x close

ธนาคารจีนครองแชมป์สุดยอดแบงก์แห่งปี 2014

ธนาคารจีนครองแชมป์สุดยอดแบงก์แห่งปี 2014

ธนาคารจีนครองแชมป์สุดยอดแบงก์แห่งปี 2014 (การเงินการธนาคาร)

          Industrial and Commercial Bank of China ของจีน สามารถรักษาเก้าอี้แชมป์ต่อได้อีกหนึ่งสมัย แถมยังพ่วงธนาคาร China Construction Bank ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 2 ในปีนี้

          การจัดอันดับธนาคารยิ่งใหญ่ของโลกในปี 2014 โดยนิตยสารการเงินการธนาคารชั้นนำ The Banker ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำเสมอข้อมูลในแวดวงเงิน ๆ ทอง ๆ ของโลกมาตั้งแต่ปี 1926 และได้มีการจัดอันดับความสำคัญของธนาคารในภูมิภาคต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 1970 เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการติดตามความเคลื่อนไหวและเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินทั้งหลายในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารของโลก โดยเริ่มจากการจัดอันดับธนาคารยักษ์ใหญ่ 300 อันดับแรกของโลกในปี 1971 จนกระทั่งปัจจุบัน The Banker ได้เพิ่มอันดับตามความสำคัญของธุรกิจการเงินการธนาคาร โดยเสนอรายชื่อธนาคารที่เข้มแข็ง 1,000 อันดับแรกของโลก หรือ The Banker’s Top 1000 World Banks ranking

          ในปี 2014 ธนาคารที่คว้าอันดับ 1 ของสุดยอดแบงก์เข้มแข็งที่สุดในโผของ The Banker ได้แก่ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) ของจีน ซึ่งสามารถรักษาเก้าอี้แชมป์ต่อได้อีกหนึ่งสมัย แถมยังพ่วงธนาคารสายเลือดมังกรเดียวกัน China Construction Bank กระโดดขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 2 ในปีนี้ จากเดิมอยู่ตำแหน่งที่ 5 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ JP Morgan Chase & Co ของลุงแซม เจ้าของอันดับเดิมในปีก่อนต้องถอยจากอันดับ 2 เลื่อนลงมาเป็นอันดับที่ 3 ในปี 2014 และยังดัน Bank of America เพื่อนร่วมชาติ ให้ก้าวลงมาอยู่ในตำแหน่งที่ 4 จากอันดับ 3 ในปีก่อน รวมถึงธนาคารเชื้อสายผู้ดี HSBC Holdings ก็จำใจต้องร่นลงมาอยู่ในอันดับที่ 5 ในปีนี้ จากอันดับ 4 ในปี 2013 แค่แบงก์เมืองมังกรขยับตัว ก็ส่งผลให้ธนาคารชั้นนำเก่าแก่ในแวดวงเงิน ๆ ทอง ๆ ของชาติตะวันตก ต้องหวั่นไหวกันเป็นแถว

          ใน 10 อันดับแรกของธนาคารที่เข้มแข็งสุดของ The Banker ซึ่งวัดจากมูลค่าเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารเมื่อสิ้นสุดปี 2013 ปรากฏว่า แบงก์ชั้นนำแห่งบู๊ลิ้มอีก 2 ราย ก็ไม่น้อยหน้า ได้สร้างความประทับใจด้วยการขยับอันดับตามขึ้นไป เช่นกัน โดย Bank of China เลื่อนขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 7 จากเดิมอยู่ในตำแหน่งที่ 9 และ Agricultural Bank of China จากที่เคยห้อยท้ายอันดับ 10 ก็ได้ ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 9 ในปี 2014 ปล่อยให้ธนาคารชั้นนำของญี่ปุ่น Mitsubishi UFJ Financial Group รั้งอันดับที่ 10 แทนในปีนี้ เทียบกับปีก่อน แบงก์ยักษ์พี่ยุ่นอยู่ในอันดับที่ 7 ของตาราง อีกทั้ง Mitsubishi UFJ ก็เป็นเพียงแบงก์ซามูไรหนึ่งเดียวที่ได้ติดโผ 10 อันดับแรกของ The Banker ประจำปี 2014

