x close

ยิ่งลักษณ์ ชี้ปัญหาการเมืองฉุดเศรษฐกิจ วอนทุกฝ่ายก้าวข้ามความขัดแย้ง

 ยิ่งลักษณ์ ชี้ปัญหาการเมืองฉุดเศรษฐกิจ วอนทุกฝ่ายก้าวข้ามความขัดแย้ง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra

           ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความ ระบุ ปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อส่งผลให้เศรษฐกิจไทยถดถอยอย่างต่อเนื่อง พร้อมวอนทุกฝ่ายก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อให้สามารถเดินหน้าพัฒนาประเทศต่อไปได้

            เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว Yingluck Shinawatra ระบุว่า เป็นที่น่าเสียดาย ที่สหภาพยุโรปได้ระงับการเจรจา FTA กับประเทศไทยเป็นการชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า ด้วยสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทย ประกอบกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้สหภาพยุโรปไม่มั่นใจว่า หากเจรจา  FTA เรียบร้อยแล้ว ผลการเจรจาที่เกิดขึ้นรัฐบาลชุดต่อไปจะสานต่อหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ อาจทำให้ประเทศไทยถูกตัดสิทธิ GSP ในปี 2558 ดังนั้น จึงอยากขอให้คนไทยทุกคนก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง และร่วมสนับสนุนการเลือกตั้ง เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ


           ข้อความใน เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra มีใจความ ดังนี้

 ยิ่งลักษณ์ ชี้ปัญหาการเมืองฉุดเศรษฐกิจ วอนทุกฝ่ายก้าวข้ามความขัดแย้ง

           ได้รับการรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่าทางสหภาพยุโรปได้ประกาศเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการให้สิทธิพิเศษอัตราภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences - GSP) ในปี 2558 โดยจะยกเลิกการให้ GSP กับประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางระดับบน (Upper- Middle Income) ขึ้นไป ซึ่งจะรวมถึงประเทศไทยด้วยค่ะ

           ในปัจจุบัน สินค้าไทยหลายรายการที่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว ได้แก่ กุ้งแปรรูป สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรดกระป๋อง อาหารสุนัขหรือแมว มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังมี สินค้าอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น รถจักรยานยนต์ ถุงมือยาง ยางนอกรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เลนส์แว่นตา ซึ่งใน 2-3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมประมาณปีละ 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปทั้งหมด

           สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป สินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทาง ภาษีที่ได้ยกตัวอย่างในข้างต้น จะต้องเริ่มเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อราคาสินค้าที่จะต้องถูกปรับขึ้นตามอัตราภาษีที่จะต้องเสียเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และ อินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศในกลุ่ม Lower Middle Income ก็ยังจะได้รับสิทธิพิเศษ GSP จากสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี บางประเทศ เช่น มาเลเซียที่แม้จะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ไปแล้ว แต่ได้มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA – Free Trade Agreement) กับสหภาพยุโรป จึงยังคงได้ลดภาษีนำเข้าเป็น 0

           เพื่อเป็นการรักษาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในตลาดสหภาพยุโรป ทางรัฐบาลได้เร่งดำเนินการเปิดการเจรจา FTA กับ สหภาพยุโรป หลังจากที่การเจรจามีการล่าช้ามานานจากความไม่สงบทางการเมือง โดยจากการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำของไทยและสหภาพยุโรป ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้มีการตกลงที่จะเร่งดำเนินการเจรจาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ทันต่อการระงับสิทธิพิเศษ GSP ของสหภาพตามหลักเกณฑ์ใหม่ ในปี 2558


           เป็นที่น่าเสียดายว่า ทางสหภาพยุโรปได้ระงับการเจรจาดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองและความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้การเจรจาล่าช้าออกไป มีแนวโน้มที่จะไม่ทันการถูกตัดสิทธิ GSP ของไทยในปี 2558 ซึ่งนอกจากจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงเนื่องจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าแล้ว ยังอาจส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติย้ายฐานการผลิต หรือตัดสินใจลงทุนในประเทศที่มีสิทธิพิเศษทางการค้าไม่ว่าจะเป็น GSP หรือ FTA แทนที่จะลงทุน หรือทำธุรกิจต่อเนื่องในประเทศไทย

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

           ดิฉันขอให้คนไทยทุกคนก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง ร่วมมือ สนับสนุนให้กระบวนการการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเพื่อไม่ให้ปัญหาทางการเมืองมาฉุดรั้งประเทศจากการก้าวไปข้างหน้าค่ะ











เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยิ่งลักษณ์ ชี้ปัญหาการเมืองฉุดเศรษฐกิจ วอนทุกฝ่ายก้าวข้ามความขัดแย้ง อัปเดตล่าสุด 28 มีนาคม 2557 เวลา 16:20:32
TOP