x close

กู้ร่วม ทางออกของคนอยากซื้อบ้านแต่รายได้ไม่พอ

กู้ร่วม ทางออกของคนอยากซื้อบ้านแต่รายได้ไม่พอ

กู้ร่วม ทางออกคนอยากซื้อบ้าน แต่รายได้ไม่พอ (Home Buyers Guide)
 
          ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ ทั้งสถาบันการเงินรวมถึงเจ้าของโครงการมีการพูดถึงประเด็นปัญหา ผู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโดฯ ถูกปฏิเสธสินเชื่อกันมากขึ้น สาเหตุหลักของการกู้ไม่ผ่านของคนส่วนใหญ่ก็คือ ผู้กู้มีภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นมาก จึงทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระค่าบ้านลดลง โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยเพิ่งเริ่มทำงานที่หากไปสร้างหนื้อื่นไว้ก่อนแล้วโอกาสที่จะสร้างหรือผ่อนหนี้ก้อนใหญ่ ๆ ได้อีกจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก

          ยกตัวอย่าง กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประมาณ 20,000 บาท แต่มีภาระค่าใช้จ่ายในการผ่อนรถยนต์อยู่แล้ว โอกาสในการจะซื้อหรือผ่อนบ้านด้วยตัวเองเพิ่มขึ้นอีกเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะภาระหนี้ผ่อนรถจะแสดงอยู่ในฐานข้อมูลเครดิตบูโร ผ่อนเดือนละเท่าไหร่ก็จะถูกหักออกเท่านั้น เช่น เงินเดือน 20,000 บาท ผ่อนรถเดือนละ 5,000 บาท รายได้สุทธิก็จะเหลือแค่ 15,000 บาท

          ในขณะที่หากจะซื้อคอนโดฯ หรือบ้านหลังใหม่ ราคาขั้นต่ำของคอนโดฯ ห้องเล็กสุดส่วนใหญ่น่าจะอยู่ที่ 1,000,000 บาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ณ ปัจจุบัน การกู้เงิน 1,000,000 บาท เป็นระยะเวลา 30 ปี (ระยะผ่อนยาวที่สุด) จะต้องผ่อนต่อเดือนประมาณ 8,000 บาท หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับผู้กู้จะเหลือรายได้สำหรับใช้จ่ายอื่น ๆ แค่ 7,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับการดำรงชีวิตประจำวันในขณะนี้

          นอกจากนี้หากคำนวณตามเกณฑ์อัตราผ่อนของธนาคารที่กำหนดอัตราหนี้ผ่อนบ้านไว้ไม่เกิน 40% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ในกรณีนี้ผู้กู้จะสามารถผ่อนได้เต็มที่แค่เดือนละ 6,000 บาท เรียกว่าความสามารถในการผ่อนยังน้อยกว่าภาระที่ต้องผ่อน ดังนั้นหากยังต้องการซื้อคอนโดฯ หรือให้สามารถกู้ผ่านก็จะต้องหาผู้กู้ร่วมมาช่วยกันผ่อน

          อย่างไรก็ตามแม้ว่าการกู้ร่วมจะแก้ปัญหาให้การกู้เงินง่ายขึ้นและได้วงเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะเลือกใครมากู้ร่วมกู้ได้หรือกู้ร่วมกี่คนก็ได้ เพราะบางธนาคารก็มีเงื่อนไขของการกู้ร่วมไว้เหมือนกัน เช่น ธนาคารกสิกรไทย กำหนดว่าผู้กู้ร่วมให้ได้แค่ 2 คนเท่านั้นและต้องมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติเท่านั้น ผู้กู้หลักต้องมีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

          หรือธนาคารกรุงเทพ กำหนดให้ผู้กู้ร่วมต้องมีความสัมพันธ์กับผู้กู้ในฐานะที่เป็นพี่น้องท้องเดียวกันหรือบิดามารดากู้ร่วมกับบุตรและสามีภรรยา หรือถ้าแต่งงานกันแล้วและยังไม่ได้จดทะเบียน ผู้กู้ร่วมก็ต้องแสดงหลักฐานอื่นๆ ประกอบ เช่น ทะเบียนบ้านที่แสดงว่าปัจจุบันอยู่ด้วยกัน หรือถ้ามีบุตรก็ต้องแสดงใบเกิดที่ระบุชื่อพ่อแม่ และไม่ยอมรับการกู้ร่วมกับแฟนซึ่งยังไม่ได้แต่งงานกัน เป็นต้น

          ทั้งนี้ถ้าเป็นการกู้ร่วมธนาคารก็จะพิจารณารายได้ของทุกคน หักภาระค่าใช้จ่ายของทุกคนแล้วดูว่ามีความสามารถที่จะผ่อนได้ต่อเดือนเท่าไหร่แล้วพิจารณาให้สินเชื่อไปตามสัดส่วน

          ดังนั้นในกรณีที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแต่กู้คนเดียวไม่ผ่านหรือรายได้ไม่พอ การกู้ร่วมก็เป็นทางออกหนึ่งของปัญหาที่นิยมเลือกใช้ และหากได้สำรวจตัวเองหรือกำหนดตัวผู้กู้ร่วมเสียตั้งแต่แรกก็จะยิ่งดี จะได้มีเวลาเตรียมตัว เพราะถึงแม้จะเป็นผู้กู้ร่วมแต่ธนาคารก็ต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้กู้หลัก


ข้อควรรู้


          ผู้กู้ร่วม หมายถึง ลูกหนี้ร่วม ในทางกฎหมายลูกหนี้ร่วมจะต้องรับผิดชอบหนี้เป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นผู้กู้ร่วมควรเป็นบุคคลในครอบครัว หรือญาติพี่น้อง แต่หากต้องการใช้บุคคลอื่นก็สามารถทำได้ แต่ผู้กู้ร่วมจะต้องมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในหลักทรัพย์นั้น และต้องยอมรับในภาระหนี้ ในกรณีที่ผู้กู้หลักไม่สามารถชำระหนี้ได้







ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนสิงหาคม 2556





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กู้ร่วม ทางออกของคนอยากซื้อบ้านแต่รายได้ไม่พอ อัปเดตล่าสุด 26 กันยายน 2557 เวลา 15:31:35 1,620 อ่าน
TOP