ผ่าวิกฤตหนี้กรีซ ฤา...ปัญหานี้ จะไม่มีทางออก ?

ผ่าวิกฤตหนี้กรีซ
ภาพจาก LOUISA GOULIAMAKI / AFP

         วิกฤตหนี้กรีซมีที่มาที่ไปอย่างไร อะไรทำให้พวกเขาเป็นหนี้ได้มากมายถึงขั้นเสี่ยงที่จะพ้นสถานะความเป็นสมาชิกภาพของยูโรโซน และจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

         กรีซเพิ่งผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 1.7 พันล้านยูโร (ุประมาณ 62,900 ล้านบาท) ต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ไปหมาด ๆ ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ต่อ IMF ของกรีซในครั้งนี้ ทำให้กรีซเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศแรกที่ผิดนัดชำระหนี้ต่อ IMF ในประวัติศาสตร์กว่า 70 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร และที่มาที่ไปของหนี้มหาศาลของกรีซมาจากไหน และผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดจากการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซในครั้งนี้คืออะไร ติดตามได้จากบทความนี้เลยครับ

เกิดอะไรขึ้นกับกรีซในขณะนี้

         เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ตามเวลาท้องถิ่น ไอเอ็มเอฟ ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ว่า กรีซไม่ได้จ่ายหนี้จำนวน 1.7 พันล้านยูโร ตามที่ได้ตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ว่าจะชำระในวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ซึ่งหลายชั่วโมงก่อนที่จะถึงเส้นตายการชำระหนี้ นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ได้ขอความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากกลุ่มประเทศอื่น ๆ ที่ใช้เงินสกุลยูโร เพื่อเป็นการซื้อเวลา เพราะรู้ว่าหนี้ที่มีนั้น กรีซไม่มีศักยภาพชำระได้แน่นอน

          ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี แองเจลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ได้กล่าวไว้ก่อนที่จะถึงวันที่ 1 กรกฎาคมว่า จะไม่มีการเจรจาต่อรองใด ๆ กับรัฐบาลนายซีปราสทั้งสิ้น จนกว่าการลงประชามติว่าจะปฏิบัติตามนโยบายรัดเข็มขัดที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2558 จะเสร็จสิ้นเรียบร้อย

ผ่าวิกฤตหนี้กรีซ
ภาพจาก ARIS MESSINIS / AFP

ทำไมกรีซถึงเป็นหนี้

         ประเทศกรีซได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสวัสดิการสังคมดี อายุเกษียณก็ต่ำที่สุดในกลุ่มยูโรโซน เมื่อคนเกษียณอายุออกมาเรื่อย ๆ ก็ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้กรีซเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดในยูโรโซน ที่ 25.6% ส่งผลให้รัฐต้องแบกรับรายจ่ายมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลกรีซต้องจ่ายเงินเดือนและเงินบำนาญให้กับประชาชนถึงเดือนละ 1,400-1,700 ล้านยูโร (ประมาณ 51,800 - 62,900 ล้านบาท) และเมื่อรายได้น้อย แต่รายจ่ายเยอะ กรีซก็ต้องเผชิญกับการขาดดุลการคลัง และกล่าวกันว่าการคอร์รัปชั่นกับการหนีภาษีเป็นเรื่องธรรมดาของที่นั่น

         กรีซเป็นประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมอยู่ 2 อุตสาหกรรมหลัก คือ การขนส่งทางทะเล และการท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2009 เป็นช่วงจังหวะที่โลกเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นชาติที่มีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่งเจอกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศทั่วโลกหดตัวกว่า 20 % ทั้งหมดทำให้กรีซประสบปัญหา

ผ่าวิกฤตหนี้กรีซ
ภาพจาก ARIS MESSINIS / AFP
 
         และปลายปี 2009 หลังจากที่กรีซได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ กรีซประกาศตัวเลขขาดดุลการคลังที่แท้จริง ทำให้พบว่ากรีซขาดดุลการคลังสูงถึง 12.7% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าที่กลุ่มสหภาพยุโรปกำหนดไว้ถึง 4 เท่าตัว และจากการขาดดุลภาครัฐส่งผลให้หนี้ภาครัฐของกรีซเพิ่มสูงขึ้นถึง 112.6% ของจีดีพี ซึ่งจากการที่กรีซขาดดุลการคลังมาหลายปี ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินจากเจ้าหนี้ 3 ฝ่าย หรือทรอยกา อันประกอบไปด้วย สหภาพยุโรป (EU) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB)  เป็นจำนวนเงินนับแสนล้านยูโรเพื่อมาใช้หนี้

