x close

ภาษีที่ดิน เกร็ดอสังหาริมทรัพย์น่ารู้

ภาษีที่ดิน เกร็ดอสังหาริมทรัพย์น่ารู้

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ภาษีที่ดิน เรื่องที่เจ้าของที่ดินควรรู้และทำความเข้าใจในการถือครองที่ดิน ทั้ง ภาษีบำรุงท้องที่, ภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

          การมีที่ดินไว้ในครอบครอง นอกเหนือจากถือครองแล้ว ยังมีข้อควรรู้เกี่ยวกับ ภาษีที่ดิน ซึ่งเจ้าของที่ดินควรรู้และทำความเข้าใจ ซึ่งภาษีที่เกี่ยวข้องกับที่ดินมีอยู่หลายประเภท เช่น ภาษีบำรุงท้องที่, ภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งในปัจจุบันมีการเรียกจัดเก็บเพียงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น และยกเลิกการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบเดิม เนื่องจากมีความไม่สอดคล้องกันเกิดขึ้น ซึ่งก่อนจะไปเตรียมตัวเสียภาษีที่ดิน มาทำความรู้จักกับประเภทต่าง ๆ กันก่อนดีกว่าค่ะ

ภาษีบำรุงท้องที่

            คือ ภาษีที่จัดเก็บตามราคาปานกลางของที่ดิน โดยเรียกเก็บจากที่ดินทุกประเภท ไม่ว่าจะมีการใช้พื้นที่ทำอะไรอยู่ก็ตาม แต่จะมีที่ดินบางประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีกรณีนี้

ที่ดินที่ได้รับการยกเว้นภาษีบำรุงท้องที่

         1.  ที่ดินที่เป็นที่ตั้งพระราชวังอันเป็นส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

         2.  ที่ดินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของรัฐที่ใช้โดยมิได้หาผลประโยชน์

         3.  ที่ดินของราชการส่วนท้องถิ่นที่ใช้ในกิจการของราชการส่วนท้องถิ่นหรือสาธารณะโดยมิได้หาผลประโยชน์

         4.  ที่ดินที่ใช้เฉพาะการพยาบาลสาธารณะ การศึกษา หรือการกุศลสาธารณะ

         5.  ที่ดินที่ใช้เฉพาะศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดไม่ว่าจะใช้ประกอบ ศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือไม่ หรือที่ศาลเจ้าโดยมิได้หาผลประโยชน์

         6.  ที่ดินที่ใช้เป็นสุสานและฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน

         7.  ที่ดินที่ใช้ในการรถไฟ การประปา การไฟฟ้า หรือการท่าเรือของรัฐ หรือที่ใช้เป็นสนามบินของรัฐ

         8.   ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว

         9.   ที่ดินของเอกชนเฉพาะส่วนที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ทางราชการจัดใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยเจ้าของที่ดินมิได้ใช้หรือหาผลประโยชน์ในที่ดินเฉพาะส่วนนั้น

         10.  ที่ดินที่เป็นที่ตั้งที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ หรือ องค์การระหว่างประเทศอื่น ในเมื่อประเทศไทยมีข้อผูกพันให้ยกเว้นตามอนุสัญญาหรือความตกลง

         11.  ที่ดินที่เป็นที่ตั้งที่ทำการของสถานทูต หรือสถานกงสุล ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน

         12.  ที่ดินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง     

การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่

          เจ้าของที่ดินผู้ต้องเสียภาษี ต้องไปยื่นแบบแสดงรายการ (ภ.บ.ท.5) ทุก ๆ 4 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม–30 เมษายน ของทุกปี ที่สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตที่ตั้งอยู่ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของที่ดิน เช่น ซื้อที่ดินใหม่ หรือโอนเปลี่ยนเจ้าของ ต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดินภายใน 30วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลง

สถานที่ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่

           ที่ดินในเขตเทศบาล ให้ไปที่ สำนักงานเทศบาล

           ที่ดินนอกเขตเทศบาล ให้ไปที่ ที่ว่าการอำเภอ

           ที่ดินในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ไปที่ สำนักงานเขต

ฐานภาษีและอัตราภาษีบำรุงท้องที่

          คือราคาปานกลางของที่ดิน ซึ่งถูกกำหนดโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น โดยปกติให้เสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้ายพระราชบัญญัติ หากเป็นที่ดินใช้ประกอบกสิกรรมปลูกไม้ล้มลุกให้เสียแค่กึ่งอัตรา หากเจ้าของที่ดินประกอบกสิกรรมไม้ล้มลุกด้วยตัวเองให้เสียสูงสุดไม่เกินไร่ละ 5 บาท และหากเป็นที่ดินเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เสียเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า

การลดหย่อนภาษีบำรุงท้องที่

           ที่ดินนอกเทศบาลหรือเขตสุขาภิบาล ให้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 5 ไร่ และไม่น้อยกว่า 3 ไร่

           ที่ดินซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างเป็นสถานการค้าหรือให้เช่า จะไม่ได้รับการลดหย่อน

           บุคคลธรรมดาซึ่งมีที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ หรือประกอบกสิกรรมของตน ได้รับการลดหย่อนตามเกณฑ์ ดังนี้

ภาษีที่ดิน เกร็ดอสังหาริมทรัพย์น่ารู้

ที่ดินในเขตกรุงเทพมหานคร

           ท้องที่ที่มีชุมชนหนาแน่นมาก ให้ลดหย่อน 100 ตารางวา

           ท้องที่ที่มีชุมชนหนาแน่นปานกลาง ให้ลดหย่อน 1 ไร่

           ท้องที่ชนบท ให้ลดหย่อน 5 ไร่

           หากบุคคลธรรมดาหลายคนเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน ให้ได้รับการลดหย่อนรวมกันตามเกณฑ์ แต่ต้องเป็นที่ดินในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งแค่จังหวัดเดียว

           ที่ดินเพาะปลูก หากปลูกไม่ได้ด้วยเหตุสุดวิสัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจพิจารณาลดหย่อน

           ที่ดินซึ่งในเป็นสุสานหรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยได้รับประโยชน์ตอบแทน อาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่

ค่าปรับ กรณียื่นแบบภาษีบำงรุงท้องที่ไม่ทันกำหนด

          ผู้เสียภาษีจะต้องเสียค่าปรับอีกร้อยละ 10 จากจำนวนเงินค่าภาษี และหากไม่ชำระตามกำหนด จะต้องเสียค่าปรับร้อยละ 2 ต่อเดือนจากจำนวนเงินค่าภาษี

ขั้นตอนการเสียภาษีบำรุงท้องที่


          ยื่นแบบ (ภ.บ.ท.5) ภายในวันที่ 1 มกราคม–30 เมษายน ทุก ๆ 4 ปี

เอกสารในการเสียภาษีบำรุงท้องที่

           หลักฐานการเป็นเจ้าของที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3

           แบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5)

           บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของที่ดิน

           หนังสือมอบอำนาจ และบัตรประชาชนของผู้แทน (หากเจ้าของที่ดินไม่ได้ไปดำเนินการด้วยตัวเอง)

           ใบเสร็จการชำระเงินครั้งสุดท้าย (ถ้ามี)

การขอผ่อนชำระภาษีบำรุงท้องที่

          หากค่าภาษีที่ต้องชำระมีจำนวนมากกว่า 3,000 บาทขึ้นไป ผู้เสียภาษีสามารถขอผ่อนชำระออกเป็น 3 งวดเท่า ๆ กันได้ โดยต้องแจ้งให้พนักงานทราบก่อนครบกำหนดการชำระภาษี และให้ชำระงวดแรกก่อนครบกำหนด งวดที่สองภายใน 1 เดือนนับจากงวดแรก และงวดที่สามภายใน 1 เดือนนับจากงวดที่ 2

 
ภาษีที่ดิน เกร็ดอสังหาริมทรัพย์น่ารู้

ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          เป็นภาษีที่ถูกจัดเก็บจากโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ เช่น บ้าน, ตึกแถว, อาคาร, ร้านค้า, สำนักงาน, บริษัท, ธนาคาร, โรงแรม, โรงภาพยนตร์, โรงพยาบาล, โรงเรียน, แฟลต, อพาร์ทเม้นท์, คอนโดมิเนียม, หอพัก, สนามม้า, สนามมวย, คลังสินค้า, เรือนแพ และสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ติดกับที่ดินแบบถาวร เช่น ท่าเรือ, สะพาน, อ่างเก็บน้ำ และรวมถึงบริเวณที่ต่อเนื่องกับที่ดินด้วย

ที่ดินที่ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน

         1.  พระราชวังอันเป็นส่วนของแผ่นดิน

         2.  ทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ และทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง

         3.  ทรัพย์สินของโรงพยาบาลสาธารณะและโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และใช้เฉพาะในการรักษาพยาบาลและในการศึกษา

         4.  ทรัพย์สินซึ่งเป็นศาสนสมบัติอันใช้เฉพาะในศาสนกิจอย่างเดียว หรือเป็นที่อยู่ของสงฆ์

         5.  โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งปิดไว้ตลอดปีไม่มีคนอยู่ นอกจากคนเฝ้าในโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือในที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกัน

         6.  โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างของการเคหะแห่งชาติที่ผู้เช่าซื้ออาศัยอยู่เองโดยมิได้ใช้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรม หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ยกเว้นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนต่าง ๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งเป็นที่ต่อเนื่อง

การยื่นแบบเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          เจ้าของที่ดินผู้ต้องเสียภาษี ให้ยื่นแบบ (ภ.ร.ด.2) โดยสามารถขอแบบได้ที่สำนักงานเขตซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ โดยต้องกรอกข้อมูลและลงลายชื่อให้เรียบร้อย จากนั้นส่งคืนที่สำนักงานเขตด้วยตัวเอง หรือจะส่งไปรษณีย์ก็ได้ โดยจะนับวันที่ส่งไปรษณีย์เป็นวันยื่นแบบ และให้ยื่นแบบได้ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ฐานภาษีและอัตราภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          ฐานภาษี เป็นค่ารายปีจากจำนวนเงินที่ทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในแต่ละปี โดยให้เทียบเคียงกับทรัพย์สินให้เช่าซึ่งมีขนาดพื้นที่ และทำเลที่ตั้ง ใกล้เคียงกัน ส่วนอัตราภาษีคิดเป็น ร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี

การลดหย่อนภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          ภาษีโรงเรือนและที่ดิน สามารถขอลดหย่อน, ยกเว้น, ปลดภาษี, และลดภาษี ได้ จากกรณีต่อไปนี้

           ถ้าโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างถูกทำลายและใช้งานไม่ได้ ให้ลดยอดค่ารายปีตามส่วนที่ถูกทำลาย

           หากมีการสร้างโรงเรือนและอาคารขึ้นภายในปีภาษีนั้น ให้นับเอาส่วนที่สร้างเสร็จและเข้าอยู่ได้แล้วเท่านั้น มาคำนวณเป็นค่าภาษีรายปี

           ถ้ามีการติดตั้งเครื่องจักร เครื่องกล หรือทำอุตสาหกรรม ให้ประเมินค่ารายปีลดลงเหลือ 1 ใน 3 รวมถึงส่วนควบแล้วด้วย

           หากมีส่วนที่ชำรุดและต้องซ่อมแซมสามารถขอลดภาษี หรือปลดภาษีทั้งหมดได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน

           หากโรงเรือนมีการเปลี่ยนแปลงในปีที่ผ่านมา อาจได้รับการลดภาษี, ยกเว้น, ปลดภาษี แล้วแต่กรณี

เอกสารในการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

           โฉนดที่ดินที่ปลูกสร้างโรงเรือน และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ

           ใบอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร, ใบอนุญาตให้ใช้อาคาร

           แบบ ภ.ร.ด.2

           หนังสือสัญญาขาย หรือสัญญาให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง

           สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของโรงเรือน

           สำเนาทะเบียนบ้านของโรงเรือนที่ต้องเสียภาษี

           บัตรประจำตัวประชาชน /บัตรข้าราชการ /บัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ /บัตรประจำตัวผู้เสียภาษี

           หลักฐานการเปิดดำเนินกิจการ (นิติบุคคล)

           สำเนางบการเงิน (นิติบุคคล)

           หลักฐานการเสียภาษีของกรมสรรพากร เช่น ภ.พ.01, ภ.พ.09, ภ.พ.20

           ใบอนุญาตตั้ง หรือประกอบกิจการโรงงาน

           ใบอนุญาตติดตั้งเครื่องจักร

           ใบอนุญาตของฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล

           ใบเสร็จค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา

           สัญญาเช่าโรงเรือนที่ต้องเสียภาษี

           หนังสือมอบอำนาจ (กรณีเจ้าของที่ดินไม่ได้มาด้วยตัวเอง)

           หลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์โรงเรือนที่ต้องเสียภาษี

           ต้องถ่ายเอกสารทั้งหมดและลงลายมือชื่อสำเนาถูกต้อง

           หลักฐานการเสียภาษีครั้งสุดท้าย (ถ้ามี)

ภาษีที่ดิน เกร็ดอสังหาริมทรัพย์น่ารู้

การชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          จะมีการส่งใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) ให้ชำระเงินภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับ และสามารถนำไปชำระเงินได้ที่สำนักงานเขตซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ หรือกองการเงิน กระทรวงการคลัง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หรือส่งธนาณัติและเช็คจากธนาคารก็ได้ โดยถือวันที่ส่งเป็นวันชำระภาษี

การขอผ่อนชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          หากจำนวนเงินค่าภาษีตั้งแต่ 9,000 บาทขึ้นไป ผู้เสียภาษีสามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวด โดยให้แจ้งต่อพนักงานภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับใบแจ้งประเมิน ซึ่งต้องยื่นแบบภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีนั้น ๆ ด้วย

ค่าปรับในการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          หากมีการชำระภาษีล่าช้าจากวันที่กำหนด จะมีการคิดค่าปรับตามเกณฑ์ ดังนี้

         1.  หากชำระหลังวันที่กำหนดไม่เกิน 1 เดือน เสียค่าปรับ ร้อยละ 2.5 ของค่าภาษี

         2.  หากเกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 2 เดือน เสียค่าปรับ ร้อยละ 5 ของค่าภาษี

         3.  หากเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน เสียค่าปรับ ร้อยละ 7.5 ของค่าภาษี

         4.  หากเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน เสียค่าปรับ ร้อยละ 10 ของค่าภาษี

         5.  หากเกิน 4 เดือนขึ้นไป อาจถูกคำสั่งยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ หรือขายทอดตลาด

         6.  หากมีการเปลี่ยนเจ้าของและยังไม่ได้ชำระภาษี ให้ถือว่าเจ้าของเก่าและเจ้าของใหม่ต้องเสียภาษีร่วมกัน

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

          แต่เดิมกฎหมายการจัดเก็บภาษี มีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ “ภาษีบำรุงท้องที่” กับ “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน” ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีความไม่สอดคล้องกันในการจัดเก็บ และไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน จึงได้มีการออกกฎหมาย “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” มาทดแทน โดยใช้วิธีประเมินจากมูลค่าทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่จัดเก็บและดำเนินการต่าง ๆ

ที่ดินที่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

         1.  ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

         2.  ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์

         3.  ทรัพย์สินของรัฐซึ่งใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะ โดยไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์

         4.  ทรัพย์สินที่เป็นขององค์กรสหประชาชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีข้อผูกพันยกเว้นภาษีตามอนุสัญญา

         5.  ทรัพย์สินที่เป็นของสถานทูต หรือสถานกงสุลของต่างประเทศ โดยให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยอาศัย

         6.  ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย

         7.  ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติ ที่ใช้ในการประกอบกิจทางศาสนา หรือเป็นที่อยู่ของนักบวชไม่ว่าศาสนาใด โดยไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์

         8.  ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสาน หรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทน

         9.  ทรัพย์สินของเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ เฉพาะส่วนที่ยินยอมให้ราชการหรือประชาชนใช้ประโยชน์

         10.  ทรัพย์สินตามกำหนดในพระราชกฤษฎีกา

ฐานภาษีและอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

          หากที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างให้ใช้ราคาประเมินที่ดินเป็นฐานภาษี หากมีสิ่งปลูกสร้างให้คิดรวมกัน ส่วนห้องชุดให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด โดยอัตราภาษีทั่วไปสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี หากเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยโดยไม่ใช่เชิงพาณิชย์ คิดไม่เกินร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี สำหรับที่ดินเกษตรกรรมคิดไม่เกิน ร้อยละ 0.05 โดยต้องชำระทุก ๆ 4 ปี ภายในเดือนเมษายน

เอกสารในการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

           โฉนดที่ดิน

           บัตรประชาชนของเจ้าของที่ดิน

           ใบมอบอำนาจ (ถ้ามี)

           หลักฐานการเสียภาษีครั้งสุดท้าย (ถ้ามี)

           แบบชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

การชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

          เจ้าหน้าที่จะส่งแบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ภายในเดือนมกราคมของปีที่ต้องชำระภาษี จากนั้นกรอกข้อมูลให้ครบแล้วนำแบบไปยื่นภายในเดือนเมษายน โดยจะมีการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุก ๆ 4 ปี

การลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

           หากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายให้เสื่อมสภาพ หรือไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

           ยกเว้นภาษีที่ใช้สำหรับห้องชุดซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบเกษตรกรรมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ค่าปรับ กรณียื่นแบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

           หากผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบและชำระภาษีตามกำหนด จะเสียค่าปรับอีก 1 เท่า ของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ

           หากมีการยื่นแบบภาษีแล้วแต่ไม่ได้ชำระภาษีตามกำหนด ต้องเสียค่าปรับ ร้อยละ 25 ของภาษีที่ค้างชำระ

           หากไม่ได้ยื่นแบบและชำระภาษีตามกำหนด แต่มีการยื่นภาษีและชำระภาษีภายใน 15 วัน คิดค่าปรับ ร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ

           หากมีการยื่นแบบภาษีไม่ถูกต้อง ทำให้จ่ายภาษีไม่ครบ ต้องเสียค่าปรับอีก ร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่ขาด แต่หากมีการขอยื่นแก้ไขภายใน 15 วัน คิดค่าปรับร้อยละ 25

           หากไม่ได้ยื่นแบบและชำระภาษีตามกำหนด คิดค่าปรับร้อยละ 1 ต่อเดือนของจำนวนภาษีที่ค้าง เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน


          และนี่คือข้อมูลคร่าว ๆ เกี่ยวกับภาษีที่ดินซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับคนที่มีที่ดินไว้ในครอบครอง แต่อาจจะยังไม่ทราบวิธีการเสียภาษีที่ดินให้ถูกต้อง ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวควรตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ในเขตซึ่งที่ดินตั้งอยู่อีกครั้ง เพื่อความครบถ้วนและความชัดเจนในการเตรียมตัวเสียภาษีค่ะ

 
ติดตามข่าว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งหมด คลิกเลย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
account.friend.co.th, account.friend.co.th, fpo.go.th, nmt.or.th



 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาษีที่ดิน เกร็ดอสังหาริมทรัพย์น่ารู้ อัปเดตล่าสุด 24 พฤษภาคม 2561 เวลา 15:04:44 1,087 อ่าน
TOP