x close

นักกฎหมายหนุนเก็บภาษีมรดกย้อนหลัง 2 ปี กันถ่ายเททรัพย์สิน

 สนช. เชื่อรัฐบาลส่ง ภาษีมรดก ร่าง พ.ร.บ. เข้าสภาฯ แน่

 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           นักกฎหมายชี้ การเก็บภาษีย้อนหลัง พ.ร.บ.ภาษีมรดก เป็นเรื่องปกติ เหตุเพื่อป้องกันการโยกย้ายทรัพย์สิน แต่อัตราจัดเก็บไม่ควรสูงเกินไป หนุนประชาชนมีส่วนรับร่วมเสียภาษีทั่วถึง เตือนสารพัดช่องทางเลี่ยงภาษี เร่งรัฐอุดช่องโหว่

          จากกรณีที่ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีมรดก โดยมีความคืบหน้า 3 ประเด็น คือ

          1. จะส่งร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดกเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ 

          2. อัตราการเก็บจะเริ่มที่ 10% ของมรดกส่วนเกิน 50 ล้านบาท และผ่อนจ่ายได้ 2-3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย 

          3. ผู้โอนทรัพย์มรดกก่อนภาษีบังคับใช้ 2 ปี และเจ้ามรดกยังไม่เสียชีวิต ผู้รับมรดกต้องเสียภาษี เพื่อป้องกันผู้จงใจเลี่ยงภาษี

          ล่าสุด วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2557) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกรณีดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันจำนวนมาก  โดยเฉพาะการเตรียมเก็บภาษีย้อนหลัง 2 ปี สำหรับผู้โอนทรัพย์ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ โดยมีการตั้งคำถามว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ขัดต่อหลักการหรือไม่

          สำหรับคำถามดังกล่าว ก็ได้มีนักกฎหมายที่ออกมาทั้งสนับสนุนและคัดค้าน โดย นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสังคม ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านภาษีมรดก จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเก็บภาษีย้อนหลังในกรณีนี้เป็นเรื่องปกติ การให้มรดกต่อลูกหลานหรือผู้รับมอบในช่วง 2 ปีนี้ นับเป็นมรดกปัจจุบัน ซึ่งถ้าเป็นตามปกติที่ใช้กันในหลายประเทศแล้ว กฎหมายระบุว่าให้เก็บย้อนหลังถึง 5 ปีด้วยซ้ำ แต่ของประเทศไทยแค่ 2 ปี ก็ถือว่าไม่มากเท่าไร

          นอกจากนี้ นายวิริยะ กล่าวต่อว่า การเก็บภาษีย้อนหลังยังเป็นการป้องกันการโยกย้ายทรัพย์สินเพื่อเลี่ยงภาษีอีกด้วย เพราะกว่ากฎหมายจะออกต้องใช้เวลาอีกนาน คนที่รู้ตัวแล้วก็จะไปทำการโยกย้ายทรัพย์สินเพื่อเลี่ยงภาษีได้ ส่วนที่มีการเสนอให้ผ่อนจ่ายได้นั้น ตามปกติภาษีก็สามารถผ่อนจ่ายได้อยู่แล้ว ทั้งนี้เป็นการช่วยเหลือในกรณีผู้ที่ได้รับมรดกเป็นทรัพย์สิน เพื่อไม่ให้เป็นการกดดันต้องขายทรัพย์สินมาจ่ายภาษีมรดก

          ด้านที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เรื่องภาษีมรดกตามที่เป็นข่าวว่าจะเก็บย้อนหลังกับการโอนมรดกก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ 2 ปี กรณีเจ้ามรดกยังไม่เสียชีวิตนั้น ทั้งนี้ต้องพิจารณาถ้อยคำในกฎหมายให้ดีว่าใช้ถ้อยคำอย่างไร เพราะเมื่อเจ้ามรดกยังไม่เสียชีวิต ทรัพย์สินที่โอนย่อมไม่ใช่มรดก การโอนระหว่างนี้จึงเป็นการโอนทั่วไป หรือการ "รับให้" ทั่วไป ซึ่งหากกลัวจะถูกบังคับเก็บภาษีย้อนหลัง ก็ทำเป็นสัญญาซื้อขายหรือมีวิธีเลี่ยงได้อีกหลายอย่าง นอกจากนี้การเก็บภาษีมรดกไม่ค่อยมีประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มรายได้ให้รัฐ เพราะมีช่องทางหลีกเลี่ยงภาษีได้ เช่น โอนทรัพย์สินไปต่างประเทศ ก็ยิ่งทำให้ประเทศที่เป็นศูนย์กลางการบริหารกองทุนทรัพย์สินส่วนบุคคลได้ประโยชน์ไปแทน

         

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักกฎหมายหนุนเก็บภาษีมรดกย้อนหลัง 2 ปี กันถ่ายเททรัพย์สิน อัปเดตล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2557 เวลา 11:19:48
TOP