กรีซมีหนี้สินทั้งหมดเท่าไร
 
         ล่าสุด (ปี 2015) ประเทศกรีซ มีหนี้สินรวมทั้งสิ้นประประมาณ 360,000 ล้านยูโร (ประมาณ 13.3 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 180% ของจีดีพี

ผ่าวิกฤตหนี้กรีซ
ภาพจาก ARIS MESSINIS / AFP

เหตุใดกรีซจึงไม่ล้มละลาย

         เนื่องจากกลุ่มสหภาพยุโรปได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกรีซมาตลอด เพื่อไม่ให้กรีซต้องพ้นจากความเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและเห็นแก่ความเป็นประเทศสมาชิกยุโรปที่ต้องช่วยเหลือกัน อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อไม่ให้กรีซต้องเป็นประเทศล้มละลาย

จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ เมื่อกรีซตัดสินใจผิดนัดชำระหนี้
 
         การลงประชามติในวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2558 นี้ จะเป็นตัวชี้วัดว่าพลเมืองของกรีซต้องการที่จะอยู่ในยูโรโซนต่อไปหรือไม่  การเลือกตั้งครั้งใหม่จะทำให้กรีซต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุดต่อไป หรือว่ากรีซจะต้องขอความช่วยเหลือจากรัสเซียและจีนในกรณีที่การเจรจาระหว่างกรีซและสหภาพยุโรปล้มเหลว
 
         เงื่อนไขที่ทางกลุ่มผู้นำยุโรป ระบุให้กรีซต้องปฏิบัติตามถ้าอยากได้ความช่วยเหลือ ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ชาวกรีซส่วนใหญ่รับไม่ได้ เพราะชาวกรีซเคยได้รับสวัสดิการที่ดีมากมาก่อน โดยในประชามติดังกล่าวเป็นการปรับลดกำลังคนและสวัสดิการต่าง ๆ ที่ประชาชนจะได้รับ ยกตัวอย่างเช่น ให้โละพนักงานรัฐวิสาหกิจลง 1.5 หมื่นคนเพื่อลดรายจ่าย ผ่อนคลายกติกาของกฎหมายแรงงานเสียใหม่ โดยให้มีการจ้างงานที่มีเงื่อนไขให้นายจ้างปลดคนงานได้ง่ายขึ้น, ลดค่าจ้างขั้นต่ำในกฎหมายลง 20% จาก 711 ยูโรต่อเดือน เหลือ 600 ยูโรต่อเดือน, เจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ที่ถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซในการลดหนี้ รวมไปถึงปรับปรุงเงื่อนไขของระบบบำนาญเจ้าหน้าที่รัฐให้ต่ำลง และเก็บภาษีต่าง ๆ ในอัตราที่สูงขึ้น
 
         เหล่านี้เองที่ทำให้ชาวกรีซไม่พอใจและมีสิทธิ์ที่ในวันอาทิตย์นี้ประชาชนส่วนใหญ่ของกรีซจะทำการโหวต NO เพื่อไม่รับนโยบายรัดเข็มขัดดังกล่าว แต่หากเลือกไม่รับนโยบายก็เสี่ยงที่จะต้องออกจากยูโรโซน ซึ่งถ้าหากเลวร้ายที่สุดในกรณีที่กรีซจะต้องออกจากยูโรโซน ก็มีความเป็นไปได้ว่า คุณภาพชีวิตของชาวกรีซจะตกต่ำลงถึงร้อยละ 80 ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ กิจการต่าง ๆ จะล้มละลาย และธนาคารจะต้องอายัดบัญชีเงินฝากของประชาชนเพื่อไม่ให้แบงก์ล้ม ขณะที่สินค้านำเข้าจากยุโรปจะแพงขึ้น 2 - 4 เท่าตัว เนื่องจากสกุลเงินของกรีซจะอ่อนค่ามาก แม้แต่ในธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของกรีซเอง ก็จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองเช่นเดียวกัน

