ทริคลดหย่อนภาษีแบบได้บุญ ด้วยการบริจาคเงิน

ทริคลดหย่อนภาษีแบบได้บุญ ด้วยการบริจาคเงิน
ทริคลดหย่อนภาษีแบบได้บุญ ด้วยการบริจาคเงิน

ลดภาษีด้วยเงินบริจาค (ธนาคารกสิกรไทย)

          เงินทำบุญ บริจาค สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ


          กล่าวได้ว่าคนไทยเป็นคนใจบุญ ไม่ว่ารายได้จะมากหรือน้อย หรือมีฐานะเป็นอย่างไร หากพอมีเงินเหลือจากใช้จ่ายก็มักบริจาคเงินให้วัด โรงเรียน มูลนิธิต่าง ๆ ซึ่งหลายคนก็เชื่อว่าทำบุญสะสมไว้ในชาตินี้ ชาติหน้าจะได้ไม่ลำบาก แต่ไม่ว่าเหตุผลของการบริจาคเงินจะเป็นอะไรก็ตาม ก็ถือว่าได้ช่วยเหลือสังคม แล้วจะดีหรือไม่ว่าถ้าเงินที่เราบริจาคนั้น เราสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เพียงแต่ไม่ใช่เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราบริจาคไปจะใช้ลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด โดยรายละเอียดหรือเงื่อนไขของการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาคเป็นอย่างไร ลองมาดูกันค่ะ

บริจาคเท่าไร ลดได้เท่านั้น


          ถ้าเรามีการบริจาคเงินให้วัดวาอาราม สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล สถานศึกษาของรัฐบาลและเอกชน รวมไปถึงเงินทำบุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เราสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่ากับจำนวนเงินบริจาคที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำบุญ หรือบริจาคเงินให้กับวัด โบสถ์ทางคริสต์ศาสนา หรือมัสยิดของศาสนาอิสลามที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย (การบริจาคเงินให้วัดที่ก่อตั้งขึ้นในต่างประเทศไม่สามารถลดหย่อนได้) สำหรับสถานสาธารณกุศล หรือมูลนิธิ ต้องอยู่ในรายชื่อที่กรมสรรพากรกำหนด สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ rd.go.th ค่ะ

บริจาคเท่าไร ลดได้ 2 เท่า

          การบริจาคที่ลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ จะเป็นการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีรายชื่อตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ สามารถค้นหารายชื่อสถานศึกษาที่เรามีสิทธิลดหย่อนเงินบริจาคได้ที่ rd.go.th (สำหรับการบริจาคให้กับโรงเรียนกวดวิชาจะไม่สามารถลดหย่อนได้) ทั้งนี้ การบริจาคของเราจะต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้นค่ะ ถ้าบริจาคเป็นสิ่งของ หนังสือ หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนได้ รวมถึงต้องเป็นการบริจาคเงินสำหรับค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้

          จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา
          จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
          จัดหาครูอาจารย์ หรือเป็นทุนการศึกษา การประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย

          นอกจากนี้การใช้สิทธิลดหย่อนจากเงินบริจาคจะต้องมีหลักฐานเพื่อประกอบการยื่นภาษี นั่นคือใบอนุโมทนาบัตรหรือใบเสร็จรับเงิน ซึ่งกรมสรรพากรไม่ได้กำหนดรูปแบบที่แน่นอนไว้ แต่อย่างน้อยมีข้อความที่แสดงถึง ชื่อองค์กรที่เราบริจาคเงิน วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จหรือใบอนุโมทนาบัตร ชื่อผู้บริจาคเงิน และจำนวนเงินที่บริจาค

          สำหรับกรณีที่มีการบริจาคเงินร่วมกันหลายคน โดยมีชื่อทุกคนอยู่ในใบเสร็จรับเงินบริจาค จะถือว่าแต่ละคนบริจาคเงินคนละเท่า ๆ กัน โดยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เท่ากับจำนวนเงินที่หารเฉลี่ยแล้ว หรือสองเท่าของเงินที่หารเฉลี่ยถ้าเป็นการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา หรือในกรณีที่มีการเขียนชื่อผู้บริจาคที่มีคำว่า "และครอบครัว" เช่น นาย  A และครอบครัว แบบนี้ถือว่านาย A เป็นผู้บริจาคเงิน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนเงินบริจาคได้ทั้งจำนวน

          ลองมาดูตัวอย่างการใช้สิทธิลดหย่อนจากเงินบริจาคกันค่ะ นาย B บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา 100,000 บาท นาย B สามารถนำใบเสร็จของสถานศึกษาที่บริจาคมาเป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 200,000 บาท แต่ก่อนที่นาย B จะใช้สิทธิลดหย่อนต้องดูว่าเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ เป็นเท่าไร หากนาย B มีเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนอื่น ๆ อยู่ที่ 1.5 ล้านบาท นาย B จะใช้สิทธิได้เพียง 150,000 บาทเท่านั้น เพราะการลดหย่อนจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ ค่ะ อย่างไรก็ตาม เห็นแบบนี้แล้ว อย่าได้คิดมากว่าจะใช้สิทธิลดหย่อนไม่คุ้มค่า ขอให้คิดว่าการบริจาคคือการทำบุญอย่างหนึ่ง แต่ได้ผลตอบแทนทางภาษีเป็นผลพลอยได้ที่เพิ่มเข้ามาค่ะ

          ดังนั้น สำหรับใครที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี แล้วต้องการวางแผนภาษี การทำบุญบริจาคเงินเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เราลดหย่อนภาษีได้ เรียกว่า ได้ทำบุญ พร้อมกับประหยัดเงินภาษีของเราด้วยค่ะ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter@KBank_Expert

Tips

          ขอใบเสร็จรับเงินหรือใบอนุโมทนาบัตรเพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นภาษี

          ตรวจสอบรายชื่อสถานสาธารณะกุศล หรือสถานศึกษาที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนเงินบริจาค



ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทริคลดหย่อนภาษีแบบได้บุญ ด้วยการบริจาคเงิน อัปเดตล่าสุด 3 พฤศจิกายน 2557 เวลา 14:04:12 48,061 อ่าน
TOP
x close