x close

ช้อปเกินงบ...จ่ายเพลินเวลาเดินช้อปปิ้ง รู้ไหมเป็นเพราะอะไร ?

        ช้อปปิ้ง เป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไปไม่เห็นมีอะไรน่าแปลกใจ แต่เคยสังเกตไหมว่าทุกครั้งที่ได้ช้อปปิ้งทีไรสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ ช้อปเกินงบ ได้ของที่ไม่ค่อยจำเป็นมา หรือรูดปรื๊ด ๆ จนลืมตัวตลอด ๆ มารู้ตัวอีกทีก็ตอนเห็นใบแจ้งหนี้ ก็อาจจะสายไปแล้ว

ช้อปปิ้ง

        การใช้จ่ายอย่างเหมาะสมเพื่อที่จะมีเงินเหลือออม (รวมทั้งรายได้ที่มาจากการหาอาชีพเสริม) นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีและอาจจะนำไปสู่การใช้เงินอย่างเป็นระบบและเป็นการนับหนึ่งในการเริ่มต้นที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว แต่เหตุการณ์เดิม ๆ เมื่อเวลาไปเดินช้อปปิ้งตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะสาว ๆ เช่น เวลาเห็นป้าย SALE แล้วต้องขอแว๊บเข้าไปดู ในที่สุดก็จะมีของติดมือกลับออกมาตลอด ๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าก็ SALE อยู่ ไม่งั้นไม่ได้ราคาเท่านี้นะ กระปุกดอทคอม จึงมีคำแนะนำดี ๆ จาก K-Expert ในเรื่องนี้มาฝาก      

        การจะหยุดอาการช้อปเพลินจนเงินหมด ถ้าตอบได้ง่าย ๆ เลยก็คือ แค่ไม่ต้องออกไปช้อปไง แต่นอกจากทางเลือกนี้รู้หรือไม่ว่ามีสาเหตุที่สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดต่อไปนี้เพื่อที่จะเข้าใจถึงต้นเหตุที่ทำให้เราใช้เงินแบบนี้ โดยสาเหตุที่จะหยิบยกมาบอกกันมี 3 ข้อ ดังนี้

ช้อปปิ้ง

        ข้อแรก คือ การซื้อเพราะถูกแรงกระตุ้น คือคนเรามักถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าหรือแรงจูงใจ ทำให้ตัดสินใจโดยขาดเหตุผล สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ภายใต้ "ความเร่งรีบ" เช่น ถ้าไม่ตัดสินใจตอนนี้จะพลาดช่วงนาทีทองไปหรือ ชั่วโมง Midnight Sale หรือ "ความกลัวจะสูญเสีย" เช่น สินค้าชิ้นนี้เป็นรุ่น Limited Edition ถ้าไม่ซื้อก็จะหาไม่ได้อีกแล้วหรือจะไม่ผลิตอีกแล้ว หรือ "การแสวงหาการยอมรับ" เช่น ไปทานอาหารแล้วถ่ายรูปลง social media ต้องการโชว์ว่าเราอินเทรนด์ แรงกระตุ้นเหล่านี้ทำให้การตัดสินใจใช้เงินเป็นเรื่องง่าย

        ข้อที่สอง คือ ตัดสินใจซื้อเพราะคิดว่าคุ้มในเชิงเปรียบเทียบ คนเราอาจไม่เห็นว่าสิ่งของหรือบริการนั้น ๆ มีมูลค่ามากหรือน้อย หากไม่ได้เปรียบเทียบกับของที่ใกล้เคียงกันได้ เช่น เวลาไปซื้อแฮมเบอร์เกอร์พนักงานขายจะถามว่าจะเพิ่มไซส์ไหมจ่ายเพิ่มแค่ 20 บาทเท่านั้นจะได้ไซส์ที่ใหญ่ขึ้น จะทำให้เราเกิดความเปรียบเทียบขึ้นทันที ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราอาจจะไม่ต้องการไซส์ที่ใหญ่กว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่ของสิ่งนั้นก็จะมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นทันที เป็นเพราะเรารู้สึกว่าเราได้ทราบราคาเปรียบเทียบแล้ว

