x close

สุขภาพการเงินที่แข็งแรง สร้างได้ไม่ยาก

สุขภาพการเงินที่แข็งแรง สร้างได้ไม่ยาก
สุขภาพการเงินที่แข็งแรง สร้างได้ไม่ยาก

สุขภาพการเงินที่แข็งแรง สร้างได้ไม่ยาก (ธนาคารกสิกรไทย)

        สุขภาพการเงินที่แข็งแรงสามารถสร้างได้ โดยการออมเงินสม่ำเสมอทุกเดือน และแบ่งเงินออมบางส่วนไปลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก

        หลังจากที่เราได้เช็คสุขภาพการเงินกันไปและได้ทราบผลตรวจสุขภาพการเงินของเราเอง โดยการตอบคำถาม 2 ข้อคือ ทุกวันนี้มีเงินใช้สบาย ๆ แบบที่ไม่มีหนี้ท่วมหัว และเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินต้องใช้เงิน ก็มีเงินสำรองเพียงพอไว้ใช้จ่ายกันแล้ว ในสัปดาห์นี้เรามาทำให้สุขภาพการเงินที่ดีของเรามีความแข็งแรงมากขึ้นดีกว่า ด้วยการทำตามคำแนะนำ 2 ข้อ ดังต่อไปนี้ค่ะ

ข้อ 1 เก็บออมเงินสม่ำเสมอทุกเดือน

        หลังจากที่เราปลดหนี้ได้สำเร็จและมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 6 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือนแล้ว คราวนี้เราก็จะมีเงินเหลือสำหรับเก็บออมอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน

        แต่ถ้าใครรู้ตัวว่า ตัวเองเป็นคนใช้เงินเก่งและเก็บเงินไม่ค่อยอยู่ ก็ลองบังคับตัวเองให้ออมเงินก่อนอย่างน้อย 15% ของรายได้ต่อเดือน แล้วค่อยนำเงินที่เหลือจากการออมไปใช้จ่าย เช่น มีรายได้เดือนละ 15,000 บาท ก็ออมก่อน 15% คือ 2,250 บาท โดยแนะนำให้นำเงินส่วนนี้ไปฝากไว้ในบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี เนื่องจากเป็นบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีเงินฝากประเภทอื่น และดอกเบี้ยที่ได้ก็ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งบัญชีเงินฝากประเภทนี้จะเหมาะกับคนที่ออมเงินเป็นประจำ ยอดเงินเท่ากันทุกเดือน เช่น ออมเดือนละ 2,000 บาท และออมได้ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปค่ะ

        สำหรับใครที่สามารถออมเงินได้อย่างสม่ำเสมอทุกเดือนก็ถือว่าเก่งมากค่ะ แต่แค่นั้นยังไม่พอ ถ้าอยากให้สุขภาพการเงินของเราแข็งแรงขึ้นไปอีกก็ลองทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ค่ะ
 
ข้อ 2 นำเงินไปลงทุนในรูปแบบที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก

        เมื่อสามารถออมเงินได้สม่ำเสมอทุกเดือนแล้ว เราควรจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในรูปแบบที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากเพื่อเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่จะเลือกลงทุนในรูปแบบไหนนั้น ให้ดูที่จุดประสงค์ในการใช้เงินและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้เป็นหลักค่ะ เช่น หากยังไม่มีเป้าหมายในการใช้เงินระยะสั้น และรับความเสี่ยงได้ปานกลาง แนะนำให้แบ่งเงินออมส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวมผสม ซึ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก แต่หากรับความเสี่ยงได้สูง แนะนำให้แบ่งเงินออมส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นเนื่องจากมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนรวมผสมค่ะ

        ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง เมื่อมีความเสี่ยงสูงขึ้น ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงหรือขาดทุนสูงได้เช่นกัน ดังนั้นเงินที่จะนำมาลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจะต้องเป็นเงินเย็นเท่านั้น และก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในรูปแบบใดก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นค่ะ

จะเห็นได้ว่า สุขภาพการเงินที่ดีและแข็งแรงสามารถสร้างได้ไม่ยาก เริ่มจาก

         มีเงินใช้สบาย ๆ แบบที่ไม่มีหนี้ท่วมหัว 

         เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินต้องใช้เงิน ก็มีเงินสำรองเพียงพอไว้ใช้จ่าย 6 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือน โดยออมเงินไว้ในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น

         มีเงินเหลือเก็บออมอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน

         นำเงินไปลงทุนในรูปแบบที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก

        เพียงเท่านี้เราทุกคนก็จะมีสุขภาพการเงินที่ดีและแข็งแรงกันถ้วนหน้า หากวันนี้ใครยังไม่สามารถทำได้ครบทั้ง 4 ข้อ ก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลไป ขอเพียงเรามุ่งมั่น ตั้งใจ และมีเป้าหมายอย่างชัดเจน สักวันเราก็จะมีสุขภาพการเงินที่ดีและแข็งแรงได้ค่ะ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter@KBank_Expert

Tips

         จดบันทึกรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน และปรับลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง

         ศึกษารูปแบบการลงทุนที่สนใจอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน

         พยายามดูแลรักษาสุขภาพการเงินให้ดีและแข็งแรงอยู่เสมอ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุขภาพการเงินที่แข็งแรง สร้างได้ไม่ยาก อัปเดตล่าสุด 17 พฤศจิกายน 2557 เวลา 16:51:08 1,847 อ่าน
TOP