เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
คลัง แจง กฎหมายลดภาษีบุคคลธรรมดายังไม่ตก รอลุ้นประกาศใช้ทันปีนี้หรือไม่ มั่นใจ ชัดเจนก่อน 31 ธันวาคม 2556
จากกรณีที่มีประชาชนผู้เสียภาษีเริ่มแสดงความกังวลกันว่า จะไม่สามารถยื่นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2556 ในอัตราใหม่ที่ปรับลดเหลือ 5-35% ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ได้ เนื่องจากรัฐบาลประกาศยุบสภาไปแล้วนั้น
วานนี้ (11 ธันวาคม 2556) นางเบญจา หลุยเจริญ รักษาการ รมช.การคลัง ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวทางนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้เสนอทูลเกล้าฯ ไปตั้งแต่ก่อนมีการยุบสภาแล้ว และได้รับการยืนยันจากฝ่ายกฎหมายของกระทรวงการคลังว่ากฎหมายดังกล่าวยังมีอยู่ในขบวนการประกาศบังคับใช้ กฎหมายไม่ตกไปแม้ว่ารัฐบาลประกาศยุบสภาฯ ไปแล้ว
"ยืนยันว่าแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศยุบสภาฯ แต่ก็จะไม่ส่งผลกระทบกับกฎหมายดังกล่าวให้ตกไปอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้ได้เสนอขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้จึงอยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ ส่วนสุดท้ายที่หลายฝ่ายห่วงว่าจะประกาศใช้ทันภายในปีภาษี 2556 ที่จะต้องยื่นแบบในช่วงต้นปี 2557 หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ คงต้องรอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ" นางเบญจา กล่าว
ด้าน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับรัฐบาลรักษาการเกี่ยวกับการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) เพื่อลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ซึ่งเบื้องต้นหากกฎหมายไม่สามารถประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จนไม่มีผลบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาก็คงต้องยื่นเสียภาษีรายได้ของปี 2556 ที่จะยื่นแบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ในอัตราเก่าไปก่อน
นายรังสรรค์กล่าวอีกว่า การลดภาษีบุคคลธรรมดาจะทันรายได้ปี 2556 หรือไม่ จะมีความชัดเจนก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2556 เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการบริหารภาษีของผู้เสียภาษี
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งออกหนังสือเวียนแจ้งต่อพนักงานว่าการหักเงินเดือนเพื่อจ่ายภาษี ณ ที่จ่ายให้กับกรมสรรพากรของรายได้ปี 2556 ยังต้องใช้อัตราเดิมไปก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าอัตราใหม่จะประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ทันหรือไม่
สำหรับอัตราภาษีบุคคลธรรมดาใหม่จะมีการปรับจาก 5 อัตรา เป็น 7 อัตรา เริ่มตั้งแต่ 5% 10% 15% 20% 25% 30% และ 35% จากอัตราเดิมเริ่มตั้งแต่ 10% 20% 30% 35% และ 37% ซึ่งอัตราภาษีใหม่จะทำให้ภาระของผู้เสียภาษีลดลงราว 50%
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก