x close

เจาะลึกกองทุน LTF/RMF สำคัญอย่างไร ?

เจาะลึกกองทุน LTF/RMF
เจาะลึกกองทุน LTF/RMF สำคัญอย่างไร ?

LTF/RMF สำคัญไฉนกับสังคมไทย เรื่องจริงที่ใคร ๆ ควรต้องรู้ (การเงินการธนาคาร)

          เมื่อทดลองนำเงินที่ได้รับการลดหย่อนภาษีมาคิดเป็นสัดส่วนเทียมกับจำนวนภาระภาษีเดิมแล้ว ปรากฏว่า "คนรวย" กลับประหยัดภาษีได้น้อยกว่ากลุ่มอื่น จึงสรุปได้ว่า "จำนวนเงินภาษีที่ประหยัดได้" จากกองทุน LTF และ RMF ไม่ได้ส่งผลให้ความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเปลี่ยนแปลงไป

          สืบเนื่องจากประเด็นที่กรมสรรพากรเตรียมทบทวนปรับปรุงรายการลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 20 รายการ ให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและโครงสร้างของสังคมโดยให้ความธรรมต่อผู้ที่มีรายได้น้อย และเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษี ซึ่งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลง สมาคมบริษัทจัดการลงทุน จึงมีมุมมองที่จะนำเสนอข้อมูลแง่มุมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ไขกุญแจจุดเริ่มต้น LTF / RMF

          กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)

          เกิดขึ้นตามติดคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 ตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย และมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศ อันจะส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีเสถียรภาพยิ่งขึ้นในระยะยาว ลดความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์จากแรงซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมแนวคิดการลงทุนระยะยาวในหุ้น

          เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการลุงทุนในกองทุนรวม LTF รัฐบาลจึงได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยกำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF สามารถหักลดหย่อนได้ถึงปี 2559 เป็นปีสุดท้าย

          กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

          เป็นกองทุนรวมที่เกิดขึ้นในปี 2544 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมแบบผูกพันระยะยาวเพื่อคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กช.) เพื่อให้มีหลักประกันสำหรับตนเองและครอบครัวในยามเกษียณอายุ เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่าประชากรผู้สูงอายุหลังเกษียณจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในอนาคต และหากประชาชนกลุ่มนี้ไม่สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ก็จะเป็นภาระสังคม

          ดังนั้นรัฐบาลจึงส่งเสริมให้มีการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุน เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนเพิ่มการออมระยะยาวเพื่อตนเองให้มากขึ้น

          เมื่อวิเคราะห์ประโยชน์ของกองทุน LTF และ RMF ประการแรก ประชาชนที่อยู่ในระบบภาษี จากข้อมูลจากกรมสรรพากรในปี 2553 (ข้อมูลที่มีการเปิดเผยล่าสุด) แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ลูกจ้างหรือมนุษย์เงินเดือน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยมีคนที่รายได้เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี 2,574,561 คน จากผู้ยื่นแบบเสียภาษีทั้งหมด 9,373,361 คน

          ถ้าวิเคราะห์ถึงประโยชน์ที่ประชาชนในระบบภาษีได้รับจากการลงทุนใน LTF กับ RMF ประเด็นหลักเป็นเรื่องได้รับการลดหย่อนภาษี ซึ่งจะนำไปสู่การบริโภคการออมที่เพิ่มมากขึ้น มีโอกาสรับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น รวมถึงการมีทัศนคติที่ถูกต้องในการออมระยะยาวประกอบกับมีความรู้ด้านการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) ทำให้สามารถวางแผนการลงทุนได้เหมาะสมกับอายุ และความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ นำไปสู่โอกาสในการสร้างหลักประกันที่มั่นคงสำหรับตนเองและครอบครัวเมื่อเกษียณ ถือเป็นความรู้เรื่องทางการเงิน (Financial Literacy) ของสังคมในภาพรวม

          อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะเพิ่มความมั่งคั่งในระยะยาว ทำให้มีชีวิตที่มั่นคงมากขึ้นสามารถอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีไม่เป็นภาระทางสังคมเมื่อเกษียณแล้ว และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเก็บออมเพื่อเตรียมเกษียณระหว่างมนุษย์เงินเดือน รวมถึงผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีกองทุนเพื่อการเกษียณภาคบังคับเทียบกับข้าราชการที่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นภาคบังคับ และเงินสะสมลดหย่อนภาษีได้

          นอกจากนี้จะทำให้ข้าราชการและพนักงานเอกชนจะได้โอกาสการออมเพิ่มเติม เนื่องจากเงินสะสมจากการออมดังกล่าวมีโอกาสสูงมากที่จะไม่เพียงพอในการดำรงชีวิตในยามเกษียณในอนาคต

          ด้านประโยชน์ประการที่สองของกองทุน LTF และ RMF เป็นผลดีต่อตลาดทุนไทยทำให้ตลาดหุ้นมีเสถียรภาพดีขึ้น เนื่องจากสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบันในประเทศที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเป็นผู้ลงทุนระยะยาว ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่ผันผวนตามแรงซื้อขายด้วยความตื่นตระหนกของนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนรายย่อย รวมถึงตลาดตราสารหนี้ก็สามารถระถมเงินลงทุนในระยะยาวสะดวกขึ้น และเสริมเสถียรภาพความเข้มแข็งของระบบการเงินไทย

          และประการสุดท้ายเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและประเทศชาติ ทำให้รัฐมีรายได้ภาษีสูงขึ้นทางอ้อม เนื่องจากประชาชนที่ได้รับการลดหย่อนภาษีนำเงินที่ได้บางส่วนกลับไปใช้จ่าย และภาคสังคมก็ความเข้มแข็งขึ้น เนื่องจากประชาชนเตรียมพร้อมเก็บออมเงินไว้ยามเกษียณอายุ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณ ลดภาระงบประมาณด้านการดูแลผู้ชราของภาครัฐ เนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ (Aging Population) ในขณะที่ภาครัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญในปัญหานี้

          อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนจะมีความรู้เรื่องทางการเงินมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ก็มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประชาชนเริ่มมีความรู้ด้านการลงทุนที่เหมาะสม ทำให้มีความมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว ส่งผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจประเทศ


เจาะลึกกองทุน LTF/RMF


ผลสัมฤทธิ์ของมาตรการโดยรวม

          ในเรื่องการวัดประสิทธิผลของกองทุน LTF และ RMF ตามความสามารถในการตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในตอนแรกเริ่ม ซึ่งพิจารณาขนาดกองทุนและจำนวนบัญชีของกองทุนทั้งสองประเภทจะพบว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

          โดยจากข้อมูลเมื่อ 31 ธันวาคม 2556 กองทุน LTF มีขนาด 213,912 ล้านบาท มีจำนวนบัญชีผู้ลงทุนทั้งหมด 960,248 บัญชีกองทุน RMF มีขนาด 136,855 ล้านบาท มีบัญชีจำนวน 492,446 บัญชี เมื่อเทียบสัดส่วนจำนวนบัญชีของกองทุนทั้งสองกับกองทุนรวมทั่วไปจะพบว่า กองทุนทั้งสองมีจำนวนบัญชีคิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงโดยเฉพาะ LTF ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 25.2%

          ขณะเดียวกัน กองทุน LTF และ RMF เฉพาะที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น แม้จะยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าของตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อ 31 ธันวาคม 2556 กองทุนทั้งสองมีสัดส่วนคิดเป็น 2.3% ของมูลค่าของตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นพัฒนาการของกองทุนในแง่มุมของขนาดและจำนวนบัญชีที่มีต่อทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวมและตลาดหลักทรัพย์แสดงถึงสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศที่มีเพิ่มขึ้นนั่นเอง

          หากพิจารณาบทบาทของนักลงทุนสถาบันในประเทศที่มีต่อเสถียรภาพตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมานั้น จะเห็นว่าทั้งปริมาณและสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันได้เพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับมูลค่าของตลาดหุ้นทั้งตลาด และยังมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพตลาดหุ้นในช่วงที่มีความผันผวนสูง ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ตลาดมีความผันผวนสูง คือ ราคาสูงสุดกับต่ำสุด ห่างกันเกิน 5% นักลงทุนสถานบันในประเทศมีส่วนเข้ามาประคองตลาด สังเกตได้จากยอดซื้อสุทธิในวันนั้น ๆ

          ส่วนประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์การส่งเสริมทัศนะการลงทุนระยะยาวในตราสารทุน และการออมระยะยาวนั้น พบว่าทัศนคติของผู้ลงทุนไทยมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้น ทั้งนี้ผลสำรวจผู้ลงทุนกองทุนรวม LTF และ RMF ในมหกรรมการเงิน Money Expo 2014 เมื่อวันที่ 8-11 พฤษภาคม 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 125 คน นักลงทุนส่วนใหญ่ยังนิยมลงทุนทั้งกองทุนรวม LTF และ RMF โดยมีผู้ที่ลงทุนทั้ง LTF และ RMF จำนวน 72 คน คิดเป็นสัดส่วน 57.6% ผู้ที่ลงทุนเฉพาะ LTF มีจำนวน 48 คน คิดเป็น 38.4% และผู้ที่ลงทุนเฉพาะ RMF มีจำนวน 5 คน คิดเป็น 4%

          จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เป็นภาพว่า กองทุน LTF และ RMF มีประสิทธิผลที่ดีสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ โดยมีปัจจัยความสำเร็จหลักมาจากวิสัยทัศน์ของภาครัฐที่ยอมสละโอกาสระยะสั้นในการจัดเก็บรายได้ด้านภาษี เพื่อนำมาส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มมนุษย์เงินเดือนได้เรียนรู้ที่จะออมและวางแผนเกษียณผ่านการลงทุน


LTF / RMF กับความเป็นธรรมทางภาษี

          ประเด็นหลักที่กองทุน LTF และ RMF ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด คือ มาตรการนี้ไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีโดยรวมเพราะเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวย เนื่องจากสามารถนำเงินมาลดหย่อนได้สูงถึง 500,000 บาท ซึ่งประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจในเรื่องความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีก่อนว่าหลักการของการจัดเก็บภาษีที่ดีจะต้องก่อให้เกิดความเป็นธรรมหรือความเสมอภาคในกลุ่มผู้ที่เสียภาษีทุกกลุ่ม

          โดยการเก็บภาษีตามหลักความสามารถในการเสียภาษี (Ability-to-Pay) สามารถจำแนกออกเป็น 2 หลักการ คือ 1. ความเป็นธรรมตามแนวนอน หมายถึงผู้ที่มีรายได้เท่าเทียมกันต้องเสียภาษีในอัตราเท่ากัน 2. ความเป็นธรรมตามแนวตั้ง หมายถึงผู้ที่มีความสามารถเสียภาษีแตกต่างกัน ควรจะเสียภาษีในจำนวนที่แตกต่างกัน โดยผู้มีรายได้สูงควรเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อย

          เมื่อพิจารณาโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบันพบว่า โดยรวมสอดคล้องกับหลักความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี เพราะบุคคลที่มีรายได้ในช่วงเดียวกันต้องจ่ายภาษีในอัตราที่เท่ากันในขณะที่บุคคลกลุ่มที่มีรายได้ในช่วงที่สูงกว่าก็ต้องเสียภาษีในอัตราที่มากขึ้น

