เศรษฐกิจหมุนวนไปตามกระแส และตอนนี้ธุรกิจ Startup ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น และด้วยตัวเลขรายได้จากธุรกิจ Startup ที่ค่อนข้างสูง เลยผลักดันให้ธุรกิจเกิดใหม่ชนิดนี้น่าสนใจมากขึ้นทุกขณะ
ธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มมีอิทธิพลในวงเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างธุรกิจ Startup เหตุผลใดที่ทำให้ธุรกิจเกิดใหม่บนโลกออนไลน์นี้จับจองพื้นที่การตลาดได้อย่างรวดเร็ว นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวยจะมาเผยเบื้องลึกของธุรกิจ Startup ให้ได้รู้กัน
Startup เป็นผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยไอเดียที่สด ใหม่ และแตกต่าง เมื่อแปลงออกมาเป็นสินค้าหรือบริการแล้วสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจที่สูงเป็นประวัติการณ์ และสร้างแรงกระเพื่อมให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก Startup มิได้จำกัดเฉพาะโลกของเทคโนโลยี ขอเพียงใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจ หา Business Model ให้เจอ ก็สามารถที่จะทำซ้ำและขยายธุรกิจไปได้ทั่วโลก แม้เจออุปสรรคก็พลิกตัวปรับเปลี่ยนได้ไว ไม่ยึดติด จึงเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด
Startup เริ่มง่าย แต่ก็ตายง่าย แจ้งเกิดหรือล้มเหลวมีแค่เส้นบาง ๆ กั้นอยู่ ทว่าความยิ่งใหญ่ของ Google, Facebook, Alibaba, GrabTaxi หรือแม้แต่ Ookbee Startup พันธุ์ไทย ก็ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากกระโดดลงสนาม Startup เพื่อผลิตความคิดเจ๋ง ๆ ออกมาพลิกโลก ยิ่งคิดใหม่คิดใหญ่ ก็ยิ่งมีคนนำเงินมาให้จำนวนมาก ส่งผลให้ Startup ไทยเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 500 บริษัท
การทำ Startup ทุกวันนี้แม้จะไม่เหนื่อยยากเหมือนในอดีต เพราะ Startup รุ่นไพโอเนียร์ ช่วยกันบุกเบิกปูพรมแดงไว้ให้แล้ว รอเพียงผู้ที่มีจิตวิญญาณแบบ Startup ออกมาเริ่มลุย ล้มแล้วลุกสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับโลกใบนี้เท่านั้น
ความสำเร็จของ Startup ทุกมุมโลก
Google, Facebook, Alibaba บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเหล่านี้ ในอดีตเคยเป็น Startup มาก่อน ผู้ก่อตั้งล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีทรัพย์สมบัติมากมาย มีแต่ไอเดีย ลูกบ้า และเครื่องไม้เครื่องมือในยุคดอทคอมมาช่วยกรุยทางให้ธุรกิจที่อยู่ในหัวออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงด้วยต้นทุนที่ต่ำ และวันนี้ธุรกิจเหล่านั้นก็ได้สร้างมูลค่าให้บริษัทอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น Google สร้างมูลค่าตลาดสูงถึง 12.5 ล้านล้านบาท หรือเกือบเท่า GDP ของประเทศไทย
ชื่อของซิลิคอน วัลเลย์ โด่งดังขึ้นมาในฐานะ “ต้นน้ำ” ของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่ผลิตบุคลากร องค์ความรู้ วิธีคิดแบบ Startup อย่างมีแบบแผน และประสบความสำเร็จมากมาย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น “พิมพ์เขียว” และเกิดการทำซ้ำ ๆ ไปทั่วโลก ส่งผลให้ Startup กลายเป็นเทรนด์ของผู้ประกอบการยุคใหม่ รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน
กลุ่ม Startup ในภูมิภาคอาเซียนเติบโตสูงอย่างน่าจับตา โดยเฉพาะสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่มีองค์ประกอบที่เหมาะสมต่อการตั้ง Startup (Startup Ecosystem) ทั้งทางด้านกฎระเบียบเทคโนโลยี แรงงานด้านไอที โดยมีรัฐบาลเป็นตัวตั้งตัวตี สนับสนุน ทำให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ติดอันดับ 10 จาก 20 เมืองดาวรุ่งธุรกิจใหม่ (Startup) ระดับโลก-อาเซียน ในปี 2558 จากการสำรวจของ Compass
GrabTaxi แอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่สัญชาติมาเลย์ สามารถสร้างมูลค่าบริษัทได้สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนคือ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ตลาด Startup เวียดนามและอินโดนีเซียก็เติบโตตามมาติด ๆ ทำให้แหล่งเงินทุนเริ่มแห่กันมาที่ภูมิภาคอาเซียนแห่งนี้
Startup ไทยมาช้า แต่ก้าวกระโดด
ประเทศไทยเริ่มเห็นเทรนด์การสร้าง Startup ในช่วงปี 2555 ซึ่งถือว่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซียกว่า 10 ปี แต่ก็สร้างอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด รวดเร็วจนแหล่งเงินทุนต่างชาติต้องเหลียวกลับมามอง
ในปี 2557 Startup ไทยสามารถระดมทุนรวมกันได้ทั้งปีอยู่ที่มูลค่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังไม่นับรวมที่ขายไป แต่ในปี 2558 ผ่านไปเพียงครึ่งปีระดมทุนไปแล้ว 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับตลาด Startup เมืองไทยเติบโต 2 เท่าทุกปี
นอกจากนี้ยังมี Startup ไทย 2 บริษัท คือ Ookbee และ aCommerce ที่สร้างมูลค่าบริษัทสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
แม้วันนี้ Startup ไทยจะยังไม่ติดอันดับใด ๆ ในอาเซียนหรือเอเชีย แต่คนในแวดวง Startup ต่างเชื่อตรงกันว่า หากปีหน้ามีการจัดอันดับใหม่ ประเทศไทยเราจะต้องปักหมุดอยู่ในอันดับต้น ๆ แบบไม่อายใคร
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 500 Startup และมีความหลากหลายของธุรกิจสูง ทั้ง Hardware, Software, Web, Mobile Application, Lifestyle Business และ B2B ซึ่งแม้เม็ดเงินมหาศาลจะจูงใจให้คนรุ่นใหม่หลั่งไหลเข้ามาเป็น Startup แต่อัตราความล้มเหลวก็มีสูงถึง 80-90% เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี Startup ไทยมีบุคลิกเฉพาะที่แตกต่าง คือ ความเกื้อกูลกันในกลุ่ม Startup ประสาพี่ช่วยน้อง น้องถามหาพี่ส่งผลให้ Startup ไทยเรียนรู้และเติบโตขึ้นมาภายใต้ Ecosystem ที่เป็นธรรมชาติ มิได้มีการใส่ปุ๋ยเร่งผลแต่อย่างใด
ระดมทุนแบบร่วมลงทุน (Venture Capital)
ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ Startup ต้องการเงินทุน เพื่อมาผลักดันธุรกิจให้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ โดยอาจเริ่มต้นจากเงินส่วนตัว หรือชวนเพื่อนฝูงมาร่วมลงทุน แต่ท้ายที่สุดก็มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนก้อนใหญ่ขึ้น เพื่อให้ธุรกิจพัฒนา เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ความเล็กและใหม่ของธุรกิจ ทำให้ผู้ให้กู้ในระบบมองว่ามีความเสี่ยงสูง จึงไม่ค่อยมีเงินทุนตกถึง Startup
