x close

กองทุนการออมแห่งชาติ VS กองทุนประกันสังคม มาตรา 40 เทียบชัด ๆ กองทุนไหนให้มากกว่า

           กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กับกองทุนประกันสังคม ของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กองทุนไหนให้สิทธิประโยชน์และเงินบำนาญที่คุ้มค่ามากกว่ากัน วันนี้เรามีคำตอบ

ออมเงิน

           มีหลายคนสงสัยว่าสิทธิประโยชน์ของกองทุนการออมแห่งชาติ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แล้ว กองทุนไหนให้สิทธิประโยชน์ดีกว่ากัน รวมถึงอาจจะอยากทราบว่าแต่ละกองทุนต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นจำนวนเท่าไร รัฐสมทบมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งกองทุนไหนให้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ นอกจากเรื่องของเงินสมทบดีกว่ากัน วันนี้เราจะไปเจาะลึกถึงรายละเอียดของแต่ละกองทุนกันครับ

กองทุนประกันสังคม

           เริ่มกันที่กองทุนประกันสังคมก่อนเลย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 นะครับ เนื่องจากผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (มีนายจ้าง) และ 39 (เคยทำงานในระบบ ต่อมาลาออก และยังส่งเงินประกันสังคมด้วยตัวเอง) อยู่ในระบบประกันสังคมที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมในกรณีชราภาพ (บำเหน็จ, บำนาญ) อยู่แล้ว

           กองทุนประกันสังคม มาตรา 40 เปิดโอกาสสำหรับบุคคลที่อายุ 15-65 ปี ที่ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา 39 รวมถึงไม่เป็นข้าราชการ หรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม ได้เป็นผู้ประกันตนอิสระ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยมีทั้งหมด 3 ทางเลือก

ประกันสังคม
ประกันสังคม 
ประกันสังคม

กองทุนการออมแห่งชาติ

          สำหรับ กอช. นั้น ให้สิทธิกับนักเรียน นักศึกษา ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีอายุ 15-60 ปี สัญชาติไทย และไม่อยู่ในระบบสวัสดิการบำเหน็จบำนาญอื่นของรัฐ ทั้งนี้ หากเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือก 1 ก็สามารถสมัคร กอช. ได้ด้วย

     การส่งเงินสมทบ

          สมาชิก กอช. สามารถจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 13,200 บาท/ปี แล้วรัฐบาลจะสมทบเงินให้เพิ่มเติมตามระดับอายุของสมาชิก คือ

          - อายุ 15-30 ปี รัฐบาลสมทบให้ 50% ของยอดเงินสะสม แต่ไม่เกิน 600 บาท/ปี
          - อายุมากกว่า 30-50 ปี รัฐบาลสมทบให้ 80% ของยอดเงินสะสม แต่ไม่เกิน 960 บาท/ปี
          - อายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐบาลสมทบให้ 100% ของยอดเงินสะสม แต่ไม่เกิน 1,200 บาท/ปี

          ทั้งนี้ สมาชิก กอช. ไม่จำเป็นต้องส่งเงินสะสมทุกเดือน และไม่จำเป็นต้องส่งเงินจำนวนเท่ากันทุกเดือน ดังนั้น เดือนไหนอยากออมมาก ออมน้อย หรือไม่ส่งเงินออม ก็สามารถทำได้โดยไม่ถูกตัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ แต่ข้อสำคัญก็คือ ห้ามถอนเงินออกจากกองทุนก่อนอายุ 60 ปี ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับเงินสมทบจากรัฐ

      สมาชิก กอช. ได้รับสิทธิอะไรบ้าง ?

          1. ได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลตามช่วงอายุ
          2. ได้รับผลตอบแทนจากเงินออมสะสม และเงินสมทบซึ่งจะนำไปลงทุน
          3. ลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน สูงสุด 13,200 บาท/ปี
          4. ได้รับเงินบำนาญเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป เดือนละ 6xx-7,xxx บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินสมทบที่ส่งเข้า กอช.


เปรียบเทียบ ประกันสังคม มาตรา 40 กับ กอช.

1. เรื่องเงินทดแทนการขาดรายได้

          จะเห็นว่า กองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ทั้ง 3 ทางเลือก ให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย รวมทั้งกรณีทุพพลภาพ และเสียชีวิต เป็นหลัก และยังเพิ่มกรณีชราภาพ (ในทางเลือกที่ 2) และกรณีสงเคราะห์บุตร (ในทางเลือกที่ 3)

          ต่างจาก กอช. ที่ไม่ได้ให้เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ทว่า กอช. ก็เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตน มาตรา 40 เฉพาะทางเลือกที่ 1 สมัครเป็นสมาชิก กอช. ได้ ดังนั้น หากเป็นสมาชิก กอช. แล้วต้องการสิทธิของประกันสังคมด้วย ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 ได้ โดยจ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน

          ส่วนประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 นั้น จะสมัครร่วมกับ กอช. ไม่ได้ เนื่องจากทางเลือกที่ 2 และ 3 ให้สิทธิประโยชน์เรื่องเงินชราภาพอยู่แล้ว จึงถือว่าอยู่ในระบบสวัสดิการบำเหน็จบำนาญอื่นของรัฐ

2. เรื่องเงินบำเหน็จ-บำนาญ

          ถ้าเป็นสมาชิกประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 เมื่ออายุครบ 60 ปี และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน จะได้รับเงินบำเหน็จเพียงอย่างเดียว โดยคำนวณได้ ดังนี้

          - ประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 รับบำเหน็จ 50 บาท คูณด้วยจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ บวกด้วยเงินออมเพิ่ม พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด โดยเราสามารถส่งเงินออมเพิ่มได้ไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน  

          - ประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 รับบำเหน็จ 150 บาท คูณด้วยจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ บวกด้วยเงินออมเพิ่ม พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด โดยเราสามารถส่งเงินออมเพิ่มได้ไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน และสำหรับคนที่จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้รับเงินก้อนอีก 10,000 บาท

          ขณะที่กองทุนการออมแห่งชาติ จะจ่ายให้เป็นเงินดำรงชีพ หรือเงินบำนาญ ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินออมทั้งหมดที่มีอยู่ คือ

          - กรณีคำนวณเงินรายเดือนแล้วได้ผลลัพธ์ เกิน 150,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญไม่น้อยกว่า 600 บาท/เดือน หรือจ่ายตามจำนวนเงินบำนาญได้จริง สูงสุด 7 พันกว่าบาท/เดือน ตลอดชีพ

          - กรณีคำนวณเงินรายเดือนแล้วได้ผลลัพธ์น้อยกว่า 150,000 บาท จะได้รับเงินดำรงชีพ 600 บาท/เดือน จนกว่าจะครบตามจำนวนเงินออมทั้งหมดที่มีอยู่ (ไม่ได้จ่ายให้จนกว่าจะเสียชีวิต)

          เพื่อให้เห็นภาพชัดและเปรียบเทียบในเงื่อนไขที่เท่ากัน จึงสมมติว่าเราสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ตอนอายุ 25 ปี และจ่ายเงินสะสมทุกเดือน เดือนละเท่ากันที่ 100 บาท ไปจนถึงอายุ 60 ปี เมื่อเกษียณ สมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติจะได้รับเงินบำนาญประมาณ 684 บาท/เดือน ไปตลอดชีวิต (คำนวณจาก nsf.or.th สมมติฐานการคำนวณบำนาญตามผลตอบแทนที่ปรากฏ คิดจากอัตราผลตอบแทน 3.5% ต่อปี ซึ่งเป็นการประมาณการ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยต่าง ๆ)

           ในส่วนของกองทุนประกันสังคม ถ้าเป็นสมาชิกประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท เท่ากัน มาตั้งแต่อายุ 25 ปี เมื่ออายุครบ 60 ปี และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน จะได้รับบำเหน็จ 50 บาท คูณจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ เท่ากับว่าจะได้เงินบำเหน็จประมาณ 21,000 บาท ยังไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนรายปี แต่ต้องไม่ลืมว่า หากลาออกจากประกันสังคม ก็จะเสียสิทธิเรื่องเงินทดแทนการขาดรายได้จากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ รวมถึงกรณีเสียชีวิต