          อังกฤษก็น่าจะรู้สึกผิดหวังเช่นกัน ในฐานะที่มีตลาดการเงินเก่าแก่ที่สุดของโลก แต่ธนาคารชั้นนำที่สามารถยืนหยัดในท็อปเท็นได้สำเร็จ เหลือเพียง HSBC Holdings ส่วนธนาคารชั้นนำที่เหลือของเมืองผู้ดี อาทิ Barclays อยู่ในอันดับที่ 12 RBS อยู่ในอันดับที่ 15 Lloyds Banking Group อยู่ในอันดับที่ 22 และ Standard Chartered อยู่ในอันดับที่ 34 แต่หากย้อนไปในอดีตเมื่อปี 2008 จะพบว่า HSBC เคยนั่งเก้าอี้แชมป์ของ The Banker มาแล้ว แถมธนาคารร่วมชาติ RBS ก็ยังครองอันดับ 3 อีกต่างหากแต่ด้วยวิกฤตการเงินการธนาคารโลก ทำให้แบงก์ชั้นนำต่าง ๆ ต้องประสบปัญหามากมาย และต้องปรับตัวอย่างขนานใหญ่ วันนี้เศรษฐกิจอังกฤษกำลังพื้นตัวเป็นลำดับขณะที่ภาคการเงินการธนาคารก็เริ่มเข้มแข็งขึ้น เมื่อเทียบกับธนาคารต่าง ๆ ในกลุ่มยูโรทำให้อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารเมืองผู้ดีน่าจะสดใสขึ้นเรื่อย ๆ

          ธนาคารชั้นแนวหน้าของสหรัฐฯ คงไม่ยอมเสียชื่อผู้นำทางการเงินการธนาคารไปง่าย ๆ แม้ว่าจะไม่ได้ครองบัลลังก์แชมป์ แต่ก็สามารถเกาะท็อปเท็นในตาราง The Banker ได้ถึง 4 ธนาคาร มีจำนวนเท่ากับแบงก์จีน โดย Citigroup และ Wells Fargo & Co เป็นอีกสองธนาคารสหรัฐฯ ที่ครองอันดับ 6 และอันดับ 8 ในปี 2014 ซึ่งตำแหน่งไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน

ปี 2014 สร้างสถิติกำไรแบงก์สูงสุด

          การจัดอันดับธนาคารยิ่งใหญ่ 1,000 แห่งของโลกในปี 2014 The Banker ยังพบประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ผลกำไรโดยรวมของธนาคารทั้งหมด มีประมาณ 920,000 ล้านดอลลาร์ นับเป็นมูลค่าสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เทียบกับช่วงก่อนวิกฤตการเงินการธนาคารโลก 2007 ซึ่งมีผลกำไรของธนาคารรวมกันราว 786,000 ล้านดอลลาร์ โดยในปี 2014 ผลกำไรเพิ่มขึ้น ประมาณ 23% จากปีก่อนหน้า

          เป็นที่น่าสังเกตว่า ธนาคารจากแดนมังกรในโผของ The Banker มีสัดส่วนทำกำไรถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าผลกำไรทั้งหมดในจำนวนธนาคารที่เข้าอันดับ 1,000 ราย ของปี 2014 ตามมาด้วย ธนาคารสหรัฐฯ ที่ทำกำไรเป็นสัดส่วนราว 20% ของผลกำไรทั้งหมด ซึ่งต้องยอมรับว่าผลงานของแบงก์ทั้งสองประเทศ ได้มีส่วนทำให้กำไรโดยรวมในธุรกิจธนาคารของโลกในปีนี้ เป็นที่น่าประทับใจ

