ภาพจาก SAKIS MITROLIDIS / AFP
ธนาคารหลายแห่งในประเทศกรีซ เตรียมหยุดให้ประชาชนถอนเงินในวันจันทร์ (13 กรกฎาคม 2558) เหตุเพราะไม่มีเงินสำรองเหลือเพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่รัฐสภากรีซลงมติเห็นชอบแผนปฏิรูปเศรษฐกิจแล้ว รอวัดใจเจ้าหนี้วันที่ 10 กรกฎาคม 2558 สำนักข่าวอัลจาซีร่าและไฟแนนเชียลไทม์ รายงานสถานการณ์วิกฤตทางการเงินในประเทศกรีซ โดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของธนาคารในประเทศกรีซ ที่ระบุว่า ถ้ากรีซไม่สามารถเจรจาหาข้อสรุปกับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ในช่วงสุดสัปดาห์นี้จะมีสถาบันการเงินจำนวนมากต้องเผชิญกับสภาวะล้มละลาย
ธนาคารหลาย ๆ แห่งในประเทศกรีซ ต้องเผชิญกับภาวะเงินไหลออกในอัตราที่มากกว่า 100 ล้านยูโรต่อวัน แม้จะมีมาตรการจำกัดการถอนเงิน ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลออกมาเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินของประเทศไม่ให้พังไปมากกว่านี้ เจ้าหน้าที่แบงก์คนหนึ่งในประเทศกรีซ บอกว่า ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (13 กรกฎาคม 2558) จะไม่มีเงินให้ประชาชนถอนกันอีกแล้ว ถ้าธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ยอมให้ธนาคารในกรีซกู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่องในระบบ
เช่นเดียวกับประธานสมาคมธนาคารกรีซ บอกว่า จุดจ่ายเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สถาบันการเงิน สถาบันสินเชื่อ หรือแม้กระทั่ง ตู้เอทีเอ็ม จะมีเงินเพียงพอให้ประชาชนถอนถึงแค่วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคมนี้เท่านั้น และคงไม่ต้องบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น
ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกรีซ บอกว่า ธนาคารหลาย ๆ แห่งในประเทศกรีซ ยังคงปิดให้บริการไปจนถึงวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2558 แต่ยังสามารถกดเงินจากตู้เอทีเอ็มได้ เนื่องจากต้องรอให้ทางเจ้าหนี้ (อียู) อนุมัติเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมเสียก่อน ตามที่รัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอฉบับใหม่แก่เจ้าหนี้เพื่อขอรับความช่วยเหลือทางการเงินใหม่อีกครั้งไปแล้ว ทั้งนี้ธนาคารในกรีซได้ปิดทำการตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายนเป็นต้นมา และได้ทำการจำกัดการถอนเงินของประชาชน อยู่ที่ 60 ยูโรต่อวัน เพื่อรักษาสภาพคล่อง หลังจากที่รัฐบาลปฎิเสธแผนการขอรับความช่วยเหลือทางด้านการเงินเจ้าหนี้อย่าง อียู และไอเอ็มเอฟ ไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ความกดดันจากประชาชนในประเทศกรีซเริ่มก่อตัวเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา พนักงานธนาคารหลายคนบอกว่า ธนาคารหลาย ๆ แห่งของกรีซได้ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยธนาคารแห่งหนึ่งสามารถกู้ยืมเงินของธนาคารแห่งหนึ่งได้ซึ่งก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระบบนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการเงิน วิธีการคือธนาคารที่มีสภาพคล่องต่ำจะยื่นคำร้องขอกู้ยืมเงินไปยังธนาคารที่มีสภาพคล่องสูง และธนาคารที่มีสภาพคล่องสูงจะตอบรับคำขอด้วยการให้ธนาคารที่มีสภาพคล่องต่ำกู้ยืมเงิน
วิกฤตการเงินในกรีซทวีความรุนแรงมากอย่างขึ้น เห็นได้จากการที่ธนาคารหลาย ๆ แห่งในประเทศกรีซ เริ่มไม่มีเงินเหลือเพียงพอให้กับประชาชน ซึ่งอาจป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้กรีซต้องกลับไปใช้เงินสกุลเดิมของตัวเองนั่นคือ "ดราร์ชม่า" เนื่องจากตอนนี้ไม่มีทีท่าว่าบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายจะให้ความช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้นกับกรีซ บรรดาธนาคารต่าง ๆ ในประเทศกรีซต่างก็ตั้งความหวังเอาไว้กับการเจรจาหาข้อสรุประหว่างกรีซและยูโรโซน ซึ่งถ้าตกลงกันได้ ธนาคารกลางยุโรป จะเพิ่มเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้กรีซจำนวน 89,000 ล้านยูโร
อย่างไรก็ตามเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางยุโรป ประกาศเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการขอกู้เงินของกรีซ โดยมีข้อแม้ว่าธนาคารของประเทศกรีซจะสามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางยุโรปได้ก็ต่อเมื่อต้องมีหลักประกันเงินกู้ด้วยเท่านั้น อีซีบี จึงจะยอมปล่อยกู้ให้ การเปลี่ยนแปลงกฎหลาย ๆ ข้อ ของ อีซีบี หลัก ๆ จะกระทบกับธนาคารที่ต้องใช้หลักประกันเงินกู้ที่รัฐบาลกรีซเป็นผู้รับประกันให้ เจ้าหน้าที่ธนาคารคนหนึ่งบอกว่า "เราต้องใช้เงินประมาณ 16,000 ล้านยูโร เพื่อใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ แต่ถ้าธนาคารไม่มีหลักประกันเงินกู้ ธนาคารก็อาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปซึ่งร้ายแรงที่สุดก็อาจถึงขั้นที่จะต้องปิดตัวลงก็เป็นไปได้"
ขณะที่ในวันนี้ (11 กรกฎาคม 2558) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐสภากรีซได้ลงมติรับรองแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซิปราส แล้วด้วยคะแนนเห็นชอบ 251 เสียง ต่อไม่เห็นชอบ 32 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง ซึ่งกรีซจะนำแผนปฏิรูปดังกล่าวเข้าหารือกับรัฐมนตรีคลังของยูโรโซนที่ประเทศเบลเยียมในวันนี้ ก่อนจะนำไปหารือกับผู้นำยุโรป และที่ประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป 28 ประเทศในวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคมนี้ หากแผนดังกล่าวได้รับการตอบรับ กรีซจะได้รับความช่วยเหลือในด้านการเงินต่อไป