        ข้อสุดท้าย คือ การเลี่ยงการสูญเสีย คนให้ความสำคัญกับความรู้สึก "สูญเสีย" ในระดับที่รุนแรงกว่าการ "ได้รับ" เช่น การที่เราซื้อของสิ่งหนึ่งมาแพงกว่าเพื่อน 100 บาท เปรียบเทียบกับความรู้สึกที่เวลาเราไปซื้อของแล้วได้รับส่วนลดจากร้านค้าแค่ 100 บาท เราจะรู้สึกว่าการที่เราซื้อของมาแพงกว่าเพื่อน 100 บาทนั้นมันเป็นความรู้สึกที่รุนแรงกว่าการได้รับส่วนลด 100 จากร้านค้า โดยปกติของคนเราจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่สร้างความสูญเสียให้กับตัวเอง

ช้อปปิ้ง

        สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาอธิบายอาการช้อปเพลินได้เช่นกัน อย่างเช่นกรณีของการใช้บัตรเครดิต รูดปรื้ด ๆ เป็นการจ่ายเงินที่ทำให้เราไม่รับรู้ถึงการสูญเสีย เพราะเมื่อเราซื้อของแล้วยื่นบัตรไป เซ็นชื่อในสลิป แล้วได้บัตรกลับคืนมาพร้อมกับสินค้าหรือบริการ ทำให้สร้างการรับรู้ว่าไม่ได้เสียอะไรออกไป ในขณะที่ได้สินค้าหรือบริการนั้นกลับมาแบบ "ฟรี" (โดยเรายังไม่ได้รับรู้ว่าเราเสียอะไรจนกว่าจะถึงกำหนดจ่ายบิล) ขณะที่การซื้อของด้วยเงินสดทำให้การซื้อของแล้วจ่ายเงินสดทำให้เรารู้สึกว่าเสียอะไรไปบางอย่าง (เงิน) เพื่อแลกกับการได้อะไรมาบางอย่าง (สินค้าหรือบริการ)

        เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในเรื่องอื่น ๆ อีกเช่น การให้สมัครสมาชิกรายปีหรือการกินอาหารแบบบุฟเฟต์หรือสมัครสมาชิกฟิตเนส โดยเราจะรับรู้ว่าเราจ่ายเงินแค่ครั้งเดียวแล้วจะได้สิทธิในการใช้ตลอดระยะเวลาที่เหลือโดย "ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติม" ถึงแม้เดือนหลัง ๆ เราจะไปฟิตเนสน้อยลงหรือทานบุฟเฟต์ไม่ไหวแล้ว ก็จะไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรกับการจ่ายเงินก้อนนั้นไป เพราะเรารู้แล้วว่าไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติมนั่นเอง

        เมื่อรู้สาเหตุที่ทำให้ช้อปเพลินแล้ว K-Expert มีคำแนะนำ คือการตั้งสติคิดก่อนซื้อให้ได้ภายในเวลาประมาณ 6 ถึง 7 วินาทีแรก โดยพิจารณาว่าสิ่งของชิ้นนี้เรา "จำเป็น (Need)" หรือ "อยากได้ (Want)" ของสิ่งนั้น แล้วยิ่งสมัยนี้การ Shopping online มีอิทธิพลกับเรามากเหลือเกินทำให้การ Shopping ของเราง่ายกว่าแต่ก่อน สะดวกกว่าแต่ก่อนแถมยังมีสินค้าให้เลือกมากมายและวิธีการชำระเงินก็แสนง่ายดายเพราะเรากำลังอยู่ในยุคของ Cashless Society ด้วยอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราพลั้งพลาดจนลืมตัว

ช้อปปิ้ง

          ก่อนช้อปปิ้งก็ลองนึกถึงเรื่องนี้ด้วยนะ

          K-Expert Action


          • ใช้เวลาซื้อของให้นานขึ้น 7 วินาที เพื่อหาคำตอบว่า "จำเป็น" หรือ "อยากได้"

          • ทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกวัน เพื่อให้เห็นว่าใช้จ่ายแต่ละเรื่องไปมากน้อยแค่ไหน    



 
 ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ช้อปเกินงบ...จ่ายเพลินเวลาเดินช้อปปิ้ง รู้ไหมเป็นเพราะอะไร ? อัปเดตล่าสุด 2 กันยายน 2563 เวลา 16:54:51 3,157 อ่าน
TOP