
หลังจากที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน (คนที่ 22) กำลังจะหมดวาระลงในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2558 นี้ ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องเร่งหาผู้สืบทอดตำแหน่งคนใหม่ให้ทันก่อนถึงกำหนด ในที่สุดที่ประชุม ครม. ก็ไฟเขียวให้ นายวิรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์ ดีกรีปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา อดีตที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ และหนึ่งในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นั่งแท่นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ โดยมีกำหนดเข้ารับตำแหน่งในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2558 วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปรู้จักผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ว่าเป็นใครมาจากไหน
ดร.วิรไท สันติประภพ ปัจจุบันอายุ 45 ปี เป็นบุตรชายของพลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ มีพี่น้องอีก 2 คนคือ ดร.ประทิต สันติประภพ และแพทย์หญิง จีรันดา สันติประภพ ดร.วิรไท เติบโตในครอบครัวที่ให้อิสระในการเลือกทางเดินของชีวิต นี่ทำให้พี่น้องและตัวของ ดร.วิรไท เองสามารถที่จะใช้ศักยภาพในตัวเองได้อย่างเต็มที่ ผลลัพธ์ที่ออกมาสะท้อนถึงแง่มุมในการเลี้ยงดูลูกแต่ละคนของ พลตำรวจเอก ประทิน ได้เป็นอย่างดี


ดร.วิรไท สันติประภพ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยวัยเพียง 18 ปี พร้อมได้รับรางวลทุนภูมิพลจากมหาวิทยาธรรมศาสตร์ หลังจากนั้น ดร.วิรไท ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2532 - 2537 และสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้วยวัยเพียง 24 ปี

หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก ด้วยวัยเพียง 24 ปี ดร.วิรไท ได้รับเทียบเชิญให้เข้าทำงานกับธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF แต่เป็นฝ่ายหลังที่ได้ตัว ดร.วิรไท ไป โดย ดร.วิรไท เข้าทำงานกับ IMF ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา รับผิดชอบหน้าที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจแก่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายด้านระบบการเงินให้แก่ประเทศเกิดใหม่หรือประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ
จนกระทั่งเมื่อไทยเผชิญกับวิฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง กระทรวงการคลังต้องการก่อตั้งสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ (Think Tank) จึงเป็นโอกาสที่ ดร.วิรไท ได้กลับบ้านเพื่อนำความรู้ความสามารถทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกกลับมาใช้แก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของชาติ
หลังครบกำหนด 2 ปี ที่กระทรวงการคลังยืมตัว ดร.วิรไท จาก IMF เพื่อกลับมาทำงานให้กับกระทรวง ดร.วิรไทตัดสินใจลาออกจาก IMF เนื่องจากเพื่อนส่วนใหญ่และครอบครัวอยู่ที่เมืองไทย ดร.วิรไท จึงต้องการกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยเป็นหลัก หลังจากกลับมาอยู่ที่เมืองไทย ดร.วิรไท เข้าทำงานกับธนาคารไทยพาณิชย์และได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ด้วยวัยเพียง 36 ปี หลังจากนั้นในปี 2552 ดร.วิรไท เข้าดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการ สายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควบด้วยตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนพัฒนาตลาดทุน ดูแลสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน อีกตำแหน่ง
ดร.วิรไท เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ นอกจากนี้ยังได้ทำงานให้กับองค์กรการกุศล อาทิ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ที่มีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ รวมถึงปัจจุบันเป็นหนึ่งในกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด และยังนั่งเก้าอี้กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบันอีกด้วย
และล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ กำลังจะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 23 ต่อจากนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่จะหมดวาระลงในสิ้นเดือนกันยายน 2558 นี้ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่ใหญ่และทรงเกียรติ รวมถึงเป็นตำแหน่งที่มีความกดดันสูง เนื่องด้วยเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันที่ถือว่าอยู่ในช่วงข้าวยากหมากแพง หลาย ๆ เรื่องอยู่ในขั้นวิกฤตรอการแก้ไข อีกทั้งปัจจัยเศรษฐกิจโลกไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเงิน ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน ราคาพืชผลทางการเกษตร วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ท้าทาย ดร.วิรไท ทั้งสิ้น เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่านักเศรษฐศาสตร์ดีกรีฮาร์วาร์ดที่เคยผ่านงานใหญ่ ๆ มานับไม่ถ้วน บวกกับอยู่ในวัยที่กำลังพอเหมาะพอดีคนนี้จะสามารถพาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้หรือไม่
ทั้งนี้ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้สรรหาและเสนอชื่อไปยังคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองจึงจะทูลเกล้าฯไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
ภาพจาก รายการครอบครัวข่าว3
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรุงเทพธุรกิจ, hiclasssociety