x close

เปิด 5 ธุรกิจเด่น เจาะตลาดสูงวัย


เปิด 5 ธุรกิจเด่น เจาะตลาดสูงวัย

เปิด 5 ธุรกิจเด่น เจาะตลาดสูงวัย (SMEs ชี้ช่องรวย)
เรื่อง : นันทิดา โพนจ้อย

          ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้ผู้คนบนโลกมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวมากขึ้น และเวลานี้โลกของเราก็ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย (Ageing Society) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับประเทศไทยเราจากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ปัจจุบันมีประชากรผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ประมาณ 9.4 ล้านคน และภายในปี 2563 คาดว่า จะพบผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุก ๆ 5 คน

         
ตลาดผู้สูงวัยที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องนี้ จึงมีความน่าสนใจในมุมมองของนักธุรกิจ นี่ยังไม่นับรวมจำนวนผู้สูงอายุชาวต่างชาติที่ลูกหลานส่งมาพำนักที่เนิร์สซิ่งโฮมในเมืองไทย ขณะที่คนวัยเกษียณอีกกลุ่มหนึ่ง ก็เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง ในการมาพักผ่อนแบบระยะยาว ด้วยเหตุผลทางด้านค่าครองชีพ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และอัธยาศัยไมตรีที่น่ารักของคนไทย

          ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยสร้างโอกาสใหม่ และถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หากคิดจะทำการตลาดจับกลุ่มนักช้อปที่อายุเป็นเพียงตัวเลข เพียงแต่ต้องสามารถปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะด้านของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ควบคู่ไปกับความสามารถในการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เพื่อเป็นแนวทางให้เอสเอ็มอีขยายฐานลูกค้า

          โดยการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการเพื่อสร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่ง นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวยฉบับนี้ จึงขอนำเสนอโมเดลธุรกิจของ 5 ผู้ประกอบการ ที่หาญกล้าบุกเบิกตลาดเพื่อผู้สูงวัย โดยนำร่องพัฒนาสินค้าและบริการของตนไปพร้อม ๆ กับการหนุนให้ตลาดวัยแพลตินั่มขยายตัว และรอเวลาให้ยอดขายเติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อเจเนอเรชั่นถัดไปกลายเป็น "ผู้สูงวัยพันธุ์ใหม่" ที่มีกำลังซื้อสูงยิ่งกว่า


แจ้งเกิดธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์ตลาดใหญ่กำลังซื้อสูง

          จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคเบบี้บูม ประกอบกับอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงส่งผลให้โลกก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในปี 2556 สัดส่วนของผู้สูงอายต่อประชากรในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 23 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 240 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 17 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2533 ผู้สูงวัยจะไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ของสังคมโลกในเชิงปริมาณ แต่เป็นกลุ่มผู้มีอำนาจการซื้อที่มีคุณภาพด้วย โดยในปี 2556 ขนาดของเม็ดเงินที่ผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วใช้จ่าย มีมูลค่าประมาณ 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะขยายตัวเป็น 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นปีละ 6 เปอร์เซ็นต์

          ด้วยตลาดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการคิดสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อให้บริการผู้บริโภคสูงวัยกำลังซื้อสูงนี้โดยเฉพาะ เช่น ธุรกิจตัวแทนหางานสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการหารายได้หลังจากเกษียณ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพของผู้สูงอายุที่เข้าไปตรวจเช็กถึงในที่พักอาศัย ธุรกิจผู้อำนวยความสะดวกในการถือของในห้างสรรพสินค้า สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถถือของหนักได้

          สำหรับประเทศไทยก็เริ่มตามรอยกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ก็เริ่มเห็นปรากฏการณ์ธุรกิจที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การที่ลูกค้าชาวต่างชาติเลือกที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เมืองไทย ส่งผลให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทหมู่บ้านผู้สูงอายุในพื้นที่แถบชายทะเล และทางภาคเหนือของไทย บูมขึ้นมาในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจที่ตอบสนองผู้สูงอายุโดยเฉพาะในไทย ยังถือว่ามีผู้ประกอบการน้อยรายในตลาด





จับพฤติกรรมผู้สูงวัยพันธุ์ใหม่

          หากผู้ประกอบการคิดจะสร้างธุรกิจใหม่ หรือขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนมีอายุ การวิเคราะห์พฤติกรรม และทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุ ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผู้สูงวัยพันธุ์ใหม่ (Pre-Ageing) ในอดีตพฤติกรรมผู้สูงอายุที่เราคุ้นเคยกันดีคือ การทุ่มเททำงานหนักเพื่อเก็บเงินทอง โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ กว่าจะเห็นความสำคัญของร่างกายก็ต่อเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย แทนที่จะได้ใช้เงินหรือใช้ชีวิตสบายหลังเกษียณ เงินก้อนนั้นกลับต้องมาเป็นค่ารักษาพยาบาล แต่สำหรับผู้สูงวัยพันธุ์ใหม่นั้น จะมีพฤติกรรมที่ผิดกันสิบลับ

          แม้จะทุ่มเททำงานหนักจนเติบโตก้าวหน้า ทั้งทางด้านการงานและการเงิน ไม่ต่างจากผู้สูงอายุรุ่นก่อน แต่เพราะรู้จักจัดสรรเงินทองลงทุนดูแลตัวเอง โดยเฉลี่ยเมื่อมีอายุประมาณ 50 ปี จะเริ่มดูแลสุขภาพตัวเองในเชิงรุกเน้นการป้องกันและฟื้นฟูร่างกาย เช่น ตรวจเช็กสุขภาพประจำปี รับประทานอาหารเสริม ทำกายภาพบำบัด ทำให้มีอายุที่ยืนยาว สุขภาพแข็งแรง เมื่อถึงวัยปลดภาระงานอันหนักอึ้ง จึงมีอิสระที่จะใช้จ่ายเงินไปกับการพักผ่อนท่องเที่ยวอย่างเต็มที่

          ยิ่งปัจจุบันคนเมืองที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 25 เปอร์เซ็นต์ ของประชากร จากนี้ไปเชื่อว่าอัตราส่วนจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะความล้ำทันสมัยของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตหน้าจอใหญ่ ที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถออนไลน์ได้ง่ายขึ้น อันมาซึ่งการซื้อสินค้าหรือบริการหาเพื่อนผ่านทางอินเทอร์เน็ตในเวลาต่อมา

          อย่างไรก็ดีมีแนวโน้มที่น่าสนใจว่า หากคนกลุ่มนี้เดินทางมาถึงวัย 60 ปีจริง ประมาณ 1 ใน 3 ของกลุ่ม Pre-Ageing วางแผนที่จะทำงานต่อ ทำให้คนกลุ่มนี้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และพร้อมจะจับจ่ายเงินเพื่อสร้างความสุขในชีวิตที่เหลืออยู่ในบั้นปลาย


เทคนิคการทำตลาดเฉพาะกลุ่ม

          การพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้สูงอายุพันธุ์ใหม่ มักเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ฝีมือประณีตเน้นการซื้อด้วยเหตุผลไม่ใช่อารมณ์ ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจเป็นหลัก ประเด็นสำคัญคือ การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุนี้ จะไม่เชื่อคำโฆษณา เมื่อมีอิสระด้านเวลา ก็จะนิยมค้นหาข้อมูลเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับวัยของตนเอง ทั้งนี้ผู้สูงอายุมักจะชื่นชอบโฆษณาที่สื่อถึงความอบอุ่น การมีส่วนร่วมในครอบครัว ความเป็นธรรมชาติ บรรยากาศย้อนยุค รวมทั้งการป้องกันโรคที่เกิดขึ้นตามวัย

          อย่างไรก็ดีผู้สูงวัยไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจในการจับจ่ายสินค้าและบริการสำหรับตัวเองอย่างเดียว สมาชิกในครอบครัวก็มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้า ดังนั้นก่อนสื่อสารนำเสนอสินค้า เอสเอ็มอีจะต้องพิจารณาด้วยว่า จะขายสินค้าให้กับกลุ่มใด หากเป็นกลุ่มลูกหลานของผู้สูงวัย ก็สื่อสารโดยตรงได้เลยว่าเป็นสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 10 ฉบับที่ 119 กันยายน 2557




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิด 5 ธุรกิจเด่น เจาะตลาดสูงวัย อัปเดตล่าสุด 10 กันยายน 2557 เวลา 16:38:38 2,393 อ่าน
TOP