ผ่าวิกฤตหนี้กรีซ
ภาพจาก LOUISA GOULIAMAKI / AFP

การผิดนัดชำระหนี้ของกรีซมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกหรือไม่

         จากการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์หลายคนฟันธงว่า มี แต่อาจจะไม่มาก ถ้าในแง่ของผลกระทบต่อตัวประเทศกรีซเองก็จะต้องเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจต่อไปหากยังไม่มีการดำเนินนโยบายวินัยทางการคลัง รวมถึงต้องแบกรับภาระหนี้สินต่อไป แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ สุ่มเสี่ยงที่จะถูกขับออกจากยูโรโซน ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้นำยุโรปไม่อยากเห็น เพราะจะเป็นการเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดเงิน ดังที่จะเห็นได้จากชาวกรีซแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคารวันเดียวเป็นเงินกว่า 3.4 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีนัยแอบแฝงว่า ประชาชนกลัวว่ารัฐบาลจะเอาเงินของพวกเขาไปใช้หนี้

         สำหรับผลกระทบที่จะมีต่อสถานการณ์การเงินของโลกนั้น เว็บไซต์นิวยอร์ก ไทม์ ระบุว่า ตั้งแต่ที่เกิดวิกฤติการณ์หนี้กรีซในปี 2010 ธนาคารสากลและผู้ลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ได้ขายหุ้นและพันธบัตรของกรีซไปแล้ว เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการที่จะแบกรับความเสี่ยงเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกรีซในอนาคต ขณะเดียวกันภาระหนี้ที่กรีซมีก็อาจจะไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากเท่าใดนัก เพราะเชื่อว่าอย่างไรก็ตามกลุ่มสหภาพยุโรปก็จะยังคงหนุนหลังกรีซต่อไป

         ด้านผลกระทบต่อไทยอาจมีไม่มาก โดยทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมายืนยันแล้วว่า ปัญหาดังกล่าว น่าจะส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นนักลงทุนในระยะสั้นเท่านั้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจของของกรีซนั้นส่วนใหญ่จะมาจากภาครัฐมากกว่าเอกชน ประกอบกับเศรษฐกิจของกรีซมีขนาดเล็กเพียง 2% เท่านั้นซึ่งมีผลต่อจีดีพีของสหภาพยุโรปน้อยมาก

         จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าในวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคมที่จะถึงนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศกรีซบ้าง ซึ่งว่ากันว่าเป็นเส้นตายที่แท้จริงที่กลุ่มผู้นำยุโรปยื่นให้กับกรีซ โดยก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส ของกรีซ ประกาศทำประชามติ เพื่อพิจารณาว่า กรีซควรรับข้อเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อกู้วิกฤตหนี้หรือไม่ ซึ่งกลุ่มเจ้าหนี้ทั้งสหภาพยุโรปและธนาคารกลางยุโรป ระบุว่า จะยืดเวลาช่วยเหลือไปอีก 5 เดือน และถ้าหากกรีซทำตามเเผนปฎิรูปการเงิน กลุ่มเจ้าหนี้ก็พร้อมที่จะอนุมัติเงินกู้ช่วยเหลือราว 18,000 ล้านยูโร (68,000 ล้านบาท) ให้ในทันที รวมถึงจะพิจารณาอนุมัติเงินกู้งวดสุดท้ายเพิ่มอีก 270,000 ล้านบาท จากงบประมาณช่วยเหลือทั้งสิ้น 9 ล้านล้านบาท ตรงกันข้ามหากกรีซไม่ปฏิบัติตามก็อาจส่งผลให้ต้องออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซนก็เป็นได้ และนั่นอาจจะทำให้ประเทศกรีซไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้นอันจะนำไปสู่การเป็นประเทศล้มละลายในที่สุด



เกาะติดข่าวกรีซ ล้มละลาย ล่าสุด ทั้งหมด 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผ่าวิกฤตหนี้กรีซ ฤา...ปัญหานี้ จะไม่มีทางออก ? อัปเดตล่าสุด 6 กรกฎาคม 2558 เวลา 11:28:39 3,864 อ่าน
TOP
x close