          แบงก์จีนมีมูลค่าเงินกองทุนชั้นที่ 1 รวมกันสูงถึง 1,190,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นปีแรกที่แซงหน้ากลุ่มธนาคารสหรัฐฯ ได้สำเร็จ ถึงแม้แบงก์จีนยังคงรายงานอัตรา NPL อยู่ในระดับต่ำราว 1% เหมือนเดิม แต่ตัวเลขผลกำไรของกลุ่มแบงก์จีนเพิ่มขึ้นในปีหน้ากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มที่มากเป็นอันดับ 2 ของจำนวนธนาคารทั้งหมด แถมยังมีมูลค่าเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของผลกำไรทั้งหมดของธนาคารในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกอีกด้วย

          เมื่อหันมาพิจารณาผลกำไรของกลุ่มธนาคารในชาติยูโร พบว่า มีสัดส่วนเพียง 3% ของมูลค่ากำไรทั้งหมดของธนาคาร 1,000 ราย ทั้งนี้เมื่อเทียบกับปี 2008 ธนาคารในกลุ่มยูโรเคยมีสัดส่วนกำไรถึง 25% แม้แต่อังกฤษ ที่ไม่ใช่สมาชิกยูโร แต่เป็นชาติยุโรป ก็ยังมีผลงานน่าใจหาย โดยมีสัดส่วนกำไรในปีนี้ ราว 2.37% ของกำไรทั้งหมด หรือประมาณ 1 ใน 13 ของกำไรที่แบงก์จีนทำได้ในปี 2014 ในขณะที่ธนาคารเมืองผู้ดีเคยมีสัดส่วนกำไรถึง 11% ในช่วงก่อนวิกฤตการเงินปี 2008 และที่ตอกย้ำความเศร้าก็คือ สัดส่วนกำไรของแบงก์อังกฤษต่อกำไรทั้งหมดในปีนี้ ยังน้อยกว่าธนาคารบราซิล ซึ่งมีกว่าธนาคารบราซิล ซึ่งมีสัดส่วนกำไรราว 2.84% ของกำไรทั้งหมดในตาราง

          จากการจัดอันดับประเทศที่มีธนาคารทำกำไรมากที่สุด 10 อันดับแรก ในปี 2014 ตำแหน่งแชมป์หนีไม่พ้นแดนมังกร ซึ่งธนาคารจีนทำกำไรรวมกันสูงสุดเป็นสัดส่วน 31.78% ของกำไรรวมทั้งหมดในตาราง 1,000 ของ The Banker ประเทศที่มีธนาคารสร้างผลกำไรตามมาเป็นอันดับสอง ได้แก่ สหรัฐฯ (19.91%) ต่อด้วย ญี่ปุ่น (6.97%) แคนาคา (4.26%) ฝรั่งเศส (4.20%) ออสเตรเลีย (4.20%) บราซิล (2.84%) อังกฤษ (2.37%) รัสเซีย (2.35%) และอินเดีย (1.82%) เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (BRIC) ยังรั้งตำแหน่งในท็อปเท็นไว้ได้ แสดงว่ายังเป็นดินแดนที่ธนาคารในประเทศ สามารถประกอบธุรกิจมีผลกำไรงดงาม

          การประกอบกิจการของแบงก์ต่างชาติยังไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ผลกำไรของแบงก์ต่างชาติในจีนของรอบปีที่แล้วลดลงถึง 14% เทียบกับแบงก์จีนกลับมีผลกำไรเพิ่มถึง 15% นอกจากนี้สัดส่วนของสินทรัพย์ในธนาคารต่างประเทศในจีนก็หดลงเหลือ ราว 1.73% ของสินทรัพย์ในระบบแบงกิ้งจีนทั้งหมด

          แม้ว่ารัฐบาลจีนได้เริ่มอนุญาตให้ธนาคารต่างประเทศบางแห่งเข้ามาประกอบกิจการในจีนตั้งแต่ปี 2007 จนปัจจุบันมีจำนวนราว 42 ราย และมีจำนวนสาขานับร้อยแห่งทั่วประเทศ แต่แบงก์ต่างชาติก็ยังไม่สามารถแข่งขันกับแบงก์เจ้าถิ่นได้อย่างเต็มที่ ในรอบปีที่แล้ว เงินฝากของแบงก์ต่างชาติในจีนเติบโตราว 5% ขณะที่แบงก์จีนมีเงินฝากเพิ่มขึ้น 13.5% อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นของแบงก์ต่างชาติในจีนอยู่ที่ 5.6% ส่วนแบงก์จีนแตะที่ระดับ 19.2% สำหรับอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ของแบงก์ต่างชาติอยู่ที่ 0.5% เทียบกับแบงก์จีนให้ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ถึง 1.3% ในรอบปีที่ผ่านมา

          ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ธนาคารจีนสามารถคว้าตำแหน่งสุดยอดแบงก์ในปี 2014 ได้เกือบทุกสำนักที่มีการจัดอันดับธนาคารยิ่งใหญ่ของโลก เนื่องจากการทำมาหากินในแดนมังกรเฟื่องฟู ยกเว้นธนาคารต่างชาติที่เป็นคู่แข่ง ยังต้องเผชิญอุปสรรคการกีดกันจากทางการในแง่กฎระเบียบ บางประการ เนื่องจากทางการจีนยังเกรงว่าธนาคารท้องถิ่นจะแข่งขันสู้แบงก์ต่างชาติไม่ได้ อาทิ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบรวมกิจการในจีน ทำให้ธนาคารต่างประเทศที่ต้องการเดินทางลัด ควบรวมกับสถาบันการเงินท้องถิ่นจีนไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย หรือการกำหนดเกี่ยวกับเงินกู้ยืมจากธนาคารแม่ที่แบงก์ต่างชาติจะนำเข้ามาใช้ในจีน ก็อนุญาตให้ในวงเงินต่ำ หรือการบังคับให้แบงก์ต่างชาติต้องทำรายงานส่งทางการจีนเป็นจำนวนมากมายนับพัน ๆ รายการต่อปี ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากมายโดยไม่จำเป็น รวมถึงการเรียกผู้บริหารของแบงก์ต่างชาติไปพบกับเจ้าหน้าที่รัฐ หากทางการจีนเกิดข้อสงสัยในการดำเนินกิจการของแบงก์นั้น ๆ

          ข้อสังเกตจากแบงก์ต่างชาติในจีน สะท้อนว่าถึงแม้ธนาคารจีนจะยิ่งใหญ่และมีผลกำไรงดงาม อันเนื่องมาจากการประกอบกิจการเจริญรุ่งเรืองในประเทศ แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแทรกแซงของรัฐบาลที่คอยสนับสนุนแบงก์รัฐเหล่านี้ ทำให้วงการแบงกิ้งโลกต้องจับตาการดำเนินงานของธนาคารชั้นนำจีนต่อไป ว่าจะผงาดในอันดับต้น ๆ ของเวทีการเงินการโลกได้อีกนานแค่ไหน

          ญี่ปุ่น นับเป็นตัวอย่างใกล้ตัวที่ทำให้มองเห็นอนิจจังของวงการแบงกิ้งโลก เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ในการจัดอันดับของ The Banker ปรากฏว่าธนาคารเมืองปลาดิบติดโพย 10 อันดับแรก รวม 6 ธนาคาร และยังคว้าแชมป์เป็นแบงก์ใหญ่สุดในยุคนั้นอยู่หลายสมัย แต่ปี 2014 มีธนาคารญี่ปุ่นเข้าทำเนียบท็อปเท็นเพียงแบงก์เดียว คือ Mitsubishi UFJ Financial Group อีกทั้งธนาคารญี่ปุ่นทั้งหมดในตาราง 1,000 ก็ยังมีมูลค่าเงินกองทุนน้อยกว่าแบงก์จีนทั้งหมดราวครึ่งหนึ่ง

