x close

คลังสั่งรื้อโบนัสรัฐวิสาหกิจ หลังพบยอดสมนาคุณพนักงานทะลุ 1 หมื่นล้าน




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้

           คลัง สั่งรื้อแผนแจกโบนัสรัฐวิสาหกิจใหม่ หลังพบยอดสมนาคุณพนักงานรัฐวิสาหกิจทะลุ 1 หมื่นล้านบาท เผย  ทอท. จ่ายโบนัสปี 56 สูงถึง 11 เดือน

           วันนี้ (16 มิถุนายน 2557) นายรังสรรค์ ศรีวรศาตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่ รมว.การคลัง กล่าวถึงการปรับแผนจ่ายผลตอบแทน หรือโบนัสของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจว่า ภายหลังจากที่กระทรวงการคลังได้ทำการรวบรวมผลตอบแทนที่บรรดากรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่า นอกจากค่าตำแหน่งกรรมการ ค่าเลี้ยงรับรองแล้ว ยังมีในส่วนของการจ่ายโบนัสของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอ คสช. ให้ทบทวนการจ่ายโบนัสของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากการตรวจสอบของกระทรวงการคลัง ทำให้ทราบว่า มีรัฐวิสาหกิจจ่ายโบนัสให้พนักงานสูงเกินไป อาทิ บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่จ่ายโบนัสปี 2556 ให้พนักงานสูงถึง 11 เดือน
 
 โดยรายละเอียดการจ่ายโบนัสของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง มีดังนี้

           บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายโบนัสปี 2556 ให้พนักงานสูง 11 เดือน

           ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จ่ายโบนัสปี 2556 ให้พนักงานสูง 7 เดือน

           ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จ่ายโบนัสปี 2556 ให้พนักงานสูง 6-7 เดือน   
      
           การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จ่ายโบนัสปี 2556 ให้พนักงานสูง 6 เดือน

           ธนาคารออมสิน จ่ายโบนัสปี 2556 ให้พนักงานสูง 5.8 เดือน

           ซึ่งเมื่อดูอัตราการจ่ายโบนัสของรัฐวิสาหกิจที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ถือว่าสูงเกินไป เพราะถึงจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม เพราะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเงินโบนัสรวมของรัฐวิสาหกิจปีหนึ่งมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
 
           นายรังสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจ่ายโบนัสพนักงานไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์ ก็ถือว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจที่จะพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่อยู่นอกตลาดมีหลักเกณฑ์ให้จ่ายโบนัสได้ไม่เกิน 11 เดือน โดยขึ้นอยู่กับการประเมินผลงาน และรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนไม่สามารถจ่ายโบนัสพนักงานได้ ก็ต้องเข้าไปดูความเหมาะสมใหม่อีกครั้ง อาทิ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ซึ่งทั้ง 2 แห่ง มีหนี้เสียแห่งละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และได้ขอให้กระทรวงการคลังจ่ายโบนัส 4 เดือน โดยเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
 





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คลังสั่งรื้อโบนัสรัฐวิสาหกิจ หลังพบยอดสมนาคุณพนักงานทะลุ 1 หมื่นล้าน อัปเดตล่าสุด 16 มิถุนายน 2557 เวลา 14:02:17 6,563 อ่าน
TOP