x close

ประกันสังคม ศึกษาเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็น 2 หมื่นบาท แก้ปัญหาเงินชราภาพ

ประกันสังคม

          สำนักงานประกันสังคม ศึกษาขยายฐานค่าจ้างจาก 1,650 บาท เป็น 3,600 บาท และเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท พร้อมเล็งปรับสูตรคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยเป็นตลอดอายุการทำงาน หวังแก้ปัญหาเงินบำนาญชราภาพ ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพปัจจุบัน
 
          ตามกระแสข่าวที่กลุ่มแรงงานเตรียมฟ้องศาลปกครอง เรื่องการให้ความคุ้มครองประกันสังคมกรณีชราภาพ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1560 นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ออกมาชี้แจงว่า สำนักงานประกันสังคมได้ศึกษาแนวทางการปฏิรูปบำนาญชราภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องฐานและเพดานค่าจ้างแล้ว ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบผ่านประชาพิจารณ์จากผู้ประกันตนและนายจ้าง ให้ขยายฐานค่าจ้างจาก 1,650 บาทเป็น 3,600 บาท และเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท เนื่องจากที่ผ่านมา การส่งเงินสมทบไม่เคยมีการปรับเพิ่ม จึงไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
          นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยจาก 60 เดือนสุดท้าย เป็นตลอดอายุการทำงาน โดยปรับเป็นมูลค่า ณ วันที่ขอรับบำนาญ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกันตนทุกคน รวมถึงผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับบำนาญที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบและสภาพเศรษฐกิจ ณ เวลาที่ขอรับบำนาญ ซึ่งจากการคาดการณ์ก็พบว่า ผู้ประกันตนที่ส่งเงินมาตรา 33 ที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท มากกว่า 10 ปี ก่อนเปลี่ยนมาส่งมาตรา 39 ฐาน 4,800 บาท จำนวน 5 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
 
ประกันสังคม

          โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางปฏิรูปบำนาญชราภาพให้รอบด้าน เพื่อแก้ปัญหาตามข้อร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งจะมีการทำประชาพิจารณ์ในขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการให้ความสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ รวมถึงการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของสมาชิกกองทุนประกันสังคมมากที่สุด

          อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมากกว่าทุกชุดที่ผ่านมา อีกทั้งได้กำหนดให้นายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ร่วมออกเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่ให้รัฐบาลสมทบ 1% ส่วนนายจ้างออกเงินสมทบ 3%
 
          นายสุรเดช กล่าวอีกว่า ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1. เพื่อให้ผู้รับบำนาญไม่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากในการครองชีพหรือต่ำกว่าระดับความยากจน และ 2. เพื่อให้ผู้รับบำนาญมีการทดแทนรายได้ประจำต่อเนื่อง ในอัตราที่สอดคล้องกับรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมให้ผู้ที่ส่งเงินสมทบ 30 ปี ได้รับบำนาญ 41.5% ของค่าจ้างก่อนเกษียณ ซึ่งสูงกว่าที่สนธิสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศกำหนด ที่ให้ผู้ทำงาน 30 ปี ควรได้รับบำนาญไม่ต่ำกว่า 40% ของค่าจ้างก่อนเกษียณ
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประกันสังคม ศึกษาเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็น 2 หมื่นบาท แก้ปัญหาเงินชราภาพ อัปเดตล่าสุด 26 มีนาคม 2563 เวลา 17:18:03 12,622 อ่าน
TOP