          ธนาคารญี่ปุ่นก็มีผลงานไม่ด้อยจนเกินไป เมื่อเทียบกับศักดิ์ศรีของประเทศซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับ 3 ของโลก แม้ว่าญี่ปุ่นได้ใช้เวลาเยียวยาเศรษฐกิจและภาคการเงินการธนาคารอย่างมาราธอนนับสิบปี วันนี้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ และการธนาคารยังคงพื้นตัวเป็นลำดับ ธนาคารญี่ปุ่นมีผลกำไรมากเป็นอันดับที่ 3 ในโผ 1,000 ปีนี้ และยังมีอัตราผลตอบแทนต่อเงินกองทุนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 12% รวมถึง มีสัญญาณที่ชี้ว่าแบงก์ญี่ปุ่นเริ่มมีความมั่นใจในการประกอบกิจการอย่างแข็งขัน ด้วยการออกไปลงทุนซื้อกิจการแบงก์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะย่านอาเซียน เพื่อรองรับการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปีหน้า อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นยังเร่งรัดให้มีการปรับปรุงการดำเนินงานในด้านการกำกับดูแลอย่างโปร่งใส รวมถึงการกำหนดให้มีคณะกรรมการธนาคารจากบุคคลภายนอก เพื่อให้ธนาคารญี่ปุ่นมีการบริหารงานอย่างมืออาชีพและไม่มีระบบอุปถัมภ์ระหว่างธุรกิจต่าง ๆ อีกต่างไป ทั้งนี้คาดว่าแบงก์ญี่ปุ่นจะหวนคืนสังเวียนของ The Banker มากขึ้นในอนาคต

          ในประเด็นเรื่องผลตอบแทนของธนาคาร ในปี 2014 The Banker พบว่า ธนาคารในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีผลงานน่าพอใจมากที่สุด โดยแบงก์ในภูมิภาคแอฟริกาให้ผลตอบแทนต่อเงินกองทุน (Return on Equity : RoE) ในอัตราส่วน 24% หรือประมาณ 2 เท่าของค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนของธนาคารที่เหลือในตาราง 1,000 ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับธนาคารในยุโรป ซึ่งมีอัตราส่วน RoE แค่ 4%

          นอกจากนี้ ธนาคารในทวีปอเมริกากลางและละดินอเมริกาก็มี RoE ค่อนข้างสูง เช่นกันในอัตราราว 23% ส่วนย่านตะวันออกกลางมี RoE มากกว่า 15% ทั้งนี้ธนาคารในภูมิภาคแอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ รวมถึงตะวันออกกลาง มีเงินกองทุนเป็นสัดส่วนประมาณ 1-4% ของเงินกองทุนรวมทั้งหมดของแบงก์ 1,000

อนาคตแบงก์ยิ่งยืน ?

          การที่ผลกำไรรวมของธนาคาร 1,000 ในโผ The Banker ปีนี้ ทำสถิติมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดคำถามที่ว่าผลประกอบการแบงก์เหล่านี้จะยังคงสดใสและมีเสถียรภาพต่อไปหรือไม่ นักวิเคราะห์ไม่ได้ให้คำตอบชัดเจน แต่ระบุว่าธนาคารส่วนใหญ่มีความเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อน ๆ โดยแบงก์ต่าง ๆ พยายามเพิ่มเงินกองทุนกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันเกิดวิกฤติการเงินร้ายแรง เหมือนปี 2008 โดยในปีนี้เงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารในอันดับที่ 1,000 มีมูลค่าสูงถึง 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่มากกว่าปี 2005 ถึง 2 เท่า

          นอกจากนี้ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ (Capital Adequacy Ratio : CAR) ของแบงก์ทั้งหมดเมื่อสิ้นสุดปี 2013 อยู่ที่ 5.86% ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อ 5 ปีก่อน ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ บังคับให้แบงก์มีการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์อย่างจริงจัง หากเทียบเมื่อปี 1971  ปรากฏว่าธนาคารท็อปเท็นของ The Banker มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ประมาณ 4.53%

