x close

กสร. แจงปมโรงงานปิด หวังล้มสหภาพฯ ชี้คนตกงานสูงจริง แต่น้อยกว่าจ้างเพิ่ม


          อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แถลงอยู่ระหว่างตรวจสอบ ปมโรงงานอ้อมน้อย ปิดกิจการหวังล้มสหภาพแรงงาน เผยยอดแรงงานถูกเลิกจ้างเพิ่มจากปี 61 แต่น้อยกว่าการจ้างงาน

โรงงานปิดกิจการ
          จากกรณี บริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ใน ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ประกาศปิดกิจการ อ้างประสบปัญหาเศรษฐกิจ ทว่าในเวลาต่อมา พบมีอดีตพนักงานโพสต์แฉว่า แท้ที่จริงแล้ว ที่ประกาศปิดกิจการเพราะต้องการล้มสหภาพแรงงาน และบริษัทยังเปิดกิจการอยู่ เพียงแค่เปลี่ยนชื่อ และประกาศรับพนักงานใหม่ เพื่อรับพนักงานในเกณฑ์เงินเดือนเริ่มต้นใหม่ ตามที่มีรายงานไปแล้วนั้น

อ่านข่าว : แฉ โรงงานยานยนต์ ปิดตัวฟ้าผ่า ไม่ได้เจ๊ง แต่โละคนเก่า หลังเรียกร้องเงินเป็นแสน

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ (26 ธันวาคม 2562) กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การปิดกิจการ และการเลิกจ้างในปัจจุบัน ที่อาจเกี่ยวโยงกับสหภาพแรงงาน ว่า ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างและการปิดกิจการ รวมทั้งสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ ที่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงานอย่างใกล้ชิด

          โดยพบว่าตัวเลขลูกจ้างที่มายื่นคำร้องขอเงินชดเชยการเลิกจ้าง ปีงบประมาณ 2562 มีสถานประกอบการเลิกกิจการ 1,017 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7,703 คน เพิ่มจากปี 2561 ที่มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 607 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5,619 คน

โรงงานปิดกิจการ
          หากเทียบเฉพาะเดือนตุลาคม-ธันวาคม ปี 2561 พบว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการ 296 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,101 คน ส่วนเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2562 มีสถานประกอบการเลิกกิจการ 365 แห่ง มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2,870 คน ยังไม่นับรวมการเลิกจ้างล่าสุดที่จังหวัดชลบุรี ที่มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 63 คน และจังหวัดสมุทรสาคร 997 คน

          ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ประกันตนที่เข้าสู่ระบบตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม พบว่ามีผู้ประกันตนเข้าสู่ระบบประกันสังคม จำนวน 71,917 คน แต่มีผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง 27,859 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกันตนใหม่ที่เข้าสู่ระบบ สูงกว่าจำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 44,058 คน

          นายอภิญญา กล่าวว่า ประเด็นที่มีการกล่าวอ้างว่าการปิดกิจการของสถานประกอบกิจการ เป็นการใช้โอกาสในการทำลายสหภาพแรงงานนั้น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้ให้สิทธิในการรวมตัวของลูกจ้างในรูปแบบของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน กสร. ได้ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ ในรูปแบบทวิภาคีในสถานประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวได้มีคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่จะพิจารณากรณีที่มีการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง จึงยังไม่สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการทำลายสหภาพแรงงาน เพราะต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย อาทิ ปัจจัยภายในของสถานประกอบกิจการ และสภาพเศรษฐกิจ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กสร. แจงปมโรงงานปิด หวังล้มสหภาพฯ ชี้คนตกงานสูงจริง แต่น้อยกว่าจ้างเพิ่ม อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2562 เวลา 15:11:08 22,393 อ่าน
TOP