x close

5 เทคนิคเสริมแกร่งพลังการเงิน

บริหารจัดการเงิน

          ออมเงินก่อนใช้จ่าย สำรองเงินเผื่อฉุกเฉิน ทำประกันสร้างความคุ้มครอง จัดพอร์ตลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และอย่าลืมวางแผนเพื่อชีวิตเกษียณที่สุขสบาย

          เชื่อว่าใคร ๆ ก็อยากมีสุขภาพการเงินที่แข็งแรง ไม่ต้องมานั่งกังวลหรือเครียดว่าเงินจะพอใช้หรือไม่ ต้องใช้แบบเดือนชนเดือนไหม หรือต้องคำนวณว่าเงินที่เหลืออยู่นี้ต้องกินต้องใช้อย่างไรเพื่อให้อยู่รอดได้จนถึงสิ้นเดือน ซึ่งจะทำอย่างไรถึงจะมีสุขภาพการเงินที่แข็งแรงได้ K-Expert มีเทคนิคเสริมแกร่งพลังการเงิน 5 ด้านมาแนะนำดังนี้ค่ะ
1. เสริมพลังการออม–ออมก่อนใช้ทุกเดือน อย่างน้อย 20% ของรายได้

         ปัญหาเงินเก็บไม่พอ เงินออมไม่มีจะหมดไป หากเราใช้วิธี "ออมก่อนใช้" ค่ะ ซึ่งจะออมเงินเท่าไรดีนั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน ทั้งนี้ K-Expert ได้ลองคำนวณโดยจำลองสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับคนคนหนึ่งตลอดทั้งช่วงชีวิตแล้วพบว่า การออมอย่างน้อย 20% ของรายได้เป็นระดับที่เหมาะสมค่ะ

         ดังนั้น พอเงินเดือนออกหรือมีรายได้เข้ามาให้หักมาเก็บออมไว้ก่อนอย่างน้อย 20% ของรายได้ ซึ่งสามารถเริ่มจากการออมเงินในบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน เพราะหากออมได้ทุกเดือน เราจะมีเงินเก็บอย่างแน่นอน นอกจากการออมเงินแล้ว การหลีกเลี่ยงหนี้สินซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้ไม่มีเงินออมก็มีความสำคัญ โดยการไม่ก่อหนี้เกินตัว คือ มีภาระผ่อนหนี้ไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน และหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคล

2. เสริมพลังเตรียมพร้อมเรื่องเงินสำรอง–เผื่อเงินสำรอง 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน

         ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้เราต้องใช้เงินทันทีจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไร ไม่ว่าจะเป็นรถเสีย หลังคาบ้านรั่ว หรือว่างงาน ขาดรายได้ ซึ่งหากเรามีเงินสำรองเก็บไว้ทำให้ไม่ต้องไปหยิบยืมเงินเพื่อมาใช้จ่าย ปัญหาหนี้สินก็จะไม่เกิด ทั้งนี้ เราควรมี "เงินสำรอง 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน" เช่น มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองเผื่อไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินประมาณ 120,000 บาทค่ะ โดยให้เก็บในรูปของเงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตลาดเงิน

บริหารจัดการเงิน

3. เสริมพลังความคุ้มครอง–ทำประกันชีวิตคุ้มครองครอบครัวอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี

         ปัจจุบันหลายคนยังปฏิเสธการทำประกันด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เช่น ไม่น่าจะประสบอุบัติเหตุ ไม่น่าจะป่วย หรือไม่น่าจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จริงอยู่ที่โอกาสเกิดเหตุเหล่านี้จะน้อย แต่หากเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งจะส่งผลรุนแรงอย่างมาก ยิ่งถ้าเราเป็นเสาหลักของครอบครัวด้วยแล้ว ในวันที่เราจากไป คนที่เรารัก หรือลูกหลานจะอยู่ต่อไปอย่างไร

         ดังนั้น การสร้างทรัพย์สินหรือหลักประกันความมั่นคงไว้ให้พวกเขาจึงมีความสำคัญ ซึ่งประกันชีวิตช่วยตอบโจทย์นี้ได้ โดยเราควรมี "ความคุ้มครองชีวิตอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี" รวมถึงทำประกันให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับเรา เช่น ความคุ้มครองอุบัติเหตุ ความคุ้มครองสุขภาพ สำหรับคนที่มีภาระหนี้สิน เช่น หนี้บ้าน ควรทำประกันคุ้มครองหนี้สินไว้ด้วย เพื่อครอบครัวจะได้ไม่ต้องมารับภาระหนี้ในส่วนนี้ค่ะ

4. เสริมพลังการลงทุน–จัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

         เมื่อสร้างนิสัยออมเงินอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนให้ตัวเอง และสำรองเงินเผื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉินอย่างเพียงพอแล้ว ต้องรู้จักนำเงินออมส่วนที่เหลือไปลงทุนให้เงินงอกเงยด้วย เพราะการฝากเงินเพียงอย่างเดียว ผลตอบแทนที่ได้รับถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับสถานการณ์ข้าวของแพงขึ้นทุกปี แปลว่าเมื่อเวลาผ่านไป เงินเราจะด้อยค่าลง ซื้อของได้น้อยลง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงไปด้วย

         ทั้งนี้ การลงทุนที่ดีควร "จัดพอร์ตการลงทุน" หรือกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หากรับความเสี่ยงได้สูง สามารถลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงได้ เช่น หุ้น 55% ตราสารหนี้ 45% แต่ถ้าไม่อยากรับความเสี่ยงมากนัก ก็ไม่ควรมีสัดส่วนลงทุนในหุ้นสูงมาก เช่น หุ้น 30% ตราสารหนี้ 70% เป็นต้น

5. เสริมพลังวางแผนเกษียณ–ควรเตรียมเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณอย่างน้อย 6 ล้านบาท

         เมื่อเกษียณแล้ว รายได้ประจำอาจขาดหายไป แต่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ รวมถึงการพึ่งพาลูกหลานอาจจะเป็นทางออกที่ดีในยุคก่อน ๆ แต่ด้วยแนวโน้มค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้การพึ่งพาลูกหลานทำได้ลำบากขึ้น ดังนั้น จึงปลอดภัยกว่าหากเราจะวางแผนเตรียมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตัวเองในอนาคต ซึ่งหากเกษียณวันนี้ที่อายุ 60 ปี มีเงินกิน เที่ยว ใช้สบาย ๆ เดือนละ 26,000 บาท จะต้อง "เตรียมเงินเพื่อเกษียณอย่างน้อย 6 ล้านบาท"

         แต่หากตอนนี้อายุยังไม่ถึง 60 ปี เงินที่จะใช้เดือนละ 26,000 บาท ต้องรวมเงินเฟ้อเข้าไปด้วย ทำให้ต้องเตรียมเงินเพื่อเกษียณมากกว่า 6 ล้านบาท ดังนั้น แนะนำให้เริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อชีวิตเกษียณที่สุขสบาย โดยสามารถออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ของบริษัทที่ทำงาน หรือออมด้วยตัวเองผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ค่ะ

         และนี่คือเทคนิคเสริมแกร่งพลังการเงิน 5 ด้านที่นำมาฝากกันค่ะ ลองสำรวจตัวเองดูว่า เรายังขาดพลังการเงินด้านไหน จะได้ปรับปรุงแก้ไข และเติมพลังด้านนั้นให้เต็มเพื่อสุขภาพการเงินที่แข็งแรงของพวกเราทุกคนค่ะ
   

K-Expert Action

        • จดบันทึกรับ-จ่าย และลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง
        • ศึกษารูปแบบการลงทุนที่สนใจก่อนตัดสินใจลงทุน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 เทคนิคเสริมแกร่งพลังการเงิน อัปเดตล่าสุด 30 พฤษภาคม 2559 เวลา 13:27:23 7,754 อ่าน
TOP