Venture Capital (VC) คือ หนึ่งในแหล่งทุนทางเลือกที่ Startup มองหา ซึ่งมีทั้งกลุ่มองค์กร หรือกองทุนร่วมลงทุนที่ต้องการนำเงินที่มีอยู่มาร่วมลงทุนกับ Startup ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยแลกกับสัดส่วนของหุ้น รวมถึงอำนาจในการตัดสินใจต่าง ๆ ระยะเวลาการลงทุนมักจะอยู่ที่ 3-5 ปี แต่การจะได้เงินมา Startup ก็ต้องมีโปรดักส์ให้เห็น หรืออย่างน้อยมี Prototype พร้อมกับจำนวนผู้ใช้มากพอในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน Business Model ที่เป็นไปได้ Financial Projection ที่สมเหตุสมผล ถึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและดึงดูดเงินทุนให้เข้ามาได้
บริษัท Startup ใหญ่ ๆ ในต่างประเทศล้วนผ่านการเติบโตจากเงินทุนของ VC ทั้งนั้น เช่น Google, Facebook สำหรับ Startup ไทยหลายรายก็สามารถระดมทุนได้สำเร็จจาก VC ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น aCommerce ล่าสุดก็ระดมเงินทุนในระดับ Series A ได้ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Ardent Capital, Sinarmas และ Inspire Ventures
ทั้งนี้ การระดมทุนของ Startup ส่วนใหญ่จะมีรอบชัดเจน ใส่ตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ อย่าง Seed Fund และใส่ระดับความมหาศาลของเม็ดเงินลงทุนไปที่ Series A, B, C โดยการระดมทุนแต่ละรอบมีวัตถุประสงค์บอกไว้เลยว่าต้องการเงินเท่าไร เอาไปทำอะไร เพื่อให้นักลงทุนพิจารณาให้เงิน อย่าง aCommerce ก็ชัดเจนว่าจะนำเงินทุนไปเพิ่มขนาดแวร์เฮ้าส์ พัฒนาแพลตฟอร์มให้แข็งแกร่ง และเพิ่มทีมงานกว่า 300 ชีวิต
ในปี 2556 มีการประมาณการว่า Startup ทั่วโลกมีการระดมทุนแบบ Seed Funding (ค้นหาจุดที่ลงตัวระหว่างผลิตภัณฑ์/บริการของคุณกับผู้ใช้งาน) รวมกันกว่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 51,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าเม็ดเงินลงทุนในกลุ่ม VC จะโยกมาลงทุนในธุรกิจ Startup ในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น และสำหรับประเทศไทย คาดว่าจะมีเงินลงทุนใน Startup ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
อุปสรรคดับฝัน Startup ไทย
แม้จะเป็นช่วงขาขึ้นของ Startup ไทย แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเราแล้ว ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมี Startup เกิดขึ้นน้อยมาก อันเนื่องมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
ผลิตภัณฑ์ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น 2 ปีที่แล้ว Startup ผลิตแอพพลิเคชั่นออกมาเต็มไปหมด ปรากฏว่าไม่มีคนใช้ การทดสอบโปรแกรมเหมือนโยนหินลงไปในน้ำ ไม่มีฟีดแบ็คกลับมา จึงไม่สามารถดึงดูดใจนายทุนให้มาร่วมลงทุนได้
การเข้าถึงแหล่งทุน Startup มีทุนรอนไม่เพียงพอที่จะพัฒนาโปรดักส์ ขยายตลาด ในอดีต Startup ต้องวิ่งหาทุนด้วยตัวเอง ด้วยการหาเวทีใหญ่ ๆ นำเสนอผลงานในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเริ่มมีทางเลือกมากขึ้น
มองแต่ตลาดในประเทศ Startup ทำโปรดักส์ที่มุ่งแก้ปัญหาคนไทยอย่างเดียว ย่อมยากจะเติบโต เพราะตลาดในประเทศเล็กเกินไป ต้องทำในสิ่งที่สามารถขยายออกไปได้ทั่วโลก
ขาดทักษะภาษาอังกฤษ ถือเป็นจุดอ่อนของคนไทยส่วนใหญ่ หาก Startup มีทักษะทางภาษาอังกฤษค่อนข้างดี ย่อมได้เปรียบในการเรียนรู้ เพราะองค์ความรู้เกี่ยวกับ Startup มักเป็นภาษาอังกฤษ ขณะเดียวกันความเชี่ยวชาญทางภาษายังช่วยกรุยทางไปขยายตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
การสนับสนุนจากภาครัฐ ต้องยอมรับว่าการเติบโตของ Startup ไทย เกิดจากการที่พี่ช่วยน้อง ภาคเอกชนช่วยกันล้วน ๆ แต่หากจะเพิ่มปริมาณและคุณภาพของ Startup รัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น มีมาตรการจูงใจให้ VC เข้ามาร่วมลงทุน ทำให้เกิดการระดมทุน หรือ Crowdfunding ส่งเสริมให้ Startup ออกไปนอกประเทศ หรือทำให้การ Co-Founders กับต่างประเทศง่ายขึ้น เป็นต้น
แม้ตอนนี้ Startup ไทยจะยังเล็กมาก แต่ Startup คือธุรกิจอนาคต และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจดิจิตอล หากรัฐบาลใส่ใจให้การสนับสนุน Startup ในทิศทางที่ถูกต้อง เท่ากับเป็นการลงทุนสร้างอนาคต อีก 10 ปีข้างหน้าธุรกิจ Startup จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากบ่วงของการเป็นผู้รับจ้างผลิต ซึ่งแข่งขันกันที่ต้นทุน เพราะความแตกต่างของสินค้าน้อย เนื่องจาก Startup แข่งขันกันสร้างประสบการณ์ (Experience) และการนำเสนอคุณค่า (Value Proposition)
ระดมทุนมวลชน Crowdfunding
Crowdfunding หรือการระดมทุนจากมวลชน ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ Startup ให้ความสนใจ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ง่ายกว่า ต้นทุนการระดมทุนต่ำกว่า และใช้เวลาสั้นกว่าการขอกู้เงินจากธนาคาร หรือ Venture Capital
ในปี 2557 ตลาดทุน Crowdfunding ทั่วโลกมีมูลค่าสูงกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการเติบโตสูงถึง 1,000% โดยเว็บไซต์ที่โด่งดังและใหญ่ที่สุดในโลกด้าน Crowdfunding คือ Kickstarter
ความจริง Crowdfunding นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เพียงแต่ Crowdfunding Plattorm สัญชาติไทยส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปแบบการให้คืนเป็นรางวัล (Rewards) และการบริจาค (Donation) เช่น Afterword เปิดโอกาสให้นักเขียนระดมทุนผลิตหนังสือจากคนอ่านโดยตรง โดยเปิดระดมทุนครั้งแรกกลางปี 2557 สามารถระดมทุนได้ 1.2 ล้านบาท ภายในเวลา 9 เดือน มีการผลิตหนังสือแล้ว 8 เล่ม หรือ Taejai จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการช่วยเหลือกลุ่มคนที่อยากทำเรื่องดี ๆ เพื่อสังคม ปัจจุบันมีสมาชิก 8,000 คน มีสมาชิกสนับสนุนโครงการต่าง ๆ 2,400 คน เป็นเงิน 6.7 ล้านบาท ให้กับโครงการสร้างสรรค์ 80 โครงการเป็นต้น
แต่จากนี้ไปคาดว่า Startup ไทย จะเห็น Crowdfunding Platform แบบ Equity ที่ให้ผลตอบแทนเป็นหุ้นมากขึ้น เช่น Dreamaker ที่เปิดกว้างให้ Startup SME ศิลปินและครีเอทีฟสามารถนำโปรเจกต์ของตัวเองมาโพสต์บนเว็บไซต์แล้วเปิดระดมทุนจากคนทั่วไป เพื่อนำเงินที่ได้ตามเป้าหมายไปทำธุรกิจหรือผลงานนั้นให้สำเร็จออกมาจริง ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โดย สุภาวดี ใหม่สุวรรณ์