Cryptocurrency คืออะไร ทำความเข้าใจเรื่องสกุลเงินดิจิทัลฉบับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มศึกษา มีข้อมูลอะไรที่เราควรรู้บ้าง ชั่วโมงนี้ใคร ๆ ต่างก็พูดถึง "คริปโทเคอร์เรนซี" (Cryptocurrency) แต่คนที่ไม่ได้มีความสนใจเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้วคงมีคำถามเกิดขึ้นมากมายในหัว เมื่อเจอคำว่า คริปโต, บิตคอยน์, อีเธอเรียม, บล็อกเชน, โทเคน ฯลฯ วันนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลที่มือใหม่ควรรู้มาอธิบายแบบง่าย ๆ ให้ลองทำความเข้าใจกันเบื้องต้น คริปโต หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ "สกุลเงินดิจิทัล" เกิดจากการรวมศัพท์ 2 คำเข้าไว้ด้วยกัน คือ Cryptography (การเข้ารหัส) และ Currency (สกุลเงิน) ดังนั้นทางราชบัณฑิตยสภาจึงกำหนดศัพท์บัญญัติของคำนี้ไว้ว่า "สกุลเงินเข้ารหัส" เพราะการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของสกุลเงินนี้จะต้องผ่านบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีการเข้ารหัสไว้เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ คริปโตถือเป็น "สินทรัพย์ดิจิทัล" (Digital Asset) รูปแบบหนึ่ง สกุลเงินปกติ หรือที่เรียกว่า เงินเฟียต (Fiat) เป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เพื่อใช้ทำธุรกรรมทางการเงินได้ถูกต้องตามกฎหมาย มีทั้งแบบเหรียญและธนบัตร สามารถจับต้องได้ ใช้จ่ายเป็นเงินสด หรือจ่ายผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ แต่เงินเหล่านี้จะไม่มีมูลค่าในตัวของมันเองหากรัฐบาลไม่ได้รับรอง ในขณะที่สกุลเงินดิจิทัลก็ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนเหมือนกับเงินเฟียต แต่บุคคลทั่วไปหรือภาคเอกชนเป็นผู้ออกเหรียญ ไม่ใช่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้น และเป็นเงินที่ไม่สามารถจับต้องได้เหมือนเหรียญ-ธนบัตรทั่วไป เพราะทำธุรกรรมกันผ่านระบบบล็อกเชน ทั้งนี้ เงินดิจิทัลจะมีมูลค่าก็ต่อเมื่อมีคนให้ค่าของเงินสกุลนั้น คริปโทเคอร์เรนซีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่าง ๆ ด้วยจุดประสงค์คือ ต้องการลดการรวมศูนย์ของระบบการชำระเงินผ่านสถาบันการเงิน หรือที่เรียกว่า Decentralized โดยทำงานผ่านระบบบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสไว้ และเชื่อมโยงกันคล้ายห่วงโซ่ ลองนึกถึงสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) เวลาเราจะโอนเงินบาท เงินดอลลาร์ ก็ต้องดำเนินการผ่านตัวกลาง คือ ธนาคาร ในขณะที่คริปโทเคอร์เรนซีสามารถกระจายเงินเหล่านั้นไปให้คนอื่นได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องผ่านธนาคาร แต่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นตัวช่วย เวลาเราทำธุรกรรมก็จะมีผู้ใช้งานอื่น ๆ มาช่วยยืนยันให้ต่อกันเป็นทอด ๆ ซึ่งมีข้อดีก็คือ ต้นทุนต่ำ เสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าการทำธุรกรรมทางการเงินแบบปกติ การทำธุรกรรมมีความรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านตัวกลาง มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ เนื่องจากเมื่อข้อมูลถูกบันทึกไว้แล้ว การจะเข้ามาแก้ไขหรือปลอมแปลงนั้นทำได้ยาก ค่อนข้างปลอดภัย เพราะข้อมูลไม่ได้รวมอยู่ที่ตัวกลางใดตัวกลางหนึ่ง แต่เป็นการกระจายข้อมูลหลาย ๆ ตำแหน่ง ซึ่งในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งต้องใช้คอมพิวเตอร์นับล้าน ๆ เครื่องเพื่อยืนยันข้อมูล ดังนั้นหากมีข้อมูลส่วนไหนถูกแฮกขึ้นมาก็จะรู้ได้ทันที สามารถทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และดิจิทัลโทเคน (Digital Token) ต่างก็เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเหมือนกัน โดยมีความแตกต่างกันคือ คือสกุลเงินที่พัฒนาขึ้นมาจากเครือข่ายบล็อกเชนของตัวเอง จึงสามารถขุดเหรียญได้ มีหน้าที่คล้ายกับการใช้เงินจริง คือ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการตามที่ให้ค่ากัน ตัวอย่างเช่น บิตคอยน์, อีเธอเรียม, BNB, Cardano เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นมาบนบล็อกเชนของคนอื่น เช่น สร้างบนเครือข่าย Ethereum ด้วยจุดประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงกว่าคริปโทเคอร์เรนซี ขึ้นอยู่วัตถุประสงค์ของผู้ออกเหรียญ สามารถแบ่งได้หลายรูปแบบ คือ ถ้าจะนับกันจริง ๆ คงมีมากกว่า 10,000 เหรียญ ซึ่งพอจะจำแนกออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้ คือเหรียญที่ใช้สำหรับซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแทนสกุลเงินปกติ โดยสามารถเก็บรักษามูลค่าได้ และมักมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้อีก ยิ่งคนต้องการมากเท่าไร มูลค่าของเหรียญก็จะเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเหรียญ : Bitcoin (BTC), Litecoin (LTC), Bitcoin Cash (BCH) คือเหรียญที่เป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่รองรับการใช้สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ซึ่งพัฒนาต่อยอดไปได้หลายอย่าง เช่น การสร้างแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ ไม่มีตัวกลาง (DApps) การให้บริการทางการเงินบนบล็อกเชนโดยไม่ต้องพึ่งพาธนาคารที่เรียกว่า DeFi (Decentralized Finance) รวมทั้งการวางขายผลงานต่าง ๆ ในรูปแบบ NFT ที่กำลังได้รับความนิยม ตัวอย่างเหรียญ : Ethereum (ETH), Cardano (ADA), Polkadot (DOT), Solana (SOL), Bitkub Coin (KUB), Binance Coin (BNB) คือเหรียญที่อ้างอิงกับค่าเงินหรือสินทรัพย์บางอย่างไว้ เช่น อ้างอิงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ้างอิงกับราคาทอง ราคาน้ำมัน เพื่อตรึงมูลค่าของเหรียญไม่ให้ผันผวนสูงเหมือนกับเหรียญคริปโตทั่ว ๆ ไป ตัวอย่างเหรียญ : Tether (USDT), USD Coin (USDC), Dai (DAI) เป็นเหรียญในระบบ Decentralized Finance คือ การเงินแบบไม่รวมศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า "โทเคน" (Token) ซึ่งแต่ละเหรียญก็มีวัตถุประสงค์การใช้งานแตกต่างกันไป ตัวอย่างเหรียญ : Uniswap (UNI), ALPHA, SushiSwap (SUSHI), Pancakeswap (CAKE) สายเกมต้องรู้จักเหรียญกลุ่มนี้ เพราะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการเล่นเกมบนเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งผู้เล่นจะต้องใช้เหรียญของเกมซื้อไอเทมต่าง ๆ และยังสามารถสร้างรายได้จากเกมได้เองด้วย ตัวอย่างเหรียญ : SAND จากเกม The Sandbox, AXS จากเกม Axie Infinity, MANA จากเกม Deventraland, GALA จาก Gala Games ถูกพัฒนาขึ้นมาแก้ปัญหาการทำธุรกรรม เช่น การโอนเงินข้ามประเทศ การแปลงเหรียญ เพื่อให้โอนเงินได้อย่างรวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าเหรียญประเภทอื่น ๆ ปัจจุบันมีธนาคารหลายแห่งทั่วโลกใช้เหรียญประเภทนี้ในการโอนเงิน ตัวอย่างเหรียญ : Ripple (XRP), Stellar (XLM), Velo (VELO) เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นมาเล่น ๆ เพื่อล้อเลียนเรื่องต่าง ๆ แต่กลับได้รับความนิยมสูงในช่วงเวลาหนึ่ง นำมาซึ่งการเก็งกำไรในระยะสั้น ๆ ตัวอย่างเหรียญ : Dogecoin (DOGE), Shiba Inu (SHIB), Husky Coin (HUSKY) CBDC หรือ Central Bank Digital Currency คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ คล้ายกับเงินสดทั่วไป แต่เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบดิจิทัลที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ตัวอย่างเหรียญ : หยวนดิจิทัล (e-CNY), Digital Baht ของไทย ที่คาดว่าจะเริ่มทดสอบใช้งานเป็นการภายในในปี 2565 บิตคอยน์ หรือ BTC เป็นคริปโทเคอร์เรนซีตัวแรกของโลก ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยไม่ขึ้นกับสกุลเงินใด ๆ และไม่ต้องผ่านธนาคารกลาง แต่กำหนดปริมาณเงินในระบบไว้ที่ 21 ล้านหน่วย ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงแรก 1 BTC เท่ากับ 0.000764 USD ทว่าภายหลังเหรียญบิตคอยน์ได้รับความนิยมสูงที่สุดและมีการเก็งกำไรเกิดขึ้น จนราคาบิตคอยน์พุ่งทะยานไปแตะระดับ 2 ล้านบาท ต่อ 1 BTC เลยทีเดียว อีเธอเรียม หรือสกุลเงิน Ether (ETH) เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมรองลงมาจากบิตคอยน์ เนื่องจากอีเธอเรียมไม่ได้เป็นเพียงแค่สกุลเงิน แต่เป็นเครือข่ายระบบปฏิบัติการหนึ่งที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชน ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าไปใช้งานและพัฒนาได้ผ่านระบบ Smart Contract ที่ถูกประยุกต์ใช้ในหลากหลายธุรกิจทั่วโลก เช่น วงการ NFT, DeFi, GameFi, การระดมทุนผ่าน ICO ฯลฯ คริปโตและโทเคนสัญชาติไทยมีอยู่หลายเหรียญ เช่น KUB (Bitkub Coin) JFIN (JFIN Coin) ALPHA (Alpha Finance) OMG (OMG Network) SIX (SIX Network) VELO (Velo) ZMT (Zipmex Token) FIRO (Firo) เมื่อเล่นหุ้น เราต้องซื้อ-ขายผ่านโบรกเกอร์ เช่นเดียวกับการเทรดคริปโต ก็ต้องซื้อ-ขายผ่านศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งราคาของหุ้นและคริปโตจะขึ้น-ลงตามอุปสงค์และอุปทานตลาดไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างเช่น สิทธิความเป็นเจ้าของ : การซื้อหุ้นก็คือการร่วมลงทุนกับบริษัทนั้น ๆ โดยที่เราจะได้สิทธิ์ต่าง ๆ ในฐานะผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของกิจการ เช่น เงินปันผล เข้าร่วมประชุม ออกเสียง ติดตามและตรวจสอบการทำงานของกรรมการ ขณะที่คริปโตไม่ได้มีสิทธิ์ตรงนี้ แต่จะเป็นการนำเหรียญไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของเหรียญมากกว่า เงินปันผล : การซื้อหุ้นมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผล ถ้าบริษัทมีกำไรในปีนั้น แต่การถือคริปโตไว้เฉย ๆ จะไม่มีเงินปันผลให้ นอกจากจะนำเหรียญไปสร้างผลตอบแทน เช่น การล็อกเหรียญไว้ในเครือข่าย (Staking) เวลาซื้อ-ขาย : คริปโตสามารถเทรดได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่หุ้นมีเวลาเปิด-ปิดตามวัน-เวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก สกุลเงินที่ใช้เทรด : การเล่นหุ้นต้องใช้สกุลเงินจริง (Fiat) เท่านั้น ส่วนคริปโตสามารถจับคู่เทรดได้หลากหลาย ทั้งเงิน Fiat และเงินดิจิทัล เช่น เทรดบิตคอยน์กับอีเธอเรียม, เทรดบิตคอยน์กับดอลลาร์สหรัฐ ความผันผวนของราคา : คริปโตมีความผันผวนสูงกว่าหุ้น อย่างที่เคยเห็นว่ามีบางเหรียญราคาพุ่งเป็น 100-1,000% ภายในไม่กี่เดือน และก็สามารถลงได้หลัก 100-1,000% เช่นกัน ขณะที่หุ้นจะมีกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดเรื่องราคาต่ำสุด (Floor) และราคาสูงสุด (Ceiling) ที่สามารถซื้อ-ขายได้ในวันนั้น ไม่ให้เกิน 30% ของราคาปิดวันก่อนหน้า ปัจจุบันมีบริษัท ร้านค้าหลายแห่งในประเทศไทย รับชำระเงินด้วยคริปโทเคอร์เรนซี เช่น สายการบินบางกอกแอร์เวย์, เดอะมอลล์, ร้านกาแฟอินทนิล, ปั๊มน้ำมันบางจาก แม้กระทั่งวงการอสังหาริมทรัพย์อย่างอนันดา หรือ SC Asset อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่สนับสนุนให้นำคริปโตมาใช้จ่ายได้เสมือนเงินจริง โดยให้สาเหตุไว้ว่า ราคาเหรียญมีความผันผวนสูง ทำให้ยอดใช้จ่ายของผู้ซื้อหรือรายรับของผู้ขายมีความไม่แน่นอน เพิ่มความเสี่ยงในการฟอกเงินและซื้อ-ขายสินค้าผิดกฎหมาย เพราะกระเป๋าเงินดิจิทัลส่วนใหญ่ไม่ต้องพิสูจน์ยืนยันตัวตน เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เพราะยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการชำระเงิน เพิ่มต้นทุนในการชำระเงิน จากการต้องแลกเปลี่ยนไป-มา หรือปรับระบบให้รองรับสินทรัพย์ประเภทนี้ ลดเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน เพราะแบงก์ชาติไม่สามารถดูแลสภาวะการเงินและระดับราคาสินค้าที่ไม่ใช่เงินบาทให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้การที่ประเทศใช้เงินหลายสกุลยังส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ไม่มีแหล่งสภาพคล่องในกรณีวิกฤต เนื่องจากแบงก์ชาติไม่สามารถปล่อยสภาพคล่องในรูปเงินที่ไม่ใช่เงินบาทได้ ทั้งนี้ มีเพียงประเทศเอลซัลวาดอร์แห่งเดียว ที่ยอมรับให้คริปโตสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ยังไม่ได้ให้การยอมรับ และเริ่มมีบางประเทศประกาศแบนคริปโตแล้ว เช่น จีน ที่ประกาศให้เงินคริปโตเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และสั่งห้ามทำธุรกรรมใด ๆ เกี่ยวข้องกับคริปโตเด็ดขาดรวมคำศัพท์น่ารู้ วาฬ (Whale) : ผู้ถือเหรียญรายใหญ่ มีเหรียญจำนวนมหาศาลไว้ในครอบครอง ซึ่งการซื้อ-ขายของวาฬมักกระทบต่อราคาขึ้น-ลงของเหรียญนั้น Altcoin : เหรียญสกุลอื่น ๆ นอกเหนือจากบิตคอยน์ Blockchain : ระบบฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ โดยเก็บข้อมูลไว้เป็นบล็อก แต่ละบล็อกเชื่อมโยงกันด้วยรหัส เป็นเหมือนโซ่ที่ต่อกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งการที่ข้อมูลถูกกระจายไปหลายตำแหน่ง ไม่มีตัวกลางเช่นนี้ จึงมีความปลอดภัยสูง ยากที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข Fiat : เงินตรา หรือเงินกระดาษ ที่ประเทศนั้น ๆ กำหนดให้ใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น เงินบาท เงินเยน เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินหยวน DeFi (Decentralized Finance) : ระบบการเงินที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง Exchange : เป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายในการซื้อ-ขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโต/โทเคน) โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบ หรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการจะซื้อ-ขาย สามารถตกลงหรือจับคู่กันได้ ICO (Initial Coin Offering) : การระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขายดิจิทัลโทเคน (Digital Token) ผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชน โดยผู้ระดมทุนจะเป็นผู้ออกดิจิทัลโทเคนเพื่อแลกกับเงินดิจิทัล คล้ายกับการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนในช่วง IPO (Initial Public Offering) Smart Contract : บันทึกข้อตกลงของสัญญาที่ระบบสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองตามเงื่อนไขที่ถูกเขียนโปรแกรมลงไป โดยไม่ต้องมีคนกลาง วิธียื่นภาษีคริปโต 2564 คิดคำนวณอย่างไรเมื่อเทรดได้กำไร-ขาดทุน บิตคอยน์ (Bitcoin) คืออะไร โอกาสหรือความเสี่ยง เมื่อจะลงทุนเงินดิจิทัลในโลกออนไลน์ Ethereum คืออะไร กับความน่าสนใจที่ไม่ใช่แค่คริปโทเคอร์เรนซี NFT คืออะไร รู้จักช่องทางสร้างรายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรง ! ขอบคุณข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย (1), (2), (3), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (1), (2), (3), (4), เฟซบุ๊ก Bitkub, zipmex.com (1), (2), กรุงเทพธุรกิจ
แสดงความคิดเห็น