x close

พลิกชีวิต แจ๊ค หม่า กับธุรกิจ Alibaba ในมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้

พลิกชีวิต แจ๊ค หม่า กับธุรกิจ Alibaba ในมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้
ภาพประกอบจาก JEWEL SAMAD / AFP
พลิกชีวิต แจ๊ค หม่า กับธุรกิจ Alibaba ในมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

         แจ๊ค หม่า อาจเป็นชื่อที่หลายคนไม่คุ้นเคยนักหากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน แต่ในปัจจุบัน แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Alibaba ก็กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมีอิทธิพลในแวดวงธุรกิจระดับโลกไปแล้ว หลังจากเขาก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่่สุดในจีน

         โดยหุ้น BABA ในตลาดหลักทรัพย์ กลายเป็นหุ้น IPO ที่มีราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ พร้อมกวาดรายได้หลังปิดตลาดไปกว่า 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเขี่ย eBay จนตกบัลลังก์ แต่จะมีใครรู้บ้างว่ากว่าเขาจะเดินทางมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และมีปัญหามากมายที่เขาต้องฝ่าฝัน ทั้งในเรื่องครอบครัว หน้าที่การงาน รวมไปถึงการก่อตั้งบริษัท ซึ่งในวันนี้ทุกคนก็จะได้รู้ไปพร้อม ๆ กัน กับหลากหลายเรื่องราวของ แจ๊ค หม่า และบริษัท Alibaba ในอีกแง่มุมที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

1. เคยล้มเหลวในเรื่องการเรียนมาหลายครั้ง

         แม้ในตอนนี้ แจ๊ค หม่า จะเป็นคนที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จคนหนึ่ง แต่ทว่าเรื่องการเรียนในวัยเด็กของเขากลับไม่เอาไหนเสียเลย เพราะเขาทั้งซ้ำชั้นอนุบาลนานถึง 7 ปี แถมยังสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ผ่านถึง 2 ครั้ง แต่โชคดียังมีอยู่บ้าง เพราะเขาชอบภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิม ก็เลยส่งผลให้เขาได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยครูหางโจว และกลายเป็นครูสอนภาษาอังกฤษหลังจากจบการศึกษา ก่อนที่จะหันมาทำธุรกิจออนไลน์จนรวยเละในปัจจุบัน

 2. เคยตกงานอย่างหนัก แม้แต่ KFC ยังไม่รับ

         ก่อนที่ แจ๊ค หม่า จะก่อตั้ง Alibaba ในอพาร์เม้นท์เล็ก ๆ แห่งหนึ่งของจีนร่วมกับเพื่อนอีก 17 คน ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นคนตกงานที่แม้แต่ KFC ก็ยังไม่รับเข้าทำงาน กระทั่งได้เป็นล่ามในปี 2538 อาชีพที่ทำให้เขาได้เดินทางไปสหรัฐฯ และรู้จักกับอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในระหว่างการเยี่ยมชมซิลิคอนวัลเลย์ จุดที่ทำให้อดีตครูสอนภาษาอังกฤษคนหนึ่งกลายเป็นมหาเศรษฐีอีก 15 ปีต่อมา

 3. เริ่มทำธุรกิจด้วยเงินเพียง 5 แสนหยวน

         ถึงแม้ตอนนี้บริษัท Alibaba จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในตอนนี้อยู่ในระดับพันล้าน แต่กลับเป็นบริษัทที่เริ่มก่อตั้งด้วยเงินทุนเพียง 5 แสนหยวน (ประมาณ 2 ล้านบาท) กับกำลังคนเพียง น้อยนิด อีกทั้งเสียงส่วนใหญ่ยังบอกให้เขาเลิกล้มความคิดนี้เสีย ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ เช่น เขาไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต หรือควรจะมีเงินทุนมากกว่านี้ เป็นต้น มีเพื่อนเพียงคนเดียวของเขาเท่านั้นที่บอกให้เขาลองทำดู และแล้ววันที่เขาประสบความสำเร็จก็มาถึง เพราะเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นที่ตั้ง แถมยังประสบความสำเร็จมากเสียด้วย

 4. มี ฟอร์เรสท์ กัมพ์ เป็นบุคคลต้นแบบ

         หลาย ๆ คนอาจมีนักธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วเป็นแบบอย่าง แต่สำหรับ แจ๊ค หม่า กลับมีตัวเอกจากภาพยนตร์เรื่อง ฟอร์เรสท์ กัมพ์ เป็นต้นแบบ โดยเขาเผยว่าเขาชอบผู้ชายแบบนี้มาก และดูภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสิบ ๆ รอบ ทุกครั้งที่เขารู้สึกท้อแท้ เพราะตัวละครทำให้เขาได้รู่ว่า ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไป คุณก็ยังเป็นคุณคนเดิม ผมยังเป็นผู้ชายโง่ ๆ คนหนึ่งเหมือน 15 ปีก่อน ที่มีรายได้เพียง 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และถึงแม้จะประสบความสำเร็จพร้อมกับกลายเป็นมหาเศรษฐีในเวลาต่อมา แต่กัมพ์ก็ยังให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และการช่วยเหลือคนอื่นมากกว่าเงินทอง อีกทั้งยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากในโลกของธุรกิจ

 5. ยังรู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจที่ผิดพลาด

         ถึงแม้ตอนนี้เขาจะมีกำลังมากพอที่จะนำบริษัททำกำไรได้มหาศาล แต่ในอดีตตัวเขาเองก็เคยตัดสินใจพลาดเช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องที่ทำให้เขารู้สึกเสียดายมากที่สุดก็คือ ในปี 2544 เขาบอกกับผู้ร่วมก่อตั้งว่า ตำแหน่งสูงสูดของพวกเขาอยู่ในระดับผู้จัดการเท่านั้น โดยจะจ้างคนภายนอกมาดำรงตำแหน่งรองประธาน และตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอื่น ๆ ทำให้ในปีถัดมาคนเหล่านั้นกลับพากันลาออก ส่วนคนที่เขาไม่แน่ใจในความสามารถ ก็กลายมาเป็นรองประธานหรือผู้อำนวยการในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เขารู้ว่า ทัศนคติสำคัญกว่าความสามารถ เช่นเดียวกับความสำคัญของการตัดสินใจนั่นเอง

 6. เอาชนะยักษ์ใหญ่อย่าง eBay มาแล้ว


         หลังจากที่ แจ๊ค หม่า เปิดตัว Taobao ไปในปี 2546 ปรากฏว่า อีก 2 ปีถัดมา Taobao มีสัดส่วนของผู้ใช้บริการซื้อของออนไลน์ในตลาดถึง 70% จนทำให้ในปี 2549 eBay ต้องประกาศปิดตัวและถอนตัวออกจากตลาดจีนในที่สุด ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้  eBay มีสัดส่วนของผู้ใช้บริการมากถึง 85% เลยทีเดียว

 7. มั่นคงได้ด้วยธุรกิจแบบครบวงจร

         สิ่งที่ทำให้ Alibaba ครองความนิยมมาจนถึงตอนนี้ ไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาเปิดบริการให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าไปขายสินค้าและเลือกซื้อของทั้งในเว็บไซต์ Taobao และTmall เท่านั้น แต่ยังมี Alipay บริการรับ-ส่งเงินที่ใช้ระบบแบบเดียวกับ PayPal ทางฝั่งอเมริกาอีกด้วย ก็เลยทำให้มียอดขายสูงกว่า 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.75 แสนล้านบาท) เลยทีเดียว

 8. ธุรกิจก้าวไปอีกขั้นหลังเปิดตัวหุ้น BABA

         สำหรับหุ้น BABA ในตลาดหลักทรัพย์ก็ยังแสดงให้เห็นว่า แม้จะไม่ได้กำเนิดมาจากซิลิคอนวัลเลย์ แต่ก็เป็นหุ้นไอทีที่มีมูลค่าสูงทีเดียว โดยเปิดราคาที่ 68 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น และปิดที่ประมาณ 93 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกวาดรายได้ไปกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.1 แสนล้านบาท) แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง Visa ที่เคยได้ถึ 17.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท) ไปมากทีเดียว

 9. ไม่มองแค่ความสำเร็จที่อยู่ตรงหน้า

         แม้จะก้าวข้ามความสำเร็จมาแล้วแต่ทว่า แจ๊ค หม่า กลับไม่หยุดเพียงแค่นั้น เพราะหลังจากนี้เขาต้องการพัฒนา Alibaba ให้ยิ่งใหญ่กว่า Walmart ของอังกฤษอีกด้วย

 10. ใส่ใจทั้งเรื่องธุรกิจและคนรอบตัว

         นอกจาก แจ๊ค หม่า จะบริจาคเงินให้กับผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนแล้ว เขายังนำเงินส่วนหนึ่งไปช่วยโครงการที่ทำเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ยารักษาโรค และการศึกษา กระทั่งได้เป็นประธานของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงผลกำไรอีกด้วย หลังจากที่เขาต้องสูญเสียพ่อบุญธรรมไปด้วยโรคมะเร็ง ที่เกิดจากมลพิษ


         และนี่คือเรื่องราวของ แจ๊ค หม่า ที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้ และหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่มีฝันหลาย ๆ คน กล้าที่จะก้าวออกจากความกลัวและกรอบเดิม ๆ ของตัวเอง เพื่อทำความฝันเหล่านั้นให้เป็นจริงกันนะครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พลิกชีวิต แจ๊ค หม่า กับธุรกิจ Alibaba ในมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้ อัปเดตล่าสุด 30 กันยายน 2557 เวลา 14:35:42 3,634 อ่าน
TOP