x close

8 ยุทธวิธี ออกจากเงินเดือนที่ไม่พอใช้

8 ยุทธวิธี ออกจากเงินเดือนที่ไม่พอใช้

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)

          ด้วยสภาพสังคมยุคปัจจุบันทันด่วน ชีวิตของมนุษย์เงินเดือนที่ต้องมีปัจจัยนอกเหนือที่เข้าไปยุ่งเกี่ยว รายได้ที่เข้ามาไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในแต่ละเดือน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาทิ ค่าบัตรเครดิต ค่าน้ำค่าไฟ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ฯลฯ

          หากลองคิดและวิเคราะห์สักนิดในการวางแผนการใช้จ่ายในแต่ละเดือน เงินที่ถูกนำไปจ่ายในเรื่องบางเรื่องก็แสนไร้ประโยชน์และมีนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าราคาแพง ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงที่เกิดจาก "อารมณ์" ที่มากกว่า "เหตุผล"

          "อารมณ์" ที่ว่าคือ "ความต้องการ ความพึงพอใจ ความอยากได้อยากมี" โดยไร้สติ จนเหนือ "เหตุผล" ในการไตร่ตรอง วางแผน ข้อดีข้อเสีย ทำให้ "เงินเดือนไม่พอใช้" และเมื่อเงินไม่พอใช้ก็กลายเป็นว่า ไม่มีเก็บออม แถมล่วงเลยอาจต้องกู้หนี้ยืมสิ้นจนกลายเป็นการบ่มเพาะการวางแผนทางการเงินที่ล้มเหลวได้ง่าย ๆ กระปุกดอทคอม จึงมียุทธวิธี "ออกจากเงินเดือนที่ไม่พอใช้" จาก เฟซบุ๊ก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) มาแนะนำกันครับ

          8 ยุทธวิธี ออกจากเงินเดือนที่ไม่พอใช้ มีดังนี้

          1. หยุดติดหรู ทุกอย่างต้องเลิศ

          การจับจ่ายที่เกินตัวไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าชั้นนำ ราคาแสนแพง หรืออาหารชั้นเลิศแตะ 300 บาทขึ้นไปในทุกมื้อ ย่อมกลายเป็นการสร้างลักษณะนิสัยจนเสพติดการจับจ่ายแบบไม่ทันคิดอย่างรอบคอบ หรือประมาณตัว ทุกมื้อของการสรรหาของกินอย่าเข้าแต่ร้านอาหารราคาแพง วิธีที่คุณสามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ คุณควรกำหนดวัน หรือช่วงเวลาสังสรรค์ ที่จะเข้าลิ้มรสอาหารสุดหรู และพบปะเพื่อนฝูงแค่เดือนละครั้ง ไม่ใช่ทุกวัน เพราะเงินเดือนที่เพิ่งออกจะถูกดูดไปจนคุณอาจคิดได้เมื่อมันค่อย ๆ ร่อยหรอไม่เหลือถึงสิ้นเดือนถัดไป

          2. ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น รู้จักพอเพียงและเพียงพอ

          "เงินเดือน" ถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่คุณต้องวางแผน จัดสรรปันส่วนตั้งแต่เนิ่น ๆ การจัดทำรายรับร่ายเป็นสิ่งที่คุณจะรู้ว่า เงินแต่ละบาทหมดไปกับสินค้า อาหาร หรือของใช้ต่าง ๆ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือการวางแผนอะไรบ้าง แล้วคุณก็จะรู้ว่าอะไรคือ "สิ่งที่จำเป็น" และการใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น รู้จักพอเพียงต่อสิ่งที่คุณมีอยู่ พยายามวางเป้าหมายของการใช้เงินอย่างไม่ฟุ่มเฟือยจวบจนทำให้คุณติดนิสัยการใช้จ่ายเงินอย่างมีสติ

          3. หยุดงมงาย จนกลายเป็นสร้างหนี้สิน

          "หวย-ล็อตเตอรี่" ใครที่เสพติดหาเลขเด็ด เข้าทุกวัด ไปทุกที่ จ่ายเท่าไหร่ไม่อั้น ขอแค่ได้เสียงโชค เสี่ยงดวง สิ่งเหล่านี้เป็นชนวนก่อให้เกิด "ความงมงาย" ที่จะกลายเป็น "เงา" ตามติดตัวคนที่หลงกล ใช้ชีวิตอย่างขาดสติในการไตร่ตรอง การนำเงินเดือนแบ่งจ่ายไปกับเรื่องดังกล่าวอย่างมีความหวัง และความหวังอาจทำให้คุณก่อหนี้สินอย่างไม่รู้ตัว และเงินเดือนมีเท่าไหร่ก็ไม่พอหากคุณไม่คิดยับยั้งชั่งใจ คุณควรคิดเสียใหม่ ทำงานย่อมมีเงินเสมอ

