x close

สรุป 7 สาระสำคัญ พ.ร.บ. ทวงหนี้ 2558 ที่มีผลต่อเจ้าหนี้ - ลูกหนี้โดยตรง

พ.ร.บ. ทวงหนี้ 2558

         พ.ร.บ.ทวงหนี้ 2558 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้จำเป็นต้องรู้ให้ชัด

         เมื่อก่อนเรามักจะได้ยินข่าวเรื่องที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ข่มขู่ ทำร้ายอยู่เสมอ ๆ สร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การออกเป็น พ.ร.บ.ทวงหนี้ 2558 ในที่สุด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ ทั้งนี้กระปุกดอทคอมได้สรุป 7 สาระสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการทวงหนี้ของเจ้าหนี้ ซึ่งก็มีความชัดเจนในแง่ของการปกป้องลูกหนี้ไม่ให้ถูกกระทำการอันเป็นการข่มขู่หรือทำร้ายจากเจ้าหนี้ ส่วนเนื้อหาและรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ดูได้จากสรุปสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้เลย


1. คำนิยามสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ (มาตรา 3)

       ผู้ทวงถามหนี้ หมายถึง เจ้าหนี้ คือ ผู้ให้กู้เงิน ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้, บริษัทรับทวงหนี้ เป็นต้น ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย หมายรวมทั้งการกู้เงินในระบบและนอกระบบ

       ลูกหนี้ หมายถึง ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา และรวมถึงผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาด้วย

       ธุรกิจทวงถามหนี้ หมายถึง การทำเป็นธุรกิจรับจ้างทวงหนี้ โดยต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียนด้วย (มาตรา 5) 


2. ห้ามทวงหนี้กับคนที่ไม่ใช่ลูกหนี้ (มาตรา 8)

        อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นในกรณีที่ลูกหนี้ระบุไว้ว่าให้ทวงถามไปยังบุคคลนี้ได้ ซึ่งต้องปฏิบัติดังนี้

       ผู้ทวงหนี้ต้องรายงานตัว แจ้งชื่อ-สกุล และแสดงเจตนาว่าจะถามหาข้อมูลเพื่อติดต่อกับลูกหนี้

       ห้ามเล่าว่าลูกหนี้เป็นหนี้อะไร อย่างไร นอกเสียจากว่าผู้ที่เจ้าหนี้ไปติดต่อทวงหนี้นั้นเป็น สามี ภรรยา พ่อแม่ ลูก (ของลูกหนี้) กรณีนี้สามารถเล่าให้ฟังได้เท่าที่จำเป็นและเหมาะสม เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายของลูกหนี้

       ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย เพื่อให้ผู้อื่นเห็นแล้วทราบได้ทันทีว่าบุคคลนี้กำลังถูกทวงหนี้อยู่

       ห้ามทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด เช่น การหลอกถามผู้อื่น เพื่อให้ได้ข้อมูลติดต่อกับลูกหนี้

        หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 39)


3. การทวงหนี้ให้ปฏิบัติดังนี้ (มาตรา 9)

       ติดต่อลูกหนี้ตามที่อยู่ที่ให้ไว้ โดยติดต่อทางบุคคล โทรศัพท์ หรืออีเมล

       สามารถติดต่อได้เฉพาะในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. และในวันหยุดราชการ 08.00-18.00 น. เท่านั้น ยกเว้นในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อได้ตามเวลาดังกล่าว ให้ติดต่อได้ในช่วงเวลาอื่น

       ให้ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสม

       กรณีเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ทวงหนี้ต้องแสดงหลักฐานด้วยว่าตนเองได้รับมอบหมายมา



4. ข้อห้ามในการทวงหนี้ (มาตรา 11)

       ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของลูกหนี้

       ห้ามพูดจาไม่สุภาพ ดูหมิ่น

       ห้ามเปิดเผยข้อความที่เป็นหนี้กันให้ผู้อื่นรู้ เว้นแต่ไปทวงหนี้กับผู้ที่เป็นสามี ภรรยา พ่อแม่ หรือลูก (ของลูกหนี้)

       หากทวงหนี้ทางไปรษณีย์ เอกสารเปิดผนึก แฟกซ์ ห้ามระบุข้อความที่ทำให้ทราบว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน ยกเว้นบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยการประกาศทางหนังสือพิมพ์ ในกรณีที่เจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้โดยวิธีการอื่น

       ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย

         หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


5. ห้ามทวงหนี้แบบหลอกให้เข้าใจผิด (มาตรา 12)

       ห้ามส่งเอกสารที่ทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล เช่น ผู้ทวงหนี้ส่งเอกสารที่มีตราครุฑมาให้ลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล

       ห้ามทำให้ลูกหนี้เชื่อว่ามีการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถาม (Notice) จากทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย

       ห้ามทวงถามหนี้ด้วยข้อความที่ทำให้ลูกหนี้เข้าใจว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึด หรืออายัดทรัพย์ หรือเงินเดือน

         หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


6. การทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม (มาตรา 13)

       ห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

       ห้ามเสนอให้ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ตามเช็ค หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


7. ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องกับการทวงหนี้ (มาตรา 14)

          เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในส่วนราชการ ห้ามประกอบธุรกิจรับทวงหนี้ หรือไปช่วยคนอื่นทวงหนี้ที่ไม่ใช่หนี้ของตัวเอง (มาตรา 14) ยกเว้นถ้าหนี้นั้น เป็นหนี้ของสามี ภรรยา พ่อแม่ หรือลูก จึงสามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          หลังจากนี้คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าปัญหาการทวงหนี้อย่างผิดกฎหมายจะลดน้อยลงหรือไม่ รวมถึงปฏิกิริยาจากบรรดาเจ้าหนี้ที่อาจจะมีฟีดแบ็คต่อ พ.ร.บ. ฉบับนี้ในแง่ลบ เนื่องจากจะเห็นว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้มีสาระสำคัญค่อนข้างจะเอนเอียงไปในทางปกป้องลูกหนี้จากการถูกทวงหนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าลูกหนี้จะใช้ช่องว่างตรงนี้ในการหลีกเลี่ยงการจ่ายหนี้หรือไม่

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ราชกิจจานุเบกษา 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุป 7 สาระสำคัญ พ.ร.บ. ทวงหนี้ 2558 ที่มีผลต่อเจ้าหนี้ - ลูกหนี้โดยตรง อัปเดตล่าสุด 4 กันยายน 2558 เวลา 09:56:03 30,302 อ่าน
TOP