x close

CNN สรุปวิกฤตการเมืองไทย ประท้วงสงบแต่ส่งผลร้ายต่อ ศก.

 CNN สรุปวิกฤตการเมืองไทย ประท้วงสงบแต่ส่งผลร้ายต่อ ศก.
NICOLAS ASFOURI / AFP


 CNN สรุปวิกฤตการเมืองไทย ประท้วงสงบแต่ส่งผลร้ายต่อ ศก.
NICOLAS ASFOURI / AFP

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบจาก  NICOLAS ASFOURI / AFP                

         CNN เผยบทความสรุปวิกฤตการเมืองไทยแบบเข้าใจง่าย ชี้การประท้วงระลอกนี้เป็นไปอย่างสงบ แต่ก็ไว้ใจไม่ได้ และส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจแบบสุด ๆ

         เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2557 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เผยแพร่บทความสรุปสถานการณ์การเมืองในไทยอย่างเข้าใจง่าย พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในวันชัตดาวน์กรุงเทพฯ วันนี้ ชี้เป็นการประท้วงด้วยความสงบ แต่ก็อาจมีความรุนแรงที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ขณะที่ทางกองทัพไม่ส่งสัญญาณก่อรัฐประหารแต่อย่างใด การชุมนุมอย่างยืดเยื้อครั้งนี้จึงส่งผลเสียต่อเนื่องต่อระบบเศรษฐกิจของไทย

         โดยบทความดังกล่าว เขียนขึ้นโดยนายทิม ฮิม นักข่าวซีเอ็นเอ็น เขาได้สรุปที่ไปที่มาเกี่ยวกับการเดินขบวนครั้งใหญ่ของมวลมหาประชาชนในกรุงเทพฯ และสถานการณ์การเมืองไทย ออกมาให้คนทั่วโลกสามารถทำความเข้าใจได้อย่างง่าย ผ่าน 7 หัวข้อดังต่อไปนี้

1. ทำไมผู้คนต้องออกมาเดินขบวนประท้วง

         นับตั้งแต่รัฐบาลพยายามผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก็สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนหลายกลุ่ม และพวกเขาก็ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลนับตั้งแต่นั้นต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้วางมือจากการเมือง โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้กล่าวหาว่าเธอคือหุ่นเชิดของทักษิณ อดีตนายกฯ ที่หนีคดีอยู่นอกประเทศตั้งแต่ปี 2006

         แต่การตัดสินใจของยิ่งลักษณ์ต่อวิกฤตการเมืองครั้งนี้ คือเธอได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม และจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ซึ่งนั่นยิ่งทำให้มีการออกมาประท้วงมากขึ้นไปอีก เพราะผู้ประท้วงไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง จนกว่าจะมีการปฏิรูปการเมืองเสียก่อน

2. ทำไมกลุ่มต่อต้านจึงปฏิเสธการเลือกตั้งครั้งนี้

         ผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่ต้องการให้พวกพ้องพี่น้องของทักษิณกลับมาบริหารบ้านเมือง เพราะเกรงว่าจะมาตักตวงผลประโยชน์จากการบริหารประเทศ จึงต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง โดยทางด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำม็อบต่อต้านทักษิณ  ได้เสนอให้มีการจัดตั้งสภาประชาชน ที่มีการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญมาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น จะมีการทูลขอนายกฯ พระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัว แต่อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และมีผู้ไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง

3. สถานการณ์การประท้วงมีแนวโน้มเป็นอย่างไรในวันจันทร์นี้

         การประท้วงครั้งนี้ดูเหมือนจะแตกต่างจากการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2010 เพราะเป็นการประท้วงที่เป็นไปอย่างสงบกว่า โดยที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเพียง 8 คน ขณะเดียวกัน ทางด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ยืนยันว่า ผู้ประท้วงที่มาชุมนุมในวันปิดกรุงเทพฯ จะประท้วงกันอย่างสงบ ไร้อาวุธ ไร้ซึ่งความรุนแรงใด ๆ และจะปิดถนนเพียง 7 จุดในกรุงเทพฯ เท่านั้น

         แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ทางสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ออกประกาศเตือนประชาชนชาวอเมริกันที่อยู่ในประเทศไทยว่า ขอให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม แม้ว่าการประท้วงจะเป็นไปอย่างสงบก็จริง แต่อาจมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดก็เป็นได้

4. มีผู้สนับสนุนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มากเพียงใด

         ตลอดหลายเดือนของการชุมนุมล้มล้างรัฐบาล ผู้ประท้วงหลายคนเริ่มมองว่าเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีจุดหมายและมาถึงทางตันแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังมีผู้สนับสนุนจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มต่อต้านทักษิณอย่างหนัก ที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ดังนั้น สุเทพจึงสามารถเชิญชวนผู้คนกลุ่มนี้ออกมาชุมนุมประท้วงเป็นจำนวนมากได้

5. ท่าทีของกองทัพต่อวิกฤตการเมืองไทย

         นับตั้งแต่สถานการณ์การเมืองไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะวุ่นวาย มีการประท้วงกันต่อเนื่องตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา มีหลายคนลุ้นว่าทางกองทัพจะออกมาก่อรัฐประหารเช่นเดียวกับที่เคยทำกับทักษิณเมื่อปี 2006 หรือไม่ แต่ปรากฏว่านับจากวันนั้นถึงวันนี้ กองทัพก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ พร้อมประกาศตัวว่าเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด และไม่ได้รอจังหวะในการก่อรัฐประหารด้วย ขอให้ทุกฝ่ายอย่าบีบบังคับทหาร และขอให้เจรจากันอย่างสันติเพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

6. สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดวิกฤตการเมืองระลอกล่าสุด


         สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดวิกฤตการเมืองครั้งล่าสุด คือการที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อเปิดทางให้ทักษิณ พี่ชายสุดที่รักได้กลับบ้านอย่างไร้คดีติดตัว ทั้งนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทักษิณอาศัยอยู่ในหลายประเทศ ส่วนใหญ่คือดูไบ แต่ก็ยังคงมีบทบาททางการเมืองในไทยอยู่
                
7. วิกฤตการเมืองครั้งนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร

         จริง ๆ แล้วก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมประท้วง เศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้ดีนัก แม้จะเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไทยก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จด้านการส่งออก และมีปัญหาหนี้สินครัวเรือนด้วย ดังนั้น เมื่อเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นอีก ก็ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการชุมนุมครั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจท่องเที่ยวและการลงทุนในประเทศ โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ยิ่งการชุมนุมกินเวลานานเท่าไร ก็ยิ่งแสดงให้เห็นหายนะทางเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นเท่านั้น




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
CNN สรุปวิกฤตการเมืองไทย ประท้วงสงบแต่ส่งผลร้ายต่อ ศก. อัปเดตล่าสุด 13 มกราคม 2557 เวลา 14:57:24
TOP