จับตาวิกฤตฟองสบู่จีน พิษร้ายกว่าหนี้กรีซ ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลกของจริง !



จับตาวิกฤตฟองสบู่จีน พิษร้ายกว่าหนี้กรีซ
ภาพจาก JOHANNES EISELE / AFP

               ชาติมหาอำนาจจากแดนมังกรอย่างจีน กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ มาตรการปล่อยกู้เพื่อให้ประชาชนเอาเงินไปเล่นหุ้น จะเป็นการเดินหมากที่ผิดพลาดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง หรือไม่ และทำไมวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนในครั้งนี้จึงน่ากลัวกว่าการล้มละลายของประเทศที่ใช้เงินยูโรอย่างกรีซ  ไปหาคำตอบได้จากบทความนี้

จับตาวิกฤตฟองสบู่จีน พิษร้ายกว่าหนี้กรีซ
ภาพจาก ARIS MESSINIS / AFP

             ในขณะที่นักลงทุนทั่วโลกต่างพากันจับตามองวิกฤตการณ์ทางการเงินของกรีซ รวมไปถึงความขัดแย้งในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งหลายฝ่ายวิตกว่าถ้าประเทศกรีซจะต้องล้มละลายแล้วจะทำให้เศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ยุคมืดหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าฟากฝั่งเอเชียก็มีเรื่องที่ทำให้ปวดหัวยิ่งกว่า เมื่อทุกสำนักข่าวทั่วโลกต่างตีข่าวการร่วงลงอย่างหนักของหุ้นจีนในตลาดหุ้นทั่วโลก จากการที่นักลงทุนทั่วโลกต่างพากันเทขายหุ้นสัญชาติจีนทิ้งทั้งหมด ปรากฎภาพตัวเลขสีแดงเต็มกระดานนานนับ 3 สัปดาห์ ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

             เมื่อสัปดาห์ที่แล้วชาวโลกยังพากันหวั่นวิตกต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนในประเทศกรีซ โดยที่ไม่ได้สนใจว่ากำลังมีสัญญาณอันตรายบางอย่างปรากฏขึ้นจากทางจีนแผ่นดินใหญ่ การร่วงลงอย่างน่าใจหายของหุ้นจีน นั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าวิกฤตในปะเทศกรีซเสียอีก

            
บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาเตือนว่าสิ่งที่โลกต้องระวังและห้ามละสายตาเลย คือ การสั่นสะเทือนของเศรษฐกิจจีน เพราะ "จีน" ได้ชื่อว่าเป็นชาติมหาอำนาจของโลก จากการที่จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน ส่งให้จีนเป็นประเทศที่มี จีดีพี ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ว่ากันว่าประชากรของประเทศกรีซ มีจำนวนน้อยกว่าประชากรในรัฐโอไฮโอของสหรัฐอมเริกาเสียอีก

            ในขณะที่ จีดีพีของ กรีซ ก็เล็กน้อย ซึ่งจะว่าไป จีดีพี ของกรีซมากกว่า จีดีพี ของประเทศอย่างคาซัคสถาน แอลจีเรีย และกาต้าร์ อยู่นิดเดียว ดังนั้นการที่ตลาดหุ้นจีนต้องเผชิญกับภาวะฟองสบู่ จึงทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลอย่างหนักว่า ฟองสบู่ มีสิทธิจะแตกเมื่อไรก็ได้ และผลจากพิษฟองสบู่แตกก็จะกระทบไปทั่วโลก และจะฉุดให้เศรษฐกิจทั่วโลกดิ่งลงเหวไปตาม ๆ กัน

