x close

กสิกรไทยคาดส่งออกรถยนต์ไทย ปี 57 แนวโน้มขยายตัว

กสิกรไทยคาดส่งออกรถยนต์ไทย ปี 57 แนวโน้มขยายตัว

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          กสิกรไทยคาดส่งออกรถยนต์โดยรวมของไทย ปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวขึ้น หลังนักลงทุนยังเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทย และปัจจัยบวกต่าง ๆ เช่น การเปิดตลาดใหม่มากขึ้น และการปรับสายการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น

          เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการส่งออกรถยนต์รวมของไทยปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 6-11% คิดเป็นจำนวนรถยนต์ราว 1.16-1.22 ล้านคัน ส่งผลให้ตลาดส่งออกของไทยจะพลิกกลับมามากกว่าตลาดรถยนต์ในประเทศได้อีกครั้ง อันเป็นผลจากนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงปัจจัยบวกต่าง ๆ เช่น การปรับสายการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, ทิศทางการอ่อนค่าของค่าเงินบาท และการสามารถเปิดตลาดใหม่บางแห่งได้เพิ่มขึ้น เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ
    
          หลังจากในปี 2556 ที่ตลาดส่งออกของไทยทำสถิติตัวเลขส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่มากกว่า 1.096 ล้านคัน ในปี 2557 นี้การส่งออกของไทยก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 เดือนแรก ไทยสามารถทำยอดการส่งออกได้จำนวน 357,004 ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อน 1.5%

          ขณะที่ปัจจัยบวกหลักซึ่งจะเข้ามาช่วยกระตุ้นยอดขายหลังจากนี้ นอกเหนือจากการที่ค่ายรถสามารถปรับสายการผลิตมาเป็นการผลิตเพื่อส่งออกได้มากขึ้นแล้ว ยังประกอบด้วย ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงตามทิศทางการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นอกจากนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังมีการเดินหน้าพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนที่ค้างอยู่ และการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน ขณะที่กลุ่มนักลงทุนทั้งกลุ่มที่มีการลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว และที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ นับว่ายังมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทยอยู่มาก ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรง ก็คาดว่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นตลาดการส่งออกรถยนต์ในปีนี้อีกทางหนึ่ง

กสิกรไทยคาดส่งออกรถยนต์ไทย ปี 57 แนวโน้มขยายตัว

          อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามตลาดส่งออกหลักของไทยแต่ละตลาด รวมถึงประเภทของรถยนต์ที่ส่งออกไปยังแต่ละตลาดแล้ว จะเห็นได้ว่าโอกาสในการส่งออกนั้นมีแตกต่างกันออกไป ดังนี้

1. ตลาดส่งออกรถยนต์นั่ง

          ไทยส่งออกรถยนต์นั่ง (HS code: 8703) ไปยังตลาดต่างประเทศเป็นมูลค่าประมาณ 6,523 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 15% อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการกลับมาผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้นของค่ายรถแล้ว การผลักดันการส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหลักหนึ่งที่ส่งเสริมยอดการส่งออกรถยนต์นั่งของไทย ทั้งนี้ เมื่อดูรายประเทศที่ส่งออกแล้วสามารถแบ่งกลุ่มตลาดส่งออกได้ดังนี้

          ตลาดหลักเดิมที่ยังคงมีโอกาสขยายตัว นำโดย ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 23% ของการส่งออกรถยนต์นั่งทั้งหมดของไทย ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ ซึ่งไทยส่งออกไปมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 3 ด้วยมูลค่า 672 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    
          ตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวอยู่ในระดับสูง ในปี 2556 ที่ผ่านมา ตลาดที่มีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งจากไทยไปสูงมาก ได้แก่ ประเทศแอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ เมียนมาร์ และโปแลนด์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ติดอันดับกลุ่ม 15 ประเทศแรก ที่ไทยส่งออกรถยนต์นั่งไปมีมูลค่าสูง และเพิ่งจะมีการขยายตัวของการส่งออกแบบก้าวกระโดดในปี 2556 ที่ผ่านมา

          ตลาดหลักเดิมที่มีโอกาสหดตัวลงในอนาคต ตลาดรถยนต์นั่งหลักเดิมที่เริ่มมองเห็นทิศทางการหดตัวลงในขณะนี้มี 2 ตลาด คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ในปี 2556 มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งจากไทยไปยัง 2 ประเทศนี้หดตัวลงถึง 32% และ 37% ตามลำดับ

2. ตลาดส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

          ไทยส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (HS code: 8704) ไปยังตลาดต่างประเทศเป็นมูลค่าประมาณ 10,428 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2556 หดตัวลงจากปีก่อนหน้านั้นประมาณ 0.4% ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศจากโครงการรถยนต์คันแรก ทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกลดลงไปในช่วงที่ผ่านมา แม้จะปรับดีขึ้นแล้วในปี 2556 แต่ก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ โดยปัญหาดังกล่าวคาดว่าจะหมดไปในปีนี้ และกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกน่าจะปรับเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดในประเทศมีทิศทางที่ชะลอลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดโดยรวมจะหดตัวลง แต่เมื่อดูรายประเทศที่ส่งออกแล้ว ก็จะเห็นว่าสามารