ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ Candy A สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
วิธีเก็บเงินง่าย ๆ จะทำอย่างไรให้เก็บเงินได้ วันนี้เรามีประสบการณ์ออมเงินแบบคนธรรมดามาฝากกันค่ะ
วิธีออมเงินสำหรับคนธรรมดาที่มีรายได้ไม่มากนัก อาจจะถูกมองเป็นเรื่องยากที่ต้องกระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จนทำให้หลายคนไม่เหลือเงินสำหรับเก็บออมสักเท่าไหร่ แต่ทว่าการเก็บเงินให้เป็นกอบเป็นกำก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยากอย่างที่คิดเสมอไป ถ้ารู้วิธีเก็บเงินง่าย ๆ แบบคนธรรมดา จากการแชร์ประสบการณ์ของ คุณ Candy A สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ซึ่งอาจทำให้คุณเปลี่ยนความคิดและมีเงินออมได้ง่ายขึ้นค่ะ
แชร์ประสบการณ์การออมเงิน (ฉบับคนธรรมดา) โดย คุณ Candy A
ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวก่อนนะคะ ดิฉัน อายุ 23 ปี ปัจจุบันเพิ่งเริ่มทำงานได้ปีกว่า ฐานะทางบ้านไม่ได้ร่ำรวย พอมีพอกิน (แต่ไม่พอเก็บ) เราก็เลยต้องเริ่มเก็บด้วยตัวเอง และนี่เป็นที่มาของประสบการณ์ที่จะมาแชร์กันค่ะ
หลาย ๆ คนคงจะเคยคิดว่าเราจะต้องออมเงินให้ได้เท่านั้น เท่านี้ แต่ทำไมนะ พอเอาเข้าจริง ๆ มันก็ไม่ได้ตามที่เราตั้งไว้ การออมเงิน เป็นเรื่องง่าย สามารถทำได้ตั้งแต่เด็กยันแก่ แต่ต้องอาศัย "วินัย" เป็นอย่างมาก
วันนี้ก็เลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์การออมเงิน จากสมัยเด็ก ๆ จนถึงปัจจุบัน โดยส่วนตัวดิฉันเป็นคนชอบออมเงินมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ คุณแม่จะฝึกให้บริหารจัดการเงินเอง โดยสมัยประถม (ป.1-ป.2) จะให้เงินไปโรงเรียนวันละ 5-10 บาท แต่ห่ออาหารกลางวันไปทานที่โรงเรียน (ป.3-ป.6) คุณแม่จะให้เงินไปโรงเรียนเป็นสัปดาห์ สัปดาห์ละ 100 บาท (จันทร์-ศุกร์ 5 วัน วันละ 20 บาท) คุณแม่จะแลกแบงก์ 20 ใหม่จากธนาคาร ที่มีเลขบนธนบัตรเรียงต่อกันไว้จำนวนหนึ่ง สิ่งที่จูงใจในการเก็บเงินตอนนั้นคือ อยากเก็บแบงก์ใหม่ไว้เอง ไม่อยากให้ใคร ตอนนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการออม
สมัยนั้นข้าวที่โรงเรียน จานละ 5 บาท พิเศษ 7 บาท น้ำหวานแก้วละ 1 บาท (น้ำเปล่าฟรี) ผลไม้ ขนมอื่น ๆ ก็ 1-5 บาท ด้วยความที่หวงแบงก์ใหม่ เราจึงกินเฉพาะข้าวจานละ 5 กับน้ำเปล่า (ฟรี) แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เสียเงินมันไม่ใช่ตอนนี้ แต่มันคือตอนหลังเลิกเรียน ที่จะมีบรรดาพ่อค้า แม่ค้า เอาอาหาร ขนม นม เนย มาขายบริเวณหน้าโรงเรียน เดินผ่านทีไรก็เป็นอันต้องเสียเงินทุกที จะปีนกำแพงออกทางอื่นก็ไม่ได้เพราะขาสั้น ตัวเตี้ย ไม่มีทักษะในการปีนอีก และด้วยความเป็นเด็กเห็นอะไรมันก็หักห้ามใจยาก เลยเสียเงินไปกับขนมตอนเย็น 5-10 บาท เกือบทุกวัน สรุปแล้วช่วงนั้นก็เก็บเงินได้วันละนิดวันละหน่อย เหลือแบงก์ 20 ใหม่ สัปดาห์ละ 1-3 แบงก์ พอถึงวันศุกร์กลับมาบ้านมานั่งชื่นชมแบงก์ใหม่ ดีใจเหมือนกับมีเงินล้าน
ชีวิตช่วงประถม วนเวียนอยู่กับเหรียญและแบงก์ พอสะสมได้เยอะ ๆ ก็จะให้พ่อพาไป ธนาคารสีชมพู เพื่อนำเงินไปฝาก แต่ตอนเด็กๆจะชื่นชมกับเงินที่จับต้องได้ มากกว่าตัวเลขในสมุดบัญชี ก็เลยไม่ค่อยเอาไปฝากสักเท่าไหร่ และมีครั้งหนึ่งเคยถามคุณแม่ว่า
เรา : แม่คะ ธนาคารนี่ต้องมีตู้เก็บเงินแยก ๆ เป็นล็อก ๆ กี่อันคะ คนเค้าฝากตั้งเยอะตั้งแยะ เค้าเอาเก็บแยกกันหมดรึเปล่า
แม่ : เปล่าจ้ะ เค้าไม่ได้แยกกัน เงินที่เอาไปฝากไว้ที่ธนาคาร เค้าจะเอารวมกันจ้า
เรา : แล้วเวลาที่เราไปเอาเงินออกมา เราจะได้เงินแบงก์ใหม่ที่เราเอาไปฝากไว้ไหมคะ
แม่ : ไม่ได้จ้ะ เพราะเงินเรา เค้าจะหมุนเวียนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น แต่เค้าจะเอาเงินที่มีอยู่มาให้เราเวลาที่เราไปถอนเงินออกมา
ตั้งแต่วันนั้นก็เลยไม่เอาแบงก์ใหม่ไปฝากธนาคารเลย เอาแต่เหรียญไปฝาก แบบว่ายกกระปุกออมสินลูกหมูไปนับฝากที่ธนาคารเลย
เวลาล่วงเลยไปกว่า 6 ปี ที่เรียนชั้นประถม เราก็มานั่งนับเงิน อู๊ฮู้ว!!! เงินเยอะจัง มีตั้งหลายพันแหนะ นึกถึงแบงค์ 20 ใหม่ ๆ ที่เรียงกันเป็นปึก ๆ เห็นแล้วมันชื่นใจจริง ๆ เงินตั้งหลายพันเนี่ย ไม่ได้มาจากเงินที่คุณแม่ให้ไปโรงเรียนอย่างเดียวนะคะ เวลาไปเที่ยวคุณแม่ก็จะให้เงินติดตัวไว้เท่ากันกับพี่สาว ใครใช้หมดก็จะไม่ให้เพิ่ม ใครใช้เหลือก็ไม่เอาคืน สรุปว่าถ้าเหลือก็เก็บค่ะ ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาแห่งการเก็บเงิน อยากได้อะไรก็จะอดไว้ก่อน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ซื้อ คิดอย่างเดียวคือ เสียดายเงิน !!!
พอขึ้นชั้นมัธยม เข้าโรงเรียนประจำจังหวัดต้องเดินทางไป-กลับทุกวัน วันละ 40 กิโล และต้องนั่งรถโดยสารไป คุณแม่จึงให้เบี้ยเลี้ยงวันละ 60 บาท ค่าใช้จ่ายช่วงมัธยมจะเยอะกว่าประถมมาก ไหนจะค่าเดินทาง ค่าอาหารที่แพงขึ้น (และกินเยอะขึ้น) ค่าทำรายงาน ค่าจัดบอร์ด ค่าฉลองวันเกิดเพื่อน+ของขวัญ และอื่น ๆ อีกมากมาย
จำได้ว่า ม.1 ค่ารถโดยสาร (ธรรมดา) 5 บาท, รถแอร์ 10 บาท (ราคานักเรียนนะคะ) และต้องต่อรถเมล์เข้าไปที่โรงเรียนอีก 5 บาท ซึ่งแต่ละวันตอนเช้าเราจะเลือกรถไม่ได้ เพราะมันเป็นทางผ่านของรถสายยาว คันไหนมาเราก็ต้องขึ้นคันนั้นเลย ถ้าหวังจะไปคันต่อไป แล้วรถมาไม่ทันเวลาก็คงต้องเข้าโรงเรียนสายและโดนทำโทษ โดยการวิ่งรอบสนามฟุตบอล ค่าอาหารกลางวัน ข้าวจานละ 12-20 บาท น้ำ 3-10 บาท
พออยู่ ม.6 ค่าน้ำมันปรับขึ้นสูงมาก ทำให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว รถธรรมดา (พัดลม) 10-15 บาท รถแอร์ 15-20 บาท (อันนี้ราคานักเรียน ถ้าใส่ชุดอื่นนอกจากชุดนักเรียนราคาก็จะสูงขึ้นอีก) คุณแม่ก็เลยต้องขึ้นเบี้ยเลี้ยงให้เป็นวันละ 100 บาท
ช่วงมัธยมเงินออมก็จะมาจากเงินเบี้ยเลี้ยงที่คุณแม่ให้ไปโรงเรียนในแต่ละวัน แต่ตอนนี้เริ่มไม่ได้แบงก์ใหม่แล้วนะคะ เริ่มจะสนใจการฝากเงินในธนาคาร เพราะได้ดอกเบี้ย (ถึงแม้มันจะน้อยนิดก็ตาม) เริ่มชื่นชมกับจำนวนเงินที่มากขึ้น ๆ ๆ ทุกวัน จะเน้นการฝากกับธนาคารโรงเรียน พอเห็นจำนวนเงินแบบมีเศษ เช่น 1,291 บาท เราก็อดไม่ได้ที่จะเอาเงินไปฝากให้มันไม่มีเศษ ก็ต้องไปฝากอีก 9 บาท เป็น 1,300 บาท รู้สึกดีตั้งแต่เลขหลักร้อยเริ่มเพิ่มขึ้น และจะขยันไปฝากมากขึ้น เมื่อตัวเลขหลักพันจะเพิ่มขึ้น เช่น 1,980 บาท ถึงแม้ทั้งเนื้อทั้งตัว (หักค่ารถกลับบ้านออก) จะเหลือแค่ 20 บาท ก็จะเอาไปฝาก เพื่อให้เป็น 2,000 บาท
ตัวเลขก็ขยับขึ้น ๆ ๆ เรื่อย ๆ จบชั้นมัธยม มีเงินออมราว ๆ 2-3 หมื่นบาท และมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่งคือ การแข่งขัน ประกวดวิชาการต่าง ๆ เพราะการแข่งขันในระดับมัธยม มักจะมีเกียรติบัตร และเงินรางวัล ดิฉันก็เข้าร่วมทุกครั้งที่มีโอกาส ได้เงินมาไม่ต้องถามค่ะว่าเอาไปไหน คำตอบเดียวคือ ธนาคารโรงเรียนค่ะ
ถึงช่วงนี้เงินออมขยับจากหลักสิบ เป็นหลักร้อย หลักพัน จนมาเป็นหลักหมื่นแล้วค่ะ ความคิดตอนนั้นคือ ห๊าาาาา !! ฉันจะเป็นเศรษฐีนีในอนาคต (มโนว่ายืนอยู่แล้วโยนเงินให้ลอยขึ้นไปในอากาศ เสมือนในหนังสมัยก่อนที่เศรษฐีเขาทำกัน)
เงินเหรียญดิฉันก็เก็บนะคะ สมัยประถมก็จะเก็บโดยหยอดกระปุก ถ้ากระปุกเริ่มหนักก็แสดงว่าเงินเยอะขึ้น แต่ไม่เห็นว่าเงินในกระปุกมีเยอะแค่ไหน อีกอย่างแกะออกมานับยากมาก ต่อมาเลยเปลี่ยนวิธี โดยการออมใส่คอนโดเหรียญ (ลิ้นชักเล็ก)
ชั้นที่ 2 เป็นเหรียญ 2 บาท
ชั้นที่ 3 เป็นเหรียญ 1 บาท
และชั้นที่ 4 เป็นเหรียญ 5 กับเหรียญ 10 บาท
ส่วนเหรียญพิเศษอื่น ๆ ที่มีลวดลายแปลกตา หาได้ยาก ดิฉันก็จะเก็บใส่กล่องแยกเอาไว้ เพราะถ้าเอาไปปนกับเหรียญอื่น ๆ เผลอหยิบไปใช้เสียดายแย่เลย
สมัยเรียนมหาวิทยาลัย (ดิฉันเรียนที่มหาวิทยาลัยของรัฐชื่อดังในภาคใต้ ซึ่งไกลจากบ้านด้วยระยะทางประมาณ 1500 กิโลเมตร) เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ต้องไปเผชิญชะตากรรมในต่างถิ่น ฟังดูเหมือนน่าสงสาร แต่จริง ๆ แล้วดิฉันเลือกเองค่ะ สละสิทธิ์มหาวิทยาลัยอื่น เพื่อที่จะได้มาอยู่ที่นี่ ไม่ได้อยากหนีอะไรนะคะ แต่อยากพิสูจน์ให้ทางบ้านเห็นว่า เราโตแล้ว รับผิดชอบตัวเองได้ อยู่ที่นั่นคุณแม่ส่งเงินให้เป็นรายเดือน ให้บริหารจัดการเองเช่นเคย โดยจะคำนวณจากมื้ออาหาร 3 มื้อ มื้อละ 50 บาท ซึ่งเด็กมหา\'ลัย อย่างเรากินอิ่มแบบสบาย ๆ และให้เผื่อใช้จ่ายอย่างอื่นอีกนิดหน่อย โดยค่าเทอมและค่าหอพัก จะจ่ายรวบยอดทั้งเทอม ส่วนนี้ที่บ้านก็รับผิดชอบให้อีกเช่นเคย (เรานี่ช่างโชคดีอะไรเช่นนี้)
ช่วงปี 1 เป็นช่วงที่ไม่ค่อยได้ใช้เงิน เพราะเวลาส่วนใหญ่ก็เรียน และทำกิจกรรม ไม่ค่อยได้ออกไปเที่ยวอะไรมาก อาหารในมหาวิทยาลัยก็มีให้เลือกหลากหลาย ราคาก็ถู๊ก ถูก (ข้าวราดแกง 1 อย่าง 12 บาท, 2 อย่าง 15 บาท, 3 อย่าง 17 บาท, ก๋วยเตี๋ยว 15 บาท, น้ำหวานแก้วละ 3-7 บาท) ที่ไปบ่อย ๆ ก็เห็นจะเป็นห้างสรรพสินค้าหน้ามหาวิทยาลัย ไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งแต่ละครั้งที่ไปดิฉันก็จะจดรายการสิ่งของที่ต้องซื้อ เพราะจะได้ไม่ตกหล่น ไม่ซื้อของเกินความจำเป็น และที่สำคัญไปเดินตากแอร์ (ก็ขึ้นชื่อว่าภาคใต้ มันก็มีแค่ 2 ฤดู คือร้อน กับร้อนมาก เราก็เลยต้องมีที่คลายร้อนเป็นธรรมดา)
พอมาปี 1 เทอม 2 ดิฉันย้ายออกไปพักที่หอนอกมหาวิทยาลัย เนื่องจากดิฉันสร้างรกราก และสะสมสิ่งของต่าง ๆ มากมาย จนพื้นที่ในห้องแทบจะไม่มีที่เดิน เมื่อรวมของรูมเมทอีก 2 คน ยิ่งทำให้ห้องแคบไปถนัดตา ดิฉันได้ย้ายไปพักที่หอพักข้างมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถไป-มาได้อย่างสะดวก (ใช้รถจักรยานยนต์) ช่วงนั้นได้รถมาใหม่ ๆ เริ่มมีการออกไปสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ รู้ที่กิน ที่เที่ยว ที่ช็อป มากมาย ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น
แต่คุณแม่ก็ใจดี ให้เบี้ยเลี้ยงเพิ่ม เป็นเดือนละ 9 พัน (ค่าห้อง รวม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต 3,500 บาท ค่ากินค่าอยู่ 4,500 บาท (เฉลี่ยวันละ 150 บาท) และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก 1,000 บาท ช่วงนี้ดิฉันออมเงินจากการประหยัดค่าอาหาร โดยกินข้าว 2 มื้อ จากมหาวิทยาลัย มื้อเย็นซื้อน้ำเต้าหู้ หรือนม เป็นการลดน้ำหนักไปในตัว ก็เหลือเก็บวันละหลายสิบบาท เดือนนึงก็เหลือเก็บประมาณ 1,000-2,500 บาท
ปี 2 เริ่มหาอาชีพเสริม เพราะตั้งเป้าหมายให้ตัวเองว่า จบปี 4 ต้องเก็บเงินให้ได้หลักแสน เริ่มจากการเข้าไปติดต่อกับทางฝ่ายกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ขอทำงานพิเศษ ซึ่งโชคดีมากที่มหาวิทยาลัยของดิฉันมีกิจกรรมส่งเสริมให้นักศึกษามีรายได้พิเศษเพิ่มเติมระหว่างเรียน
ทั้งรับจ้างพิมพ์งาน สอนพิเศษ หรือให้ไปเป็นสตาร์ฟ กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น รวมไปถึงการที่เอกชนเข้ามาติดต่อ ขอแรงให้นักศึกษาไปช่วยงาน ซึ่งคิดค่าแรงเป็นงาน ๆ ไป อย่างรับจ้างพิมพ์งาน ถ้าเป็นการกรอกข้อมูล ก็จะคิดแผ่นละ 2 บาท หรือแล้วแต่ความยากของงาน
เป็นสตาฟตามซุ้มงาน ไปคุมซุ้มเกมต่าง ๆ แนะนำวิธีเล่นเกมให้แก่ผู้เข้าชม ตั้งแต่เวลา บ่าย-เที่ยงคืน ได้ค่าจ้าง 900 บาท
รับจ้างสอนพิเศษ ลูกอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ได้เดือนละ 3,000-5,000 บาท
เป็นสตาฟในงานรับปริญญา ช่วยจัดแถวพี่ ๆ บัณฑิต ได้วันละ 300 บาท
ถ้าว่างจากการเรียนดิฉันก็มักจะทำงานเหล่านี้เสมอ เพราะได้ทั้งเงิน และได้ทั้งเพื่อน ได้รู้จักเพื่อน ๆ จากคณะอื่น ๆ ตอนนั้นเรียกได้ว่าเดินไปทางไหนก็รู้จักเค้าไปหมด เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก ๆ หาเงินได้ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก
จำได้ว่าครั้งแรกรับจ้างพิมพ์งาน เค้าให้ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ดิฉันทำ 2 วันแล้วเอางานไปส่งให้กับอาจารย์ อาจารย์ก็เอ่ยปากชมว่าทำงานเร็ว และพิมพ์ไม่ผิดเลย ตอนนั้นได้ค่าจ้าง 300 บาท นั่งมองเงินแล้วน้ำตาไหล พูดกับตัวเองว่า เย้ ๆ เราหาเงินเองได้แล้ว เงินนั้นดิฉันเก็บใส่ซองไว้ไม่ใช้เลยค่ะ เสมือนว่าเงินก้อนแรกที่หามาเอง มันช่างน่าภูมิใจจนไม่รู้จะบรรยายยังไง
ทุก ๆ วันดิฉันก็จะเข้าไปเว็บไซต์หางานกับทางมหาวิทยาลัย เมื่อตรงกับช่วงที่ดิฉันว่าง หรือช่วงเสาร์-อาทิตย์ ก็จะลงทำงานนั้นเกือบทุกงาน แต่บางทีก็คิดนะคะเพื่อน ๆ เค้าไปเที่ยว สนุกสนานกัน แต่เรามาทำงาน ไม่ได้ไปเที่ยว ก็มีช่วงนึงที่ไปเที่ยวบ้าง แต่ดิฉันพบว่าการไปเที่ยวนั้น ถ้าไม่รวมว่าได้พักผ่อนหย่อนใจ สังสรรค์กับเพื่อน ก็มีแต่การใช้เงิน แล้วเงินที่เราใช้ก็เป็นเงินที่เราอุตส่าห์ทำงานแลกมา
หลังจากนั้น ไม่ค่อยออกไปไหนค่ะ ทำงาน และเรียนอย่างเดียว จนมีเงินเก็บครึ่งแสน ตอนนั้นนั่งดูเงินในบัญชี น้ำตาจะไหล เราเกือบจะทำสำเร็จแล้ว อีกครึ่งนึงเท่านั้น
บางคนสงสัยว่าเอ๊ะ !! ดิฉันไม่ซื้อรองเท้า หรือเสื้อผ้า เหมือน ๆ ที่นักศึกษาคนอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไปเขาทำเหรอ ตอบเลยค่ะว่าซื้อ ซื้อเยอะด้วย จำได้ว่าจบปี 4 มีรองเท้าเกือบ ๆ 40 คู่ เสื้อผ้าขนกลับบ้านสัก 2 กระสอบใหญ่ แต่เงินที่จะซื้อของพวกนี้ได้ ไม่ใช่เงินเก็บธรรมดา ๆ นะคะ จะต้องมีกฎเกณฑ์ ดิฉันบอกกับตัวเองว่า ถ้าเก็บเงินได้ครบทุก ๆ 5,000 บาท จะซื้อของขวัญให้กำลังใจตัวเอง ซึ่งดิฉันชอบใส่ส้นสูง ชอบแต่งตัว ก็เลยมีรองเท้าและเสื้อผ้าเยอะเลย
นี่เป็นส่วนหนึ่งของรองเท้าสมัยเรียนค่ะ
เราก็ต้องรับไว้ แต่ของขวัญและสินน้ำใจต่าง ๆ ดิฉันไม่เอาไปใช้แม้แต่บาทเดียว เก็บไว้มายังไงก็อยู่อย่างนั้น เอาไว้เป็นกำลังใจให้ตัวเอง ว่านี่แหละ คือผลตอบแทนของการทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุด จนกระทั่งการเรียนระดับมหาวิทยาลัยจบลง วันนั้นดิฉันมานั่งดูเงินในบัญชี โอ้ !!! พระเจ้า ฉันเก็บเงินได้เป็นแสนจริง ๆ ด้วย ดีใจ กระโดดโลดเต้นอยู่คนเดียว น้ำตาไหล เป็นความดีใจที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งเรียนจบได้ใบปริญญามาฝากคุณพ่อคุณแม่ ทำตามเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ได้
ตอนแรกกะว่าจะเอาเงินไปดาวน์รถ แต่ไป ๆ มา ๆ ไม่เอาดีกว่า เสียดาย อุตส่าห์เก็บมาตั้งนาน แค่รถจักรยานยนต์ที่มีอยู่ก็พาเราไปไหนมาไหนได้ตั้งเยอะ ที่บ้านก็มีรถยนต์อยู่แล้ว มี 2 คัน แต่คุณพ่อขับเป็นแค่คนเดียว เดี๋ยวเราเอาคันเก่ามาขับก็ได้ ถ้าไปต่างจังหวัดก็นั่งรถโดยสารไป ก็ถึงเหมือนกัน แล้วเดี๋ยวนี้การคมนาคมขนส่งก็มีให้เลือกตั้งเยอะแยะ ปัจจุบันก็เลยล้มเลิกการซื้อรถไป
ทำงานเดือนแรก
พอจบมาดิฉันก็ทำงานที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง เงินเดือนรวม ๆ แล้วประมาณ 1x,xxx บาท ที่โรงพยาบาลมีบ้านพักให้ (ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะเลย) งานที่นั่นค่อยข้างหนัก เพราะจำนวนประชากรในอำเภอค่อยข้างเยอะ ประมาณ 9 หมื่นกว่าคน เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องทำงานเป็น 2 เท่าเลยค่ะ เพราะบุคลากรก็ไม่เพียงพอ แต่คนไข้น่ารักมากค่ะ พอมีผลไม้อะไรออกก็จะหิ้วมาฝากเสมอ ซื้อขนม ทำกับข้าวมาให้บ่อยมาก ยิ่งรู้ว่าเราเป็นคนต่างพื้นที่ ยิ่งเอาใจเราใหญ่เลย อยากให้เราอยู่ที่นี่นาน ๆ
ค่าใช้จ่ายแทบจะไม่มีเลยค่ะ มีแค่ค่าอาหารบางมื้อเท่านั้น ห้างสรรพสินค้าไม่ต้องพูดถึงค่ะ มีเซเว่นก็หรูแล้ว 2 ทุ่มปิดไฟนอน ออกไปข้างนอกก็เหมือนเข้าป่าค่ะ มืดมาก ๆ วงจรชีวิตก็ ตื่น-ไปทำงาน-กลับห้อง-นอน เป็นแบบนี้ทุกวัน
เมื่อเงินเดือนเดือนแรกออก เราตัดสินใจ เอาเงินทั้งหมดแบ่งให้พ่อกับแม่คนละครึ่ง แล้วเราก็ใช้เงินออมที่เก็บมาเอา เพราะเชื่อว่าเงินเดือน เดือนแรก ถ้าให้พ่อกับแม่เราจะมีความเจริญรุ่งเรือง (เราอยากรุ่งเรืองมาก ก็เลยให้หมดเลยค่ะ) พ่อกับแม่ก็ปลื้มใจเป็นอย่างมาก พอผ่านไปได้ 3 วัน แม่บอกว่า แม่เก็บไว้แล้ว 3 วัน แม่ให้ลูกคืนเอาไว้ใช้ แต่พ่อเงียบไปเลยค่ะ ประมาณว่าไม่เคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น
เนื่องจากที่ทำงานห่างจากบ้านประมาณ 300 กิโลเมตร ถ้าจะกลับบ้านก็ต้องให้พ่อมารับ พ่อให้โควตาเดือนละครั้ง เราก็กลับเกือบทุกเดือนเลยค่ะ แต่หลัง ๆ มาสงสารพ่อ เพราะต้องไป-กลับ 600 กิโลเมตร หลังจากทำงานเหนื่อย ๆ ก็ต้องขับรถมารับเรากลับบ้านอีก ก็เลยหาทางกลับบ้านเอง โดยนั่งรถโดยสาร 3 ต่อ
เคยบอกคุณพ่อว่า เดือนนี้ไม่ต้องมารับนะคะ เดี๋ยวจะกลับเอง ปรากฎว่าออกจากที่ทำงาน 7 โมงเช้า ถึงบ้านเกือบ ๆ 6 โมงเย็น คือว่ารถจอดบ่อยมากค่ะ ซื้อพวงมาลัย ซื้อขนมครก จอดเข้าห้องน้ำ เติมน้ำมัน หลังจากนั้นมาคุณพ่อกับคุณแม่ก็ไม่ให้กลับบ้านเองอีกเลย คุณพ่อมารับค่าน้ำมันก็ไม่ต้องจ่ายเอง (ดีจัง) หลังจากเดือนแรกมาไม่ได้ให้เป็นเงินแล้วค่ะ เพราะท่านมีรายได้ประจำอยู่แล้ว ก็กลับไปเลี้ยงข้าวซื้อข้าวของเครื่องใช้เข้าบ้านให้แทน
ทำงานที่โรงพยาบาลได้เกือบ ๆ ปี เราก็เปลี่ยนงานค่ะ มาทำเอกชนแทน ลักษณะงานก็เปลี่ยนไป ต้องปรับตัวนิดหน่อย ค่าตอบแทนสูงกว่ารัฐ ประมาณ 3 เท่า งานไม่ค่อยหนักเท่าไหร่ แต่เน้นการบริการมากกว่า การแบ่งหน้าที่ การจัดการดีกว่าที่เดิมค่ะ
ช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนงาน เราต้องวางแผนการจัดงานเงินใหม่ เพราะรายได้เพิ่มขึ้น เราก็ต้องเก็บมากขึ้น ตอนที่ทำงานอยู่โรงพยาบาล เก็บเดือนละ 5,000-7,000 บาท (จากรายได้ หมื่นกว่าบาท) ตอนนี้รายรับประมาณ 4x,xxx บาท เราเก็บโหดมากค่ะ หักไว้ 3 หมื่นบาท/เดือน ไว้เป็นเงินเก็บ ที่เหลือก็ใช้จ่าย เป็นค่าอาหาร ค่าห้องพัก ค่าน้ำมัน รวม ๆ แล้วก็ใช้ประมาณ หมื่นกว่าบาท
ตอนนี้เข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ (ในภาคอิสาน) สิ่งยั่วยุ มันก็เยอะ ออกจากห้องเป็นต้องเสียเงิน เราก็เลยจัดการการใช้เงินโดยถอนแค่เดือนละ 1 ครั้ง (เท่าที่จะใช้) ต้องบอกก่อนว่าเราทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อให้รู้ว่าเราใช้อะไรไปบ้าง เกินความจำเป็นหรือเปล่า แต่ตอนนี้มันอยู่ตัวแล้ว เราไม่ได้ทำบัญชีแล้วค่ะ เพราะคุมเงินอยู่แล้ว เงินที่ถอนมาเราเน้นแบงก์ 100 กับ แบงก์ 20 ค่ะ
เนื่องจากเราต้องใช้เงินที่มีอยู่ในจำนวนที่จำกัด จึงต้องคุมเข้มหน่อย อยากสบายในอนาคตก็ต้องอดทน
นี่คือปฏิทินเงินค่ะ วิธีใช้ง่ายมากค่ะ ถ้าวันนี้วันที่ 1 ก็หยิบซองเลข 1 ไปใช้ ใช้ตามวันเลยค่ะ วันละ 120 บาทที่คำนวณไว้ ใช้กินได้อิ่มหนำสำราญค่ะ ข้าวพิเศษ 3 มื้อยังได้เลย วันนึงก็ใช้ประมาณ 120 บาท แต่เราซื้อข้าวถุงละ 8 บาท กับข้าว 25 บาท (ได้เยอะมาก) เราก็แบ่งทาน 2 มื้อ ประมาณ 10 โมงเช้า กับบ่าย 3 มื้อเย็นกินนมบ้าง ไม่กินบ้าง ลดหุ่นไปในตัว เราจะได้สวยและรวยมาก พอกลับห้องก็เอาเงินที่เหลือเก็บแยกไว้
นี่คือกล่องเก็บแบงก์ 20
และนี่กล่องเก็บแบงก์ 100 ค่ะ เหรียญก็ใส่คอนโดเหรียญอีกเช่นเคย ไม่น่าเชื่อว่าเราเหลือเงินกลับห้องทุกวันค่ะ บางวันใช้แค่ 30 บาทเองนะ
บางคนก็คงคิดว่า เอาออกไปแค่วันละ 120 บาท ถ้ามีเหตุฉุกเฉิน รถยางแตก หรือมีคนมาขายบ้านหลังละร้อย จะทำไงไม่เสียดายแย่เหรอ ดิฉันพกกระเป๋าสตางค์กับบัตร ATM ไว้ตลอดค่ะ เพียงแต่มันเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะใช้เท่านั้นเอง ถ้าไม่มีเหตุจำเป็น ก็ลืมไปซะว่ามีอยู่บนโลกนี้ ฮ่า ๆ
นอกจากเหรียญแปลก ๆ ลวดลายแปลกตา เราก็ยังเก็บแบงก์หายาก หรือที่ไม่ผลิตแล้วด้วยนะคะ
และอันนี้เป็นอีกวิธีที่ใช้เก็บเงินนะคะ แต่ไม่ได้ใช้ประจำ แล้วแต่โอกาสค่ะ สังเกตที่ตัวเลขของธนบัตรแต่ละใบนะคะ เราจะเก็บเลขตอง เลขสวย เลขที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เช่น รหัสนักศึกษา วันเกิดปีเกิด ใบไหนเกี่ยวข้องเก็บหมดค่ะ ไม่ได้เอาไปซื้อหวยหรือลุ้นรางวัลแต่อย่างใดนะคะ เพียงแต่มันเป็นการเก็บอีกวิธีหนึ่ง เลขสวยเอาไปใช้แล้วเสียดาย เก็บไว้ดีกว่า แต่ยังไม่เคยได้เลขที่เป็นตัวเดียวกันทั้งหมดเลยนะคะ