             การที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นของจีนในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็น ภาวะฟองสบู่ มาจากตลาดหุ้นจีนได้ถูกกระตุ้นตลาดและเก็งกำไรด้วยวิธีการที่ผิด ๆ โดยรัฐบาลจีนได้ปล่อยเงินกู้ให้แก่ประชาชนนำไปลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่รัฐบาลสนับสนุนเพื่อหวังดึงราคาหุ้นที่ตกฮวบให้รีบาวน์กลับขึ้นมาในแดนบวก ทีนี้พอประชาชนแห่ไป "กู้เงิน" เพื่อซื้อหุ้นในตลาดเซี่ยงไฮ้และตลาดเซินเจิ้น ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ปรากฎว่า ภาวะแห่ซื้อหุ้นดังกล่าวได้ทำให้ตลาดหุ้นจีนและราคาหุ้นเพิ่มสูงอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากความตื่นตัวของตลาดที่มาจากแรงซื้อแบบผิดธรรมชาติของนักลงทุนจีน ทำให้ตลาดหุ้นเข้าสู่สภาวะฟองสบู่โดยสมบูรณ์ ซึ่งภาวะแบบนี้นักวิเคราะห์มองว่า เป็นการเติบโตที่มีความเสี่ยงสูงมาก

             ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของตัวเลขในตลาดหุ้นของจีนตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่วนหนึ่งมาจากการที่นักลงทุนไปกู้เงินมาลงทุนในตลาดหุ้น และเมื่อตลาดเปิดในช่วงเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2558) ทุกสิ่งทุกอย่างก็พังทันที เมื่อตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น เกิดปรากฎการณ์หุ้นตกกว่า 30% จากจุดสูงสุด นักลงทุนหลายคนต้องรีบขายหุ้นเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ผลที่ตามมาก็เหมือนกับเป็นการไปซ้ำเติมให้หุ้นในตลาดหุ้นของจีนยิ่งดิ่งลงหนักขึ้นไปอีก โดยที่รัฐบาลจีนพยายามที่จะเข้ามามีส่วนในการ "ห้ามเลือด" ที่กำลังไหลอยู่ในตอนนี้ แต่กลับส่งผลตรงข้ามกับที่พวกเขาคาดคิดเอาไว้อย่างสิ้นเชิง

             สิ่งที่รัฐบาลจีนทำคือการออกมาประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (5 กรกฎาคม 2558) คือ การให้นักลงทุนทั้งหลายสามารถขอเงินกู้เพื่อนำไปซื้อหุ้นได้ โดยมีผลประโยชน์ที่ล่อตาล่อใจนักลงทุนคือ
 
             1. เพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น (ในเงินกู้ลักษณะนี้)
 
            
2. สามารถทำกำไรแม้หุ้นอยู่ในช่วงขาลง
 
            
3. ไม่ต้องทยอยจ่ายค่างวดเพื่อชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
 
            
4. เป็นเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ
 
            
5. นักลงทุนไม่ต้องมากังวลว่าเมื่อถึงวันครบกำหนดชำระแล้วจะไม่มีเงินจ่ายหนี้ เพราะบริษัทจะชำระราคาค่าซื้อหุ้นส่วนที่เกินกว่าเงินที่นักลงทุนมีโดยการให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ลงทุนโดยอัตโนมัติ
 

             ทั้งหมดนี้พูดง่าย ๆ ก็คือรัฐบาลจีนพยายามดึงดูดให้นักลงทุนกู้ยืมเงินเพื่อนำไปซื้อหุ้นนั่นเอง วิธีนี้เป็นวิธีการที่มีความเสี่ยงสูงมาก ในกรณีที่หุ้นตกผู้กู้ก็ต้องรีบหาเงินไปใช้หนี้รัฐทันทีซึ่งยอดหนี้อาจจะหนักกว่าตอนที่ไปกู้มาใหม่ ๆ ก็เป็นไปได้

             นายไมเคิล เพ็นโต้ ประธานและผู้ก่อตั้ง พอร์ตกลยุทธ์เพนโต้ กล่าวในเช้าวันจันทร์ (6 กรกฎาคม 2558) ว่า "ความคึกคักในตลาดหุ้นของจีนไม่ได้มาจากความต้องการซื้อที่แท้จริง กลับกัน ! ภาพที่พวกเราเห็นคือตลาดหุ้นของจีนกำลังถูกทำให้คึกคักต่างหาก (ผิดปกติ) ทั้งหมดมาจากการที่รัฐบาลจีนยังคงให้นักลงทุนกู้เงินอย่างต่อเนื่อง พวกเขา(รัฐบาลจีน) ก็ปั่นหุ้นเองซะอย่างงั้น"

