x close

รัฐหั่นภาษี !! หนุนแบงก์ไทย ควบรวมกิจการ

ควบรวมธนาคาร
ภาพจาก Sarunyu L / Shutterstock.com

          ครม. ไฟเขียวมาตรการทางภาษี ยอมสูญรายได้ 600-1,400 ล้านบาท จูงใจธนาคารพาณิชย์ควบรวมกิจการ ปูทางธนาคารไทยแข่งขันต่างประเทศได้ 

          วันที่ 17 เมษายน 2561 นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการจูงใจธนาคารพาณิชย์ในไทย ควบรวมกิจการให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศได้ ผ่านการสนับสนุนด้านภาษี ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์

          ทั้งนี้ การจูงใจให้ธนาคารไทยควบรวมกิจการ เพื่อต้องการส่งเสริมให้สามารถแข่งขันในภูมิภาคได้ เพราะเมื่อเทียบธนาคารพาณิชย์ไทยกับประเทศในอาเซียนแล้ว พบว่า ธนาคารในไทยยังต้องพัฒนาทั้งในเชิงประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของไทยมีสินทรัพย์ ประมาณ 3 ล้านล้านบาท น้อยกว่ามาเลเซียที่มีขนาดทรัพย์สินถึง 4 ล้านล้านบาท จึงต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น
          โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันการเงิน 5 แห่ง ที่มีทรัพย์สินเกิน 1.5 ล้านล้านบาท ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นอกนั้นเป็นสถาบันการเงินที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาททั้งหมด

          สำหรับมาตรการส่งเสริมทางภาษี ได้แก่ กรณีธนาคารพาณิชย์ควบรวมกันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน จะได้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับผู้ถือหุ้น และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้กับธนาคารพาณิชย์

          นอกจากนี้ ยังยกเว้นภาษีเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ใช้จ่ายเพื่อการลงทุน โดยหากสินทรัพย์หลังควบรวมกันแล้วเกิน 4 ล้านล้านบาท ให้หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า, สินทรัพย์ระหว่าง 3-4 ล้านล้านบาท หักได้ 1.75 เท่า, สินทรัพย์ระหว่าง 2-3 ล้านล้านบาท หักได้ 1.5 เท่า และสินทรัพย์ระหว่าง 1-2 ล้านล้านบาท หักได้ 1.25 เท่า โดยจะสามารถใช้สิทธิพิเศษเหล่านี้ได้ตั้งแต่วันที่เข้าควบรวมกิจการ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

          อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง คาดว่าจากมาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีประมาณ 600-1,400 ล้านบาท แต่จะชดเชยด้วยการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้น เช่น การลงทุนปรับปรุงระบบคอร์แบงกิ้งและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศประมาณ 3,000- 7,000 ล้านบาทต่อรายที่ควบรวมกิจการ


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รัฐหั่นภาษี !! หนุนแบงก์ไทย ควบรวมกิจการ อัปเดตล่าสุด 18 เมษายน 2561 เวลา 15:39:00 3,369 อ่าน
TOP