          4. รู้จักเก็บออม รู้ค่าของเงิน

          คุณต้องรู้จักแบ่งจ่ายเงินเดือนอย่างเป็นสัดส่วน จัดสรรตามความจำเป็น รายได้ รายจ่ายที่เข้ามา และยับยั้งชั่งใจให้มีวินัยในการรักการออม คิดไว้เสมอ การออมเงิน คือ ความอุ่นใจในอนาคต เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะพบสิ่งใด ควรใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

          5. หยุดกู้หนี้นอกระบบ อย่าทำบัตรเครดิตเอาเงินอนาคตมาใช้

          อยากออกจากเงินเดือนไม่พอใช้ อย่าคิดกู้เงินนอกระบบ อย่าทำบัตรเครดิต ลองปรับวิธีคิดใช้จ่ายเงินไม่ฟุ่มเฟือย หากมีบัตรเครดิตก็ควรใช้ในยามฉุกเฉิน และหมั่นทัศนคติการใช้จ่าย ยิ่งมีเดือนน้อยก็อย่าสร้างหนี้จนเกินตัว

          6. มีอาชีพเสริมที่ชอบและถนัด รายได้เล็กน้อยแต่ยั่งยืน

          การมีอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ยิ่งเป็นอีกหนึ่งทางออกที่คุณสามารถจัดการเงินเดือนที่ไม่พอใช้ได้ แถมมีทางเลือกให้คุณได้ออมเงินเพิ่มทดแทนในยามฉุกเฉินอีกด้วย อาชีพเสริมที่ว่า เป็นช่องทางแสนง่ายขอแค่คุณ "คิดและลงมือทำ" โดยวางแผนจากเงินเดือนที่คุณได้รับนั่นแหละ และนำมาต่อยอดธุรกิจเล็กน้อยพอที่จะสร้างกำไรในแต่ละเดือนเพื่อรองรับรายจ่าย หรือปัจจัยด้านอื่น ๆ

          7. หยุดอบายมุข

          เงินเดือนที่ไม่พอใช้ เหตุจากที่คุณกลายเป็นนักดื่ม นักพนัน หมดไปกับค่าเหล้า ค่าบุหรี่ "อบายมุข" ที่ไร้ประโยชน์แต่ดูดเงินในกระเป๋าคุณในแต่ละวันมากพอ แถมพ่วงด้วยโรคร้ายตามมาสั่นคลอนในชีวิต หากคุณหยุดใช้จ่ายไปกับเรื่องดังกล่าวได้ คุณจะรับรู้เลยว่า ยังมีเงินเหลือจากตรงนี้ให้คุณได้เก็บออมและนำไปใช้จ่ายสิ่งที่เกิดประโยชน์

          8. คิดถึงอนาคต เป้าหมายของชีวิต ต้องไขว่คว้า

          "อนาคต" เป็นเรื่องของชีวิต การตั้งเป้าหมาย จุดหมาย เป็นการวางแผนในชีวิตของคุณ เมื่อคุณก้าว พร้อมสานต่อสิ่งที่คุณปรารถนา คุณต้องรู้จักเก็บเงิน และวางแผนเพื่ออนาคตโดยใช้จ่ายเงินอย่างชาญฉลาด การรู้จักจัดสรรปันส่วน บันทึกรายรับรายจ่ายแต่ละเดือน เท่านี้ก็จะทำให้คุณผ่านพ้น และ "ออกจากเงินเดือนไม่พอใช้" อย่างแน่นอน

          จบแล้วสำหรับ 8 ยุทธวิธีการ ออกจากเงินเดือนที่ไม่พอใช้ ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่ใครก็สามารถทำได้ เพียงแค่คุณมีวินัย ชื่นชอบชื่นชมรักในการออม ต่อให้เงินเดือนน้อยนิดแต่หากคุณรู้จักวางแผน รู้จักคุณค่าของเงิน และรู้จักความพอดีของชีวิตคุณแล้วละก็ คุณจะสามารถใช้จ่ายได้อย่างมีความสุขในจำนวนเงินที่ได้รับ แถมมีเงินเหลือเก็บให้ชื่นใจต่อยอดในอนาคตอีกด้วย




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 ยุทธวิธี ออกจากเงินเดือนที่ไม่พอใช้ อัปเดตล่าสุด 17 เมษายน 2557 เวลา 12:07:56 7,008 อ่าน
TOP