             นาย ไล่ หม่า ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเงินของมหาวิทยาลัยวอร์วิค บิสสิเนสในสหราชอาณาจักร เกิดความกังวลว่า รัฐบาลจีนอาจจะกำลังเข้าแทรกแซงตลาดโดยการซื้อหุ้นของบริษัทใหญ่เพื่อให้มูลค่าหุ้นบริษัทเหล่านี้อยู่ในระดับสูง แต่ปล่อยทิ้งไม่สนใจบริษัทที่มีขนาดเล็ก โดยที่ผ่านมาภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดการหลั่งไหลเข้ามาของเงินทุนสนับสนุนบริษัทของรัฐที่มีขนาดใหญ่
 
             นอกจากนี้ นายหม่า ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งที่อยู่ของบริษัทใหญ่ ๆ ของจีน จะเติบโตขึ้นมากกว่า 2% แต่ในตลาดรองอย่างตลาดหุ้นเซินเจิ้น ที่เปรียบเสมือนแหล่งรวมของบริษัทเล็ก ๆ จะเกิดความเสี่ยงอย่างมากในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และมีแนวโน้มที่หุ้นในตลาดเซินเจิ้นจะถูกเทขาย และนั่นอาจทำให้หุ้นตกราว ๆ 3%

             สิ่งเหล่านี้คือการบิดเบือนกลไกการตลาด จากการที่ทุกวันนี้ในตลาดหุ้น รัฐบาลสร้างสภาพคล่องให้กับกองทุนที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของอย่างมีนัยยะแอบแฝง "นี่เป็นเกมที่รัฐลงมาเล่นด้วย" ในอนาคตอันใกล้นี้ รัฐอาจอ้างอะไรก็ได้ถ้าหากว่าราคาหุ้นร่วงแบบฉุดไม่อยู่อีกครั้ง

             และเมื่อถามว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงมีผลกับนักลงทุนต่างชาติ ? นั่นก็เพราะการตกแบบฮวบฮาบของตลาดหุ้นจีนมักจะส่งสัญญาณถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นเสมอ ดังเช่นเหตุการณ์เมื่อปี 2000 และ 2008
 
             ตั้งแต่ที่จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 2 ของยุโรปและอเมริกา ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าว่า สภาพเศรษฐกิจของจีนนั้นจะดีแค่ไหน แน่นอนว่ามันย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก หากเศรษฐกิจจีนทรุด ก็ย่อมกระทบชาติคู่ค้าหลักนี้ไปด้วย โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่ต่างก็มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ แต่ตอนนี้ ใคร ๆ ต่างก็พูดถึงแต่เรื่องวิกฤตทางการเงินในกรีซและต่างพากันหวาดกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ในกรณีที่กรีซถูกขับออกจากประเทศกลุ่มที่ใช้สกุลเงินยูโรและต้องกลับไปใช้สกุลเงินดราร์ชมา
 

             แต่จากรายงานของนักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารแห่งชาติสกอตแลนด์ ระบุว่า ธนาคารของสหรัฐอเมริกาเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของจีนมากกว่ากรีซถึง 10 เท่า โดยในปัจจุบันจีนเป็นประเทศผู้บริโภคสินค้าอุปโภครายใหญ่ของโลก ซึ่ง แคทรีน บรูคส์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ ฟอร์เร็กส์ ดอทคอม บอกว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นกับจีนอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก ในกรณีที่จีนไม่สามารถที่จะรักษาบาดแผลที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นของตนเองได้"

             ภาคธนาคารสหรัฐฯ ระบุ ในปี 2014 เศรษฐกิจของจีนมีส่วนเกี่ยวกับกับสหรัฐฯ เกิน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนกรีซนั้นมีส่วนกับชาติมหาอำนาจอย่างอเมริกาคิดเป็นมูลค่าเพียง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ


 จับตาวิกฤตฟองสบู่จีน พิษร้ายกว่าหนี้กรีซ


             ขณะที่เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดลกลดลง หลายฝ่ายต่างด่วนสรุปว่าต้องเป็นเพราะวิกฤตการเงินในกรีซและค่าเงินยูโรที่ลดลงแน่นอน แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เลย นาย ชัค บัตเลอร์ กรรมการผู้จัดการธนาคาร เอเวอร์แบงก์ โกลเบิลมาร์เก็ต กล่าวอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ถึงเหตุการณ์นี้ว่า "ผมอยากให้คนที่ด่วนสรุปโดยที่ไม่ดูข้อมูลอะไรเลยช่วยไปอ่านบทความที่เขียนเกี่ยวกับการที่ราคาน้ำปรับตัวลดลงในวันนี้ด้วย ในบทความกำลังจะพูดถึงว่า ความต้องการในการใช้น้ำมันลดลงเป็นเพราะกรีซ ใช่ไหม ? ผมคิดว่านี่มันเรื่องปาหี่อะไรกัน ถ้ามาถามผมว่าคนที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงคือจีนใช่ไหม? ผมจะตอบว่า "ใช่" แต่ถ้าถามผมว่าเป็นเพราะกรีซใช่หรือเปล่า? ผมจะตอบว่า "ไม่" แน่นอนว่า คุณไม่สามารถมองข้ามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกรีซได้หรอก แต่คุณต้องไม่ไปสนใจกับพาดหัวข่าวจากแท็บลอยด์ในยุโรปมากจนเกินไป  เพราะในความเป็นจริงเศรษฐกิจของจีนมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจของโลกมากกว่ากรีซอยู่แล้ว"

             ตั้งแต่ตลาดหุ้นของจีนตกฮวบลงถึง 30% จากจุดสูงสุดที่เคยทำได้ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลจีน และสถาบันการเงินในประเทศจีน ต่างกุลีกุจอออกมากตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว แต่ความพยายามของรัฐบาลและสถาบันการเงินกลับไม่เป็นผล โดยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของจีนตกลงกว่า 4% และกว่าครึ่งของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นถูกระงับการขายหุ้น

จับตาวิกฤตฟองสบู่จีน พิษร้ายกว่าหนี้กรีซ
ภาพจาก JOHANNES EISELE / AFP

             และนี่คือไทม์ไลน์ของมาตรการ "ปั๊มหัวใจ" ตลาดหุ้นจีนที่รัฐบาลจีนได้ประกาศเป็นการทั่วไปต่อสาธารณชน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

             - วันที่ 27 มิถุนายน 2558 ธนาคารกลางของจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 เบซิส พ้อย รวมถึงบอกให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสำรองเงินทุนต่าง ๆ ไว้ในกรณีที่ผู้ลงทุนต้องการกู้ยืมเงินก็จะสามารถกู้เงินได้โดยตรงจากบริษัททันที

             - วันที่ 29 มิถุนายน 2558 รัฐบาลประกาศว่า ผู้ลงทุนสามารถลงในกองทุนรวมบำเหน็จบำนาญได้ในอัตราที่สูงขึ้นเป็น 30% ของทรัพย์สินสุทธิ (ประมาณ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งต้องเป็นการลงทุนครั้งแรกในหุ้นทุน (ตราสารทุน) เท่านั้น

             - 1 กรกฎาคม 2558 เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของจีนผ่อนปรนกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ให้ผู้ลงทุนสามารถกู้เงินไปซื้อหุ้นได้

             - 3 กรกฎาคม 2558 ธนาคารกลางของจีนขยายวงเงินใน RMB (การทำธุรกรรมระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวน) อีกกว่า 250 พันล้านหยวน หรือประมาณ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงให้สินเชื่อเงินกู้ 6 เดือน กับธนาคารที่รัฐบาลเป็นเจ้าของเพื่อสนับสนุนให้ธนาคารเพิ่มความขีดความสามารถทางด้านการเงินเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจของประเทศจีน

             - 4 กรกฎาคม 2558 บริษัทโบรกเกอร์กว่า 21 บริษัท (นำโดย Citic Securities) บอกว่า พวกเขาจะใช้เงินกว่า 19.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อหุ้นชั้นดีที่มีมูลค่าสูง ๆ (หุ้น Blue-Chip) เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด และให้คำมั่นว่าจะไม่ขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมดในมืออย่างแน่นอน

             - 5 กรกฎาคม 2558 ธนาคารของจีนประกาศว่า จะอัดฉีดเงินเป็นจำนวนที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ให้กับบริษัทด้านความมั่นคงทางการเงินของจีน ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของอยู่ โดยบริษัทนี้จะทำการปล่อยสินเชื่อเงินกู้เพื่อการซื้อหุ้นให้แก่บรรดาโบรกเกอร์

             - 6 กรกฎาคม 2558  ผู้จัดการกองทุนรวมในจีน ให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยเหลือตลาดหุ้นของจีนด้วยสินทรัพย์ของพวกเขาเอง !

