x close

ครม. ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดมีผลมกราคม ปี 60





          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผย ครม. มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เตรียมเสนอกฤษฎีกาพิจารณา คาดบังคับใช้มกราคม 2560 เชื่อ อปท. มีรายได้เข้ากระเป๋ากว่า 64,000 ล้านบาท

          วานนี้ (7 มิถุนายน 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอแทน พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งหลังจากนี้จะนำหลักการดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมาย และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตรวจพิจารณาออกเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อ ซึ่งหากไม่มีการปรับแก้ไข คาดว่าจะมีการบังคับใช้ให้ทันภายในเดือนมกราคม 2560
          ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและทำให้เกิดความเป็นธรรมในการเก็บภาษีมากขึ้น รวมถึงท้องถิ่นจะมีเม็ดเงินรายได้ภาษีเข้ามาบริหารจัดการได้มากขึ้น โดยจะมีรายได้เฉลี่ย 64,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม ประชาชน ร้อยละ 99.96 จะไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี และจะไม่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเสียภาษีที่อยู่อาศัยที่จะเกิน 50 ล้านบาท ที่มีจำนวนเพียง 8,556 หลัง หรือ ร้อยละ 0.04 ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่กรุงเทพ ฯ และเมืองใหญ่



          สำหรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

          1. ยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508

          2. ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ

          3. หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้จะเป็นของ อปท. ที่ทำหน้าที่จัดเก็บ

          4. ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด

          5. ฐานภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคิดคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดตามราคาประเมินทุนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

          6. อัตราภาษีที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ จะเป็นอัตราสูงสุดที่จะจัดเก็บภาษีจากผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะจัดแบ่งอัตราภาษีดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ในที่ดิน คือ

          (1) กรณีใช้เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.2
          (2) กรณีใช้เพื่อเป็นที่พักอาศัย ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 และ
          (3) กรณีใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ (เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น) ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 2 ในส่วนของที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน กำหนดอัตราภาษีสูงสุดในกฎหมายให้ อปท. เรียกเก็บภาษีสำหรับที่ดินดังกล่าวในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานภาษี



          7. ยกเว้นภาษีให้แก่ทรัพย์สินบางประเภท เช่น สาธารณสมบัติ ทรัพย์สินของรัฐที่ไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์ ทรัพย์สินของสถานทูต ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและที่ดินสาธารณูปโภคของโครงการจัดสรรที่มิได้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทรัพย์สินของเอกชนที่ได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และบ้านพักอาศัยหลักในส่วนที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็นต้น

          8. อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา โดยกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้นตามมูลค่าของฐานภาษี ดังนี้

          (1) เกษตรกรรม ตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี
          (2) ที่พักอาศัยหลัก ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่ร้อยละ 0.05 ถึงร้อยละ 0.1 และที่พักอาศัยหลังอื่น ตั้งแต่ร้อยละ 0.03 ถึงร้อยละ 0.3 ของฐานภาษี
          (3) ประเภทอื่น ๆ ตั้งแต่ร้อยละ 0.3 ถึงร้อยละ 1.5 ของฐานภาษี
          (4) ที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดินจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ตั้งแต่ร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 3 ของฐานภาษี โดยปีที่ 1-3 จะเก็บร้อยละ 1 ปีที่ 4-6 จะเก็บร้อยละ 2 และปีที่ 7 ขึ้นไป จะเก็บร้อยละ 3



          9. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการบรรเทาภาระให้กับเจ้าของบ้านพักอาศัยหลักที่ได้มาจากการรับมรดก ผู้ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินที่มีอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ และกิจการสาธารณะ ดังนี้
  
          (1) ในกรณีที่เจ้าของบ้านพักอาศัยหลักได้รับกรรมสิทธิ์บ้านหลังดังกล่าวมาจากการรับมรดกก่อนที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะมีการบรรเทาภาษีให้ โดยการลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย         
          (2) ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเป็นเวลา 1 ปี ให้กับที่ดินที่อยู่ระหว่างการปลูกสร้างบ้านที่เจ้าของใช้เป็นบ้านของตนเอง
          (3) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี สำหรับที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อจัดทำเป็นโครงการที่พักอาศัยเพื่อขาย ที่นิติบุคคลที่ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์เป็นเจ้าของ เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่เจ้าของที่ดินได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน          
          (4) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี สำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ของสถาบันการเงิน เป็นระยะเวลา 5 ปี
          (5) ให้ลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย สำหรับกิจการสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล และโรงเรียน เป็นต้น



          10. นอกจากนี้กฎหมายยังให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นสามารถขอความเห็นชอบจากคณะ กรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อลดหรือยกเว้นภาษีให้กับเจ้าของอาคาร บ้านเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ เช่น เกิดภัยพิบัติ หรืออาคาร บ้านเรือนเกิดเสียหายหรือถูกทำลาย



ติดตามข่าว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งหมด คลิกเลย


ภาพจาก

 

ข้อมูลจาก สำนักข่าว INN,



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครม. ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดมีผลมกราคม ปี 60 อัปเดตล่าสุด 9 มิถุนายน 2559 เวลา 12:02:44 4,455 อ่าน
TOP