x close

จับตา ! คนไทยหนี้เพิ่ม รายได้หด หวั่นผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม



จับตา ! คนไทยหนี้เพิ่ม รายได้หด หวั่นผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม

           จับตา ! คนไทยหนี้เพิ่ม รายได้หด พบเป็นผลกระทบจากภัยแล้ง สั่งเฝ้าระวังการผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม หลังมีแนวโน้มลูกจ้างเสี่ยงตกงานเพิ่ม ด้านผู้ประกอบการบางส่วนย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยง

           วันที่ 25 สิงหาคม 2558 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2/2558 ว่า ในไตรมาสที่ 2 พบว่า มีอัตราการว่างงานต่ำ โดยการมีงานทำลดลง 0.2% เป็นการลดลงในส่วนของการจ้างงานภาคเกษตรถึง 5.8% คาดว่า เป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีผลให้กิจกรรมทางเกษตรลดลง

           ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 2.6% ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ 300,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.88% ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในส่วนของรายได้แรงงานโดยรวมยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.5% เป็นผลมาจากการติดลบของเงินเฟ้อ 1.1% เป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แรงงานมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่จะนานแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันโลก

           นอกจากนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจยังเกิดจากแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยว ส่งผลให้รายได้แรงงานในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 0.2% เช่น ภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2.9% ภาคโรงแรม 7.4% และภาคขนส่ง 8%

           นายอาคม กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ต้องติดตาม คือรายได้ของแรงงาน ทั้งเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากปริมาณผลผลิตลดลง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และรายได้แรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากชั่วโมงการทำงานลดลง การเฝ้าระวังการเลิกจ้างงานจากผลกระทบการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มลดลง รวมถึงการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีได้ย้ายฐานผลิตบางส่วนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แต่ก็พบว่า ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ขยายการลงทุนเพิ่มในประเทศไทย โดยเฉพาะส่วนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการครั้งนี้ นอกจากเป็นเรื่องที่ทาง สศช. ต้องคอยจับตามองแล้ว ก็ยังอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

           นายอาคม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องหนี้ครัวเรือนว่า ในไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 10.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% หรือคิดเป็น 79.9% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายปี 2557 ขณะที่ไตรมาส 2 มียอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 7% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

           อย่างไรก็ดี สถานการณ์การชำระหนี้โดยรวมยังไม่น่ากังวล แต่ต้องจับตาในกลุ่มหนี้เกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากราคาพืชผลที่ลดลงจนกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลต้องประเมินตลอดเวลา โดยเฉพาะผลกระทบจากภัยแล้งที่หากปัญหายังคงอยู่รัฐบาลต้องจัดงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติม


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จับตา ! คนไทยหนี้เพิ่ม รายได้หด หวั่นผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม อัปเดตล่าสุด 25 สิงหาคม 2558 เวลา 14:04:39 11,003 อ่าน
TOP