x close

อดีตรองผู้ว่าฯ ไม่แปลกใจ ญี่ปุ่นไม่ร่วมทุนรถไฟความเร็วสูง แนะรัฐใจสู้ลงทุนเอง

อดีตรองผู้ว่าฯ ไม่แปลกใจ ญี่ปุ่นไม่ร่วมทุนรถไฟความเร็วสูง

           อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ไม่แปลกใจญี่ปุ่นปัดร่วมทุนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ปมไม่คุ้มทุน แนะรัฐลงทุนเอง อย่าลดความเร็ว-สถานี

           เป็นข่าวที่สังคมกำลังพูดถึงไม่น้อย กรณีโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจเข้าร่วมลงทุนตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ จีทูจี  แต่เมื่อไม่นานมานี้กลับมีข่าวว่าญี่ปุ่นปฏิเสธไม่ลงทุนรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย  แล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าว กระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงว่า ญี่ปุ่นยังไม่ได้ปฏิเสธการร่วมลงทุน พร้อมปัดข่าวที่ไทยขอลดความเร็วและสถานีด้วยนั้น (อ่านข่าว : คมนาคม โต้ข่าวญี่ปุ่นไม่ลงทุนรถไฟความเร็วสูงในไทย ชี้ยังไม่มีการเจรจาลงทุน)

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความถึงประเด็นการสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-ญี่ปุ่น ผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โดยมีใจความดังนี้

อดีตรองผู้ว่าฯ ไม่แปลกใจ ญี่ปุ่นไม่ร่วมทุนรถไฟความเร็วสูง

            ตนไม่แปลกใจที่มีข่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะร่วมลงทุนกับรัฐบาลไทยในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ตามข้อเสนอของรัฐบาลไทย เนื่องจากผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน ซึ่งทางญี่ปุ่นคงไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงร่วมกับรัฐบาลไทย แต่รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้รัฐบาลไทยกู้เงิน รวมทั้งจะรับเหมาก่อสร้าง ขายขบวนรถไฟ และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

            กรณีดังกล่าว คล้ายคลึงกับก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ซึ่งไทยเป็นฝ่ายลงทุนเองทั้งหมด 100% ขณะที่จีนจะรับจ้างก่อสร้างงานบางส่วนที่ผู้รับเหมาไทยไม่ถนัด อีกทั้งจะขายขบวนรถไฟ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้ ซึ่งจีนจะได้ประโยชน์จากการก่อสร้าง รวมถึงในอนาคตจะมีเส้นทางเชื่อมจากไทยเข้าสู่ลาวและจ่อไปจีนอีกด้วย แต่ต่างจากกรณี กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งญี่ปุ่น ไม่ได้รับประโยชน์เท่าไรกับการร่วมทุน

            ดร.สามารถ ย้ำอีกครั้งว่า ตนเองไม่อยากให้ไทยมีการขอลดความเร็วหรือลดสถานี เนื่องจากอยากให้เป็นรถไฟความเร็วสูงที่แท้จริง ซึ่งกระจายความเจริญไปตลอดเส้นทาง ซึ่งเพราะเหตุนี้แม้รายได้จากค่าโดยสารจะไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน แต่ก็ช่วยให้ได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมในการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดที่มีรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง รัฐบาลก็จะสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น

           ทั้งนี้ ดร.สามารถ ฝากว่า อยากให้รัฐบาลมีใจสู้ ก่อสร้างชินคันเซ็นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แม้ว่าจะต้องลงทุนเองทั้งหมดก็ตาม แต่ถ้ารัฐบาลไม่พร้อม ก็ควรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ ส่วนรัฐบาลนี้ก็ควรเร่งก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา รวมทั้งพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ และเตรียมการต่อขยายเส้นทางไปถึงหนองคาย เพื่อเชื่อมโยงกับจีนให้ได้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่สมบูรณ์แบบสักเส้นทางหนึ่งก่อน และที่สำคัญ จะต้องเร่งก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับรัฐบาล

อดีตรองผู้ว่าฯ ไม่แปลกใจ ญี่ปุ่นไม่ร่วมทุนรถไฟความเร็วสูง


ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อดีตรองผู้ว่าฯ ไม่แปลกใจ ญี่ปุ่นไม่ร่วมทุนรถไฟความเร็วสูง แนะรัฐใจสู้ลงทุนเอง อัปเดตล่าสุด 12 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 15:03:08 18,125 อ่าน
TOP