัญชีเงินฝากร่วมกันมักใช้ชื่อบัญชี "และ" เช่น นายสมชายและนางสมศรี เป็นต้น

          นอกจากนี้ ธนาคารอาจกำหนดเงื่อนไขในการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากร่วมไว้ด้วย โดยบางธนาคารอาจกำหนดว่าจะถอนเงินจากบัญชีร่วมได้ต้องมีลายเซ็นของทั้งคู่ หรือบางธนาคารให้เลือกได้ว่า มีลายเซ็นเพียงคนใดคนหนึ่งก็สามารถถอนเงินได้ ดังนั้น ก่อนเปิดบัญชีเงินฝากร่วมสามีภรรยาควรสอบถามรายละเอียดเงื่อนไขจากธนาคารให้เรียบร้อยก่อนค่ะ

          สำหรับการเปิดบัญชีกองทุนรวมร่วมกันจะคล้ายกับการเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกันค่ะ โดยแต่ละธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อาจกำหนดว่า สามารถเปิดบัญชีกองทุนรวมร่วมกันในชื่อแบบไหนได้บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วจะกำหนดให้เปิดได้เฉพาะบัญชี "และ" เท่านั้น และยังกำหนดด้วยว่าบัญชีเงินฝากที่ผูกกับกองทุนรวมสำหรับรับเงินปันผลหรือเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนต้องเป็นชื่อบัญชีเดียวกับชื่อกองทุนรวมค่ะ

          เช่น ชื่อบัญชีกองทุนรวมเป็น "นายสมชายและนางสมศรี" ชื่อบัญชีเงินฝากที่ผูกกับกองทุนรวมจะต้องเป็น "นายสมชายและนางสมศรี" ด้วยค่ะ และหากต้องการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม โดยทั่วไปต้องมีลายเซ็นของทั้งสองคนในใบขายคืนหน่วยลงทุน โดยต้องไปทำการขายคืนที่ธนาคาร หรือ บลจ. หรือตัวแทนขายกองทุน แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถไปขายกองทุนด้วยตัวเองได้ก็สามารถมอบอำนาจให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ค่ะ

เปิดบัญชีธนาคารร่วมกัน

          อย่างไรก็ตาม การเปิดบัญชีร่วม ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากหรือกองทุนรวมก็มีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือ ถ้าเกิดคู่รักกลายเป็นคู่ร้าง มีเหตุให้ต้องเลิกราแยกทางกันไป บัญชีที่เปิดร่วมกันไว้จะทำอย่างไร ถ้าตอนที่เปิดบัญชีร่วมกันใส่เงินในบัญชีไว้คนละเท่า ๆ กันก็คงไม่มีปัญหาอะไร สามารถแบ่งเงินในบัญชีคนละครึ่งได้ แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างใส่เงินไม่เท่ากัน ก็อยู่ที่ทั้งคู่ตกลงกันว่าจะแบ่งเงินกันอย่างไร หรือถ้าฝ่ายหนึ่งซึ่งสามารถถอนเงินได้โดยที่ไม่ต้องมีลายเซ็นของอีกฝ่ายหนึ่งชิงถอนเงินในบัญชีออกไปหมดก็มีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้เช่นกันค่ะ

          บางคนอาจคิดว่า ต่างฝ่ายต่างมีบัญชีของตัวเองแยกกันไปเลยดีกว่า เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งการแยกบัญชีก็มีข้อดี เหมือนเป็นการแยกกระเป๋าเงินของแต่ละคน ยิ่งถ้าใครมีภาระเยอะ เช่น มีญาติพี่น้องในอุปการะ การแยกบัญชีจะช่วยให้คู่สามีภรรยาจัดการเรื่องเงินของแต่ละคนได้ง่ายกว่า แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว หลาย ๆ คู่ก็คงอยากวางแผนการเงินร่วมกัน ซึ่งการเปิดบัญชีร่วมก็เหมือนเป็นเครื่องยืนยันการใช้ชีวิตคู่ของคนสองคนอีกแบบหนึ่งค่ะ

          จากข้อมูลที่กล่าวมา น่าจะพอเป็นแนวทางให้คู่สามีภรรยาพิจารณาได้ว่า จะเปิดบัญชีร่วมกัน หรือจะแยกบัญชีกันไปเลย เพราะแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับข้อตกลงหรือวัตถุประสงค์ในการเปิดบัญชีของคู่รักแต่ละคู่ ลองพิจารณากันดูนะคะ

K-Expert Action

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif เปิดบัญชีร่วมเมื่อต้องการวางแผนเก็บออมเงินร่วมกัน หรือเพื่อเป็นเงินกองกลางของครอบครัว โดยทำข้อตกลงหรือเงื่อนไขของการใช้เงินในบัญชีร่วมให้ดี

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif สอบถามธนาคารเกี่ยวกับการเปิดบัญชีร่วมว่าเปิดบัญชีร่วมแบบไหนได้บ้าง เงื่อนไขการเบิกถอนเงินเป็นอย่างไร เพื่อให้ตรงกับความต้องการในการเปิดบัญชีของทั้งสองฝ่าย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แต่งงานกันแล้ว เปิดบัญชีธนาคารร่วมกัน 2 คน ดีไหม อัปเดตล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 10:15:46 44,356 อ่าน
TOP