x close

พรุ่งนี้เราจะออมเงินมากขึ้น !

วิธีออมเงิน

          "ปีนี้ จะเก็บเงินให้ได้มากขึ้น"

          หนึ่งในหลายความตั้งใจที่คนส่วนใหญ่มักประกาศกร้าวว่าจะทำเมื่อเริ่มต้นปีใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่เราอยากลุกขึ้นมาทำอะไรดี ๆ อะไรใหม่ ๆ ให้ตัวเอง อย่างการเริ่มเก็บเงิน หรือออกกำลังกายให้มากขึ้น แต่เมื่อปฏิทินพลิกหน้าไปสักสองสามเดือน หลายครั้งเป้าหมายเหล่านี้ก็ปลิวหลุดหายไปเหมือนกัน

          K-Expert ธนาคารกสิกรไทย เลยชวนทุกท่านมาดูว่า ในทางการเงินพฤติกรรมอธิบายอุปสรรคเรื่องเก็บเงินของคนทั่วไปกันอย่างไร

          ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับการเงินพฤติกรรม (Behavioral Finance) กันหน่อย ศาสตร์นี้เป็นส่วนผสมระหว่างจิตวิทยากับเศรษฐศาสตร์ เพื่อพยายามเข้าใจความผิดพลาดเรื่องเงินที่มนุษย์ปุถุชนเป็นกัน จากหลายงานศึกษาวิจัย พบว่า มนุษย์ทุกคนมีอคติกันอยู่แล้ว และเมื่องานเหล่านี้พยายามศึกษาถึงสาเหตุที่คนออมเงินน้อย พบว่ามี "อคติ" หรือ "อุปสรรคทางพฤติกรรม" หลายอย่างที่ส่งผลต่อการจัดการด้านการเงิน
          1. คนเรามีความขี้เกียจ หรือ ความเฉื่อยชา (Inertia) ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไร ๆ เมื่อเคยทำอย่างไรอยู่ ก็ทำอย่างเดิมไปเรื่อย ๆ เพราะขี้เกียจที่จะออกแรงแม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม

          2. เห็นแก่วันนี้มากกว่า (Present Bias) หรือ คนมีแนวโน้มที่จะคว้าสิ่งที่ทำให้เกิดความพอใจตรงหน้า มากกว่ารอคอยผลลัพธ์ที่ (อาจจะ) ดีกว่าในอนาคต ดังนั้น เงินที่หามาได้วันนี้ ใช้เลยในวันนี้ ย่อมพอใจมากกว่าที่จะเก็บไว้ใช้ในอีก 30 ปีข้างหน้า

          3. อาการ "เดี๋ยว" หรือ ผัดวันประกันพรุ่ง (Procrastination) อย่างปณิธานปีใหม่ข้างต้นก็เหมือนกัน เรามักจะไฟแรงตอนที่วางเป้าหมาย แต่พอจะลงมือทำจริง หลายคนก็ลงเอยด้วยการบอกตัวเองว่า "เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยทำละกัน" สุดท้ายเลยยังไม่ได้ทำสักที
          4. "เสีย" เจ็บกว่า "ได้" (Loss Aversion) หรืออาการไม่ชอบสูญเสีย ธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไป มักรู้สึกว่าการออมคือการสูญเสีย เพราะเราต้องยอมกันเงินส่วนหนึ่งเก็บไว้ก่อน แทนที่จะได้เอาไปใช้จ่าย นั่นเท่ากับว่าเงินส่วนที่จะใช้ได้ในวันนี้ลดลง เงินออมเลยถูกมองเป็นหนึ่งในรายจ่ายที่ต้องเสียนั่นเอง

          5. สิ่งที่เราเป็นอยู่นั้น ดีที่สุดเสมอ หรือ การยึดติด (Status Quo) อะไรก็ตามที่เรามีอยู่แล้ว จะไม่ค่อยอยากเปลี่ยนแปลงอะไร อันนี้คล้ายความเฉื่อยชา ต่างกันนิดนึงตรงที่ไม่อยากเปลี่ยน เพราะรู้สึกว่าของที่มี มันดีอยู่แล้ว ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ

          แล้วยังไงต่อดี เราจะแก้เคล็ด เอ้ย...แก้พฤติกรรมเหล่านี้เพื่อเก็บเงินกันยังไงดี ? ลองไปดูแนวทางที่นักวิชาการสหรัฐฯ ศึกษาและทดลองกับคนทำงานในบางบริษัทเอกชนกัน

วิธีออมเงิน

          Richard H.Thaler และ Shlomo Benartzi ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาคนเก็บเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ โดยเรียกโครงการนี้ว่า Save More Tomorrow หรือ SMarT Program ซึ่งมีบริษัทเอกชนหลายแห่งในสหรัฐฯ เข้าร่วมเพราะช่วยให้ลูกจ้างเก็บเงินได้มากขึ้น แถมยังอยู่ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