          คิดดูแล้ว หากได้รับเงินบำนาญจาก กอช. เดือนละ 684 บาท เป็นเวลา 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง จะมีมูลค่าพอ ๆ กับเงินบำเหน็จ 21,000 บาท จากประกันสังคม เช่นนั้นแล้ว การรับเงินบำนาญจาก กอช. จะคุ้มค่ากว่ากองทุนประกันสังคม ในกรณีที่เรายังไม่เสียชีวิตภายใน 30 เดือน เพราะจะได้รับเงินบำนาญจาก กอช. ไปตลอดชีวิต

ออมเงิน

           จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วในแง่ของจำนวนเงินบำนาญที่จะได้รับตอนเกษียณ ในส่วนของกองทุนการออมแห่งชาติได้มากกว่าพอสมควรหากเราอายุยืน ดังนั้น ถ้าอยากได้รับสวัสดิการอื่น ๆ ของทางประกันสังคมในขณะที่ก็เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติด้วย ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยอิสระตามมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 เพียงเท่านี้เราก็จะได้ทั้งเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ และอื่น ๆ ซึ่งตรงนี้จะคุ้มกว่าการเลือกเป็นสมาชิกแค่เพียงกองทุนใดกองทุนหนึ่ง
                   
           ถ้าหากใครยังคงลังเลว่าอยากจะได้ทั้งเงินสมทบที่มากกว่าและได้รับความคุ้มครองในกรณีขาดรายได้จากการเจ็บป่วยด้วยแล้วนั้นจะต้องทำอย่างไร กระปุกดอทคอมได้สรุปทางเลือกสำหรับผู้ที่มีความประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกของทั้ง 2 กองทุนมาฝากกันครับ

           - ถ้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 สามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติได้เลย เพราะไม่ขัดกับเงื่อนไขของ กอช. ซึ่งนอกจากสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนประกันสังคมแล้ว (สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนจากการประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต) ก็ยังจะได้รับเงินบำนาญจากกองทุนการออมแห่งชาติอีกด้วย

           - ถ้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 แล้วอยากสมัครกองทุนการออมด้วย ก็ต้องย้ายมาสมัครทางเลือกที่ 1 ตามเงื่อนไขที่ กอช. ระบุไว้ เนื่องจากสมาชิกกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 อยู่ในระบบบำเหน็จซึ่งขัดกับเงื่อนไขที่ กอช. ระบุไว้ ซึ่งหลังจากย้ายไปอยู่ทางเลือกที่ 1 แล้ว สมาชิกก็จะได้รับความคุ้มครองและเงินบำนาญเหมือนกับทางเลือกที่ 1



ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางเลือกของการเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม มาตรา 40

การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูล

           - เมื่อเป็นผู้ประกันตนแล้วหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น เปลี่ยนคำนำหน้านาม ชื่อ-สกุล ที่อยู่ที่ติดต่อ ขอเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบ หรือแจ้งความไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตนต่อไป (ลาออก) เป็นต้น ให้แจ้งต่อสำนักงานประกันสังคม

           - กรณีขอเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบ จะทำได้ปีละ 1 ครั้ง โดยเมื่อยื่นขอเปลี่ยนแปลงทางเลือกแล้วจะมีผลในเดือนถัดไป

           ชีวิตในวัยเกษียณใคร ๆ ก็ต้องการที่จะพักผ่อนและใช้เงินที่หามาทั้งชีวิตในการแสวงหาความสุขให้ตนเอง ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีทางเลือกมากมายให้ผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ ได้มีกินมีใช้ ไม่ต้องลำบากสังขารหาเงินอีกต่อไป หนึ่งในนั้นก็คือการออมเงิน ซึ่งการออมเงินก็ไม่ได้มีเพียงแค่ฝากเงินกับธนาคารเท่านั้น แต่ยังมีทางเลือกเพิ่มเข้ามาอีก นั่นก็คือ กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคม อยากรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนไหนก็สมัครได้เลย


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 23 กันยายน 2563


ขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กองทุนการออมแห่งชาติ VS กองทุนประกันสังคม มาตรา 40 เทียบชัด ๆ กองทุนไหนให้มากกว่า อัปเดตล่าสุด 25 กันยายน 2563 เวลา 13:49:20 84,861 อ่าน
TOP