x close

กางรายละเอียด แก้กฎหมายค้ำประกัน ใครได้ ใครเสีย



กางรายละเอียด แก้กฎหมายค้ำประกัน ใครได้-ใครเสีย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           รัฐบาลเตรียมแก้ไขกฎหมายค้ำประกัน หวังปลดล็อกคนค้ำประกัน  เชื่อการแก้ไขกฎหมายใหม่ไม่กระทบต่อภาคธุรกิจโดยรวม

           วันที่ 3 ธันวาคม 2557 นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่20) พ.ศ. 2557 ว่าด้วยการลดภาระของผู้ค้ำประกัน ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป ว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวจะออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ค้ำประกันไม่มีอำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพให้กู้ยืม ทำให้ทุกครั้งที่เกิดปัญหาผู้ค้ำประกันจำต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกับตัวลูกหนี้ และยังพบว่าผู้ค้ำประกันบางรายต้องถูกฟ้องร้องถึงขั้นล้มละลายอีกด้วย

           นางนฤมล กล่าวต่อว่า เชื่อว่าการแก้ไขกฎหมายใหม่ครั้งนี้จะช่วยสร้างวินัยให้กับตัวลูกหนี้ด้วย ขณะที่สถาบันการเงินที่เป็นผู้ปล่อยกู้หรือปล่อยสินเชื่อก็ต้องมีความรอบคอบในการประเมินความเสี่ยงมากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่มีธนาคารบางแห่งออกมาระบุว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ทำให้การขอกู้หรือปล่อยสินเชื่อยากขึ้นจึงไม่เป็นความจริง

           ด้านนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการกรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า การจะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้ จำเป็นต้องพิจารณาว่าผลกระทบเกิดขึ้นกับฝ่ายใดบ้าง ถ้ากระทบสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียวนั้น ต้องลองกับไปย้อนดูก่อนว่า ที่ผ่านมาสถาบันการเงินก็มีการทำบัตรเครดิต โดยที่ไม่มีผู้ค้ำประกัน เหตุใดจึงสามารถทำได้ ส่วนข้อเสนอที่จะขอเปลี่ยนสถานะผู้ค้ำประกันให้เป็นผู้กู้ร่วมนั้น คงต้องดูกันว่าในทางปฏิบัติผู้ค้ำประกันจะเต็มใจเปลี่ยนสถานะเป็นผู้กู้ร่วมหรือไม่

           และในส่วนที่ภาคธนาคารออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ตนมองว่าสิ่งที่ออกมาเรียกร้องนั้นเป็นปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้น อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายใหม่ ก็มีสาระสำคัญ เพื่อเป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ค้ำประกันเท่านั้น จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อสถาบันการเงิน

           ขณะที่นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ คือ ประเด็นในเรื่องของการค้ำประกัน และผลกระทบในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งในเรื่องนี้หากมีการแก้ไขกฎหมายใหม่จริง ก็ไม่น่าจะกระทบต่อภาคธุรกิจโดยรวม เพียงแต่ธนาคารและสถาบันการเงินต้องปรับตัว เพื่อรองรับกับกฎหมายใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ให้ได้เท่านั้น

           อย่างไรก็ตาม นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า กฎหมายฉบับนี้อาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ค้ำประกันให้กับรัฐวิสาหกิจ การค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อมที่ค้ำประกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ได้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ หรือแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ในฐานะค้ำประกันให้กับเอกชนก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน และได้รายงานให้รองนายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว โดยหลังจากนี้จะมีแนวทางแก้ปัญหาคือให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง

           สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยการลดภาระผู้ค้ำประกันนั้น อาทิ

           การให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบเฉพาะหนี้ที่ระบุไว้

           เจ้าหนี้ไม่ส่งหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันพ้นผิด

           ผู้ค้ำประกันสามารถรับผิดชอบเฉพาะส่วนได้ เป็นต้น

           และในส่วนของสาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยการลดภาระผู้ค้ำประกันที่ธนาคารพาณิชย์ต้องการให้แก้ไขเพิ่มเติม อาทิ

           ผู้ค้ำประกันเป็นผู้กู้ร่วม

           การใช้สิทธิ์เกี่ยงในการรับผิดชอบหนี้ คือ ต้องติดตามทวงหนี้จากลูกหนี้ ให้หมดก่อนจึงจะสามารถติดตามจากผู้ค้ำประกันได้ เป็นต้น


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

 





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กางรายละเอียด แก้กฎหมายค้ำประกัน ใครได้ ใครเสีย อัปเดตล่าสุด 3 ธันวาคม 2557 เวลา 17:46:23 1,683 อ่าน
TOP