          อีกทั้งยังพบว่าธนาคารในประเทศสหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 มีการเร่งเพิ่มเงินกองทุนกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะธนาคารสหรัฐฯ พบว่าธนาคารชั้นนำของลุงแซม 10 อันดับแรกของประเทศ จะมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เฉลี่ยประมาณ 7.84% ในปี 2014 ขณะที่ธนาคารชั้นนำ 10 อันดับแรกของอียู จะมี CAR ราว 4.47% ถึงแม้ตัวเลขจะแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าเป็นผลจากการใช้ระบบการบันทึกข้อมูลที่แตกต่างกันในสองทวีป

          แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่อียูเริ่มมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐฯ ที่ว่า การแก้ไขปัญหาธนาคารของยุโรป ควรดำเนินการอย่างรวดเร็ว เหมือนที่ทางการสหรัฐฯ กอบกู้สถานการณ์ในช่วงปี 2008-2009 จนวันนี้ ธนาคารสหรัฐฯ มีฐานะกระเตื้องดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่แบงก์ในยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มยูโร ยังคงอ่อนแอ ส่งผลให้ประเทศสมาชิกยูโร เริ่มเล็งเห็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด เช่น ให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารทั้งหมดในกลุ่มยูโร รวมถึงให้มีการจัดตั้งสหภาพการธนาคารยุโรป เพื่อให้การดูแลแก้ไขปัญหาระบบการเงินการธนาคารเป็นหนึ่งเดียว

          โดยเฉพาะการทบทวนตรวจอบคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารต่าง ๆ อย่างเข้มงวด ก่อนที่จะทำการทดสอบ Stress Test เพื่อให้ผลทดสอบได้มาตรฐานถูกต้อง และการประเมินผลแม่นยำ ไม่ผิดพลาดเหมือนปี 2011 ที่ไม่มีการตรวจคุณภาพสินทรัพย์ก่อน ทำให้การทดสอบ Stress Test ให้ผลบิดเบือนและส่งผลเสียหายต่อระบบการเงินการธนาคารของกลุ่มยูโร

          การแก้ไขปัญหาธนาคารในกลุ่มยูโรอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการเร่งรัดให้แบงก์เจ้าปัญหาต่าง ๆ ปฏิรูปโครงสร้างอย่างจริงขัง มีการขายสินทรัพย์ที่ไม่เป็นประโยชน์ทางธุรกิจ การเงินการธนาคาร รวมถึงการเพิ่มเงินกองทุนเป็นระยะ ๆ ส่งผลให้ผลงานของแบงก์ในกลุ่มยูโรไม่เลวร้ายเสียทั้งหมด โดยเฉพาะธนาคารในสเปนและกรีซปรากฏว่ามีผลกำไรให้เห็นใน ปี 2014 จากที่เคยขาดทุนมหาศาลในปีก่อนหน้า แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ธนาคารอีกหลายแห่งในประเทศเจ้าปัญหาของกลุ่มยูโรยังคงต้องเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างต่อไป โดยเฉพาะธนาคารในอิตาลี ซึ่งมีผลขาดทุนรวมกันมากที่สุด เป็นมูลค่าราว 35,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารโปรตุเกสและไอร์แลนด์ ก็ยังคงอยู่ในวังวนขาดทุนต่อไป แต่ทั้งนี้กลุ่มยูโรมีความหวังที่ว่า หากเศรษฐกิจของยูโรกระเตื้องขึ้นในปีหน้า ด้วยมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรปที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ก็น่าจะช่วยให้การฟื้นตัวภาคการธนาคารของประเทศสมาชิกยูโรพ้นจากวิกฤตเร็วขึ้นในปี 2015



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสารการเงินธนาคาร
สิงหาคม 2557 Issue 388




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธนาคารจีนครองแชมป์สุดยอดแบงก์แห่งปี 2014 อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2557 เวลา 11:27:44
TOP