          วิธีการของโครงการนี้ กำหนดให้พนักงานที่อยู่ในองค์กรที่เข้าร่วมโครงการเข้าสู่ระบบการออมแบบอัตโนมัติ แต่ถ้าอยากลาออก ต้องออกแรงทำเรื่องขอลาออกเอง ซึ่งการให้เริ่มออมแบบอัตโนมัตินี้ก็เพื่อมาแก้พฤติกรรมขี้เกียจ การเห็นแก่วันนี้ และอาการ "เดี๋ยว"  ของคนทีเดียวสามข้อนั่นเอง พูดอีกอย่างคือได้เริ่มเก็บเงินแบบไม่ทันได้รู้ตัว

          พอถึงวันเงินเดือนออก เงินบางส่วนก็จะถูกหักไปเก็บทันทีก่อนที่จะเข้ากระเป๋าพนักงาน ดังนั้น พนักงานจะยังไม่ทันได้รู้สึกว่าต้องจ่ายอะไร เพราะตัวเลขที่เห็นในบัญชี เป็นยอดเงินหลังหักเงินเก็บแล้ว และอัตราการหักนี้จะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เงินเดือนขึ้น เช่น เพิ่มอีกปีละ 3% ไปเรื่อย ๆ โดยมีเพดานสูงสุดในการหักเงินอยู่ที่ 15% เป็นต้น ดังนั้น เมื่อปีหน้าพนักงานได้รับการขึ้นเงินเดือน ก็เท่ากับว่าได้ออมเงินในอัตราที่เพิ่มขึ้นไปด้วยในตัว วิธีนี้ก็ช่วยลดอาการไม่ชอบสูญเสียได้อีกข้อ

          และเมื่อพนักงานทำงานที่บริษัทนี้ไปเรื่อย ๆ จนอัตราการเก็บเงินชนเพดานสูงสุดแล้ว โครงการก็อาศัยพฤติกรรม "สิ่งที่เราเป็นอยู่นั้น ดีที่สุดเสมอ" มาใช้เสียเลย นั่นคือ คนส่วนใหญ่จะเลือกไม่ปรับลดหรือเปลี่ยนเงื่อนไขการหักเงิน เพราะรู้สึกว่าสถานะที่เป็นก็โอเคอยู่แล้วนั่นเอง

วิธีออมเงิน

          แล้วเราจะลองนำแนวทางนี้มาปรับใช้กับปณิธานเก็บเงินของตัวเองอย่างไรดี ?

          อย่างแรกที่เริ่มได้เลยสำหรับพนักงานบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วเลือกอัตราการหักเงินที่เหมาะกับตัวเอง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินเดือน แต่ถ้าช่วงแรกหนักไป ก็ลองเริ่มแบบที่ตัวเองไหวก่อน แล้วค่อยเพิ่มในปีถัดไปก็ได้

          ถัดมา สำหรับการเก็บเงินด้วยตัวเอง ลองใช้เครื่องมือหรือบริการต่าง ๆ ที่สถาบันการเงินจัดไว้ให้แล้วมาเป็นตัวช่วย เช่น บัญชีเงินฝากบางประเภทที่ให้เราเก็บเงินทุกเดือน เดือนละเท่า ๆ กัน เป็นเวลา 24 เดือน หรือใช้คำสั่งการหักเงินอัตโนมัติจากบัญชีเงินฝาก ไปลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ เป็นประจำทุกเดือน เป็นต้น

          ทั้งสองวิธีนี้เป็นการใช้ระบบหรือเครื่องมือเข้ามาช่วย เพื่อให้หักเงินไปเก็บก่อนที่จะเข้ากระเป๋า ซึ่งจะช่วยลดความรู้สึกสูญเสียของเราได้ แถมหลังจากนั้น เราก็ไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่มเติมอีก เพราะระบบจะทำงานของมันไปทุกเดือน เราก็ได้เก็บเงินของเราไปทุกเดือน

          เผลอไปเผลอมา เดี๋ยวก็หมดปี ถ้าลองเข้ามาดูยอดเงินในบัญชี อาจจะเห็นเงินเก็บก้อนโตแบบที่เราไม่เชื่อว่าตัวเองจะเก็บได้ก็ได้นะ

          ขอแค่ตัดใจลงมือไปจัดการครั้งแรกครั้งเดียวพอ

          K-Expert Action

          · สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเพื่อสะสมเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ

          · ออมเงินสม่ำเสมอ โดยสมัครบริการหักบัญชีเงินฝากเพื่อเข้ากองทุนรวมทุกเดือน ช่วยสร้างวินัยการออมเงิน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พรุ่งนี้เราจะออมเงินมากขึ้น ! อัปเดตล่าสุด 25 มกราคม 2561 เวลา 17:45:20 6,973 อ่าน
TOP