          ส่วนประเด็นที่ถูกมองว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ที่ภาครัฐมอบให้เพื่อส่งเสริมกิจกรรม มีส่วนทำให้ความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีถูกบิดเบือนไปหรือไม่นั้น ตามเกณฑ์ค่าลดหย่อนของทั้งกองทุน LTF และ RMF บุคคลธรรมดาสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินต่อปี และไม่เกิน 500,000 บาท โดยกองทุน RMF ต้องนับรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และรวมกับเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ด้วย

          ดังนั้นเมื่อทดลองนำเงินที่ได้รับการลดหย่อนมาคิดเป็นสัดส่วนเทียบกับจำนวนภาระภาษีเดิมแล้ว ปรากฏว่า "คนรวย" กลับประหยัดภาษีได้น้อยกว่ากลุ่มอื่น จึงสรุปได้ว่า "จำนวนเงินภาษีที่ประหยัดได้" จากกองทุน LTF และ RMF ไม่ได้ส่งผลให้ความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเปลี่ยนแปลงไปทั้งตามแนวตั้งและแนวนอนกลุ่มคนที่มีเงินได้สูงขึ้นก็ยังคงต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นในรูปแบบของอัตราภาษีแบบก้าวหน้าตามเดิม และกลุ่มคนที่มีเงินได้ในช่วงเดียวกันก็ยังคงต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกัน โดยบุคคลทุกกลุ่มมีสิทธิที่จะนำกองทุน LTF และ RMF มาใช้ลดหย่อนภาษี ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

          คำวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการประหยัดภาษีทำให้คนที่มีรายได้สูงหรือคนรวยประหยัดภาษีได้มากกว่าคนที่มีรายได้น้อยกว่านั้น แม้จะเป็นความจริง หากยึดเม็ดเงินเป็นตัวตั้ง แต่เมื่อนับสัดส่วนของการประหยัดภาษีแล้วจะพบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยประหยัดภาษีได้ในอัตราที่สูงกว่า ซึ่งการวิจารณ์แบบแยกส่วนไม่พิจาณาทั้งหมดจึงนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้รับข้อมูลได้

          และเมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบ ภาครัฐได้กำหนดเกณฑ์ลดหย่อนของกองทุน LTF และ RMF โดยมุ่งเน้นสนับสนุนกลุ่มคนที่มีเงินได้ต่ำกว่า 1,000,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด สามารถลดหย่อนภาระภาษีได้ 52-60% และหยอดลดการสนับสนุนในกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น

          ทั้งนี้ข้อมูลภาษีกรมสรรพากรในปี 2553 ระบุว่ามีผู้ยื่นแบบเสียภาษีเพียง 9.37 ล้านคน จากจำนวนประชากรไทยประมาณ 66 ล้านคน แต่ผู้มีรายได้เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีจำนวนเพียง 2,574,561 คน โดยคนส่วนใหญ่ 97% เป็นผู้ที่มีเงินได้สุทธิต่อปีอยู่ระหว่าง 150,000 ถึง 1,000,000 บาท และจากยอดเงินภาษีทั้งหมด 166,459 ล้านบาท เม็ดเงินภาษีส่วนใหญ่ประมาณ 67.6% มาจากกลุ่มผู้ที่มีเงินได้สุทธิต่อปีสูงกว่า 1,000,000 บาท ทั้งที่มีคนเสียภาษีในกลุ่มนี้เพียง 3% ของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด 2,574,561 คน

          คาดการณ์ได้ว่า หากนับเป็นรายหัวกลุ่มคนที่เสียภาษีส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง หรือ "มนุษย์เงินเดือน" ซึ่งย่อมเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถเลี่ยงการเสียภาษีได้ แต่หากมองเฉพาะขนาดของเม็ดเงินจะกลายเป็นว่ากลุ่มคนที่จ่ายภาษีสูง จะมาจากกลุ่มที่มีรายได้สูง ซึ่งรวมถึงกลุ่มอาชีพอิสระ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ

          ดังนั้นเกณฑ์ลดหย่อนของกองทุน LTF และ RMF ที่ภาครัฐได้กำหนดไว้ตอนตั้งโครงการจึงมีความเหมาะสมแล้ว เพราะมุ่งเน้นสนับสนุนกลุ่มคนที่มีเงินได้น้อยกว่า 1,000,000 บาท และถือว่าทำให้กลุ่มคนส่วนใหญ่ในระบบภาษีได้รับประโยชน์สูงสุด


เจาะลึกกองทุน LTF/RMF


ประเมินภาพผลกระทบกรณียกเลิก

          ตามแผนการส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้เรื่องการออมผ่านทางการลงทุนในระยะยาวการยกเลิกสิทธิประโยชน์ของกองทุน LTF และ RMF จะทำให้ขาดความต่อเนื่องและขาดสิ่งจูงใจ ผู้ที่ไม่มีความรู้ หรือมีทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับการลงทุนอาจจะถูกลดโอกาสในการเข้ามารับข้อมูลจริงเกี่ยวกับการลงทุนพื้นฐานที่เหมาะสม ประชาชนขาดโอกาสเพิ่มในการหาความรู้เรื่องทางการเงิน

          ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์อาจมีความผันผวน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากขาดผู้ลงทุนสถาบันผ่าน LTF และ RMF ในการเข้าไปปรับสมดุลในจังหวะอันควร และความเข้มแข็งของตลาดทุนลดลงจากปริมาณเงินออมแบบผูกพันระยะยาวที่มีไม่มาก

          เมื่อเห็นภาพรวมทั้งหมดนี้แล้วทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุนจึงมีข้อเสนอแนะสำหรับกองทุน RMF ที่เปรียบเสมือนโครงข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Nets) ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมประชาชนให้เพียงพอในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การสนับสนุนให้เก็บออมเงินด้วยตนเองเพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะช่วยบรรเทาภาระงบประมาณการดูแลผู้สูงอายุของภาครัฐได้

          ด้วยการลงทุนในกองทุน LTF และ RMF เป็นช่องทางเรียนรู้เร่องการลงทุนของประชาชนที่ได้ผล เนื่องจากมีการลดหย่อนภาษีที่จูงใจให้เกิดการเริ่มต้นลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยงในการลงทุน แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการลงทุนระยะยาว ตามเงื่อนไขของ LTF และ RMF แม้ว่า LTF จะมีจำนวนผู้ลงทุนมากขึ้นต่อเนื่อง แต่การเพิ่มขึ้นของผู้ลงทุนรายย่อยก็อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน ดังนั้นการดำรงไว้ของ LTF จึงยังมีความจำเป็นเพื่อช่วยเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบันเพื่อรักษาเสถียรภาพของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในระยะยาว

          อย่างไรก็ตาม จากความคืบหน้าล่าสุดหลังสภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) ได้เข้าพบทั้ง คสช. และกรมสรรพากร เพื่อนำเสนอแผนการส่งเสริมการลงทุนและแผนการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรวมถึงข้อมูลของกองทุน LTF และ RMF ที่มีประโยชน์ต่อตลาดทุนไทย ได้มีการรับเรื่องพิจารณาหาข้อสรุปในส่วนของกองทุน LTF ส่วนกองทุน RMF ทางกรมสรรพากรยืนยันว่ามาตรการจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากไม่มีกำหนดสิ้นสุดอายุ


เจาะลึกกองทุน LTF/RMF

ตารางคำนวณภาษี โดยกำหนดกลุ่มคนที่มีรายได้แตกต่างกัน 16 คน ภายใต้สมมติฐานให้ใช้สิทธิลดหย่อนเต็มจำนวนทั้ง LTF และ RMF

เจาะลึกกองทุน LTF/RMF


ติดตามข่าวเศรษฐกิจ การเงิน ภาษี สินเชื่อ บทความการเงินน่ารู้มากมาย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สิงหาคม 2557 Issue 388



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจาะลึกกองทุน LTF/RMF สำคัญอย่างไร ? อัปเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2564 เวลา 17:39:21 1,431 อ่าน
TOP