             - 8 กรกฎาคม 2558 รัฐบาลจีนสั่งแบนบริษัท (หุ้น) ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกินกว่า 5% จากการขายหุ้นเป็นเวลา 6 เดือน (กรกฎาคม - ธันวาคม) วันเดียวกันนี้ธนาคารกลางของจีนประกาศให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่นักลงทุนโดยการให้บริษัทด้านความมั่นคงทางการเงินของจีนปล่อยสินเชื่อเงินกู้ที่ให้นักลงทุนกู้ไปลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่ม ผ่านทางการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร หรือที่เรียกว่า interbank lending, การรับประกันพันธบัตร และให้หลักทรัพย์ประกันตราสารสินเชื่อ รวมไปถึงการรีไฟแนนซ์อีกด้วย เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของจีนยังประกาศอีกว่า จะเพิ่มการซื้อหุ้นในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก หรือ small cap stock
 
              - 9 กรกฎาคม 2558 คณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคาร (China Banking Regulatory Commission : CBRC) ประกาศว่า ขณะนี้การกู้เงินเพื่อไปลงทุนในตลาดหุ้นต้องใช้หลักประกันเงินกู้ด้วย และจะปล่อยสินเชื่อเงินกู้เพื่อการลงทุนในตลาดหุ้นให้กับลูกค้าในกลุ่มผู้มั่งคั่งเท่านั้น

             รัฐบาลจีนผลักดันมาตรการช่วยเหลือตลาดหุ้นอย่างเต็มอัตราศึก เพื่อแสดงให้เห็นว่าสภาพคล่องของตลาดหุ้นจีนนั้นสำคัญต่อชื่อเสียงทางการเมืองของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) มากแค่ไหน แต่นักลงทุนต่างชาติในจีนก็บอกว่า จีนอาจจะกำลังพยายามที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนเยอะ ๆ เพื่อทำให้ตลาดกลับเข้าสู่แดนบวก ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ได้มาจากความต้องการซื้อพื้นฐานของนักลงทุนเลย พวกเขาเป็นเหมือนแมงเม่าบินเข้ากองไฟ โดยรัฐบาลจีนพยายามที่จะใช้วิธีการต่าง ๆ นา ๆ เพื่อล่อให้นักลงทุนรายย่อยไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาลงทุน ในขณะเดียวกันก็มองว่าการที่จีนใช้วิธีแทรกแซงตลาดนั้นถือเป็นเรื่องที่ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ เพียงเพื่อจะพยุงตลาดหุ้นไม่ให้ตกต่ำไปมากกว่านี้

             มาตรการสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจีนเริ่มเพลย์เซฟ เนื่องจากเงินที่รัฐบาลให้ประชาชนกู้เพื่อนำไปลงทุนนั้น รัฐบาลจีนเริ่มกลัวว่าพวกเขาจะไม่ได้รับการชำระหนี้คืน เนื่องจาก พวกเขารู้ดีว่าประชาชนทั่วไปที่กู้เงินไปเล่นหุ้นก็ไม่ได้มีทรัพย์สินอะไรมากมาย หรือนี่อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่จะนำพาชาติมหาอำนาจอย่างจีนเข้าสู่ภาวะ "ฟองสบู่แตก" ซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งหมดก็มาจากการใช้ "ยาแรง" ของรัฐบาลจีนเอง






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จับตาวิกฤตฟองสบู่จีน พิษร้ายกว่าหนี้กรีซ ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลกของจริง ! อัปเดตล่าสุด 11 กรกฎาคม 2558 เวลา 09:42:09 10,046 อ่าน
TOP
x close