x close

กม.ทวงถามหนี้ ผ่าน สนช. แล้ว ชี้ห้ามข่มขู่-ทวงผิดเวลา


กม.ทวงถามหนี้ ผ่าน สนช. แล้ว ชี้ห้ามข่มขู่-ทวงผิดเวลา
กม.ทวงถามหนี้ ผ่าน สนช. แล้ว ชี้ห้ามข่มขู่-ทวงผิดเวลา


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            กฎหมายทวงถามหนี้ผ่าน สนช. แล้ว ชี้คนทวงหนี้ต้องขึ้นทะเบียนกับมหาดไทย ห้ามใช้ข่มขู่ลูกหนี้-ทวงไม่เป็นเวลา และห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับทวงหนี้เด็ดขาด ฝ่าฝืนเจอโทษหนัก

            วันที่ 2 มกราคม 2558 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่อง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ระบุว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 3 วาระแล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2558 นี้

            นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า เมื่อ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ก็จะช่วยให้ลูกหนี้ได้รับการคุ้มครองจากการทวงหนี้จากเจ้าหนี้ หรือผู้ทำหน้าที่แทนในการทวงหนี้มากขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ สนช. ยังได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมจากเดิมที่ให้ผู้ทวงหนี้ในระบบต้องมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลังเท่านั้น โดยเพิ่มให้ผู้ทวงหนี้นอกระบบ ทั้งบุคคลและนิติบุคคลที่ไม่มาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง ต้องไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ด้วย เพื่อให้การกำกับดูแลการทวงถามหนี้ได้ทั้งระบบ และในการทวงถามหนี้ต้องทำอย่างเป็นธรรมนั้น

            สำหรับข้อห้ามที่ระบุไว้ในร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีดังนี้

                  1. ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ติดต่อบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสถานที่ติดต่อลูกหนี้

                  2. ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ กระทำการในลักษณะที่เป็นการละเมิด และคุกคาม ในการติดตามทวงถามหนี้ อาทิ ใช้ความรุนแรง ใช้วาจา หรือภาษาดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี การเปิดเผยความเป็นหนี้ของผู้บริโภคแก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

                  3. ห้ามติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงการติดต่อทางโทรศัพท์วันละหลายครั้ง และก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ

                  4. ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้กระทำการในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในการติดตามทวงหนี้ เช่น ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดี รัฐ หน่วยงานของรัฐ ทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย ทำให้เชื่อว่าหากไม่ชำระหนี้จะถูกดำเนินคดี ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ข่มขู่ว่าจะดำเนินการใด ทั้งที่ไม่มีอำนาจจะกระทำได้ตามกฎหมาย

                  5. ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ ติดตามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม อาทิ เรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ เว้นแต่ได้มีการตกลงไว้ล่วงหน้า ติดต่อลูกหนี้เกี่ยวกับหนี้โดยทางไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก หรือโทรสาร ใช้ภาษา สัญลักษณ์ ชื่อทางธุรกิจ บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการติดตามทวงถามหนี้ ส่วนการติดต่อกับลูกหนี้นั้น ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้แจ้งไว้ ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อได้ โดยได้พยายามตามสมควรแล้ว ให้ถือเอาสถานที่ติดต่ออื่น เป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการติดต่อได้

            สำหรับการติดต่อลูกหนี้ทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือติดต่อบุคคล สำหรับวันทำการให้ติดต่อได้ในเวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการติดต่อได้ในเวลา 08.00-18.00 น. เว้นแต่ได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร

            ขณะที่บทกำหนดโทษในกรณีที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

                  1.  โทษทางปกครองจะถูกปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ตามมาตรา 24

                  2. โทษทางอาญาจะถูกเพิกถอนการจดทะเบียน และจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งถือว่าเป็นการลงโทษขั้นสูงสุด รวมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานด้วย
 
 
 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กม.ทวงถามหนี้ ผ่าน สนช. แล้ว ชี้ห้ามข่มขู่-ทวงผิดเวลา อัปเดตล่าสุด 5 มกราคม 2558 เวลา 09:39:16 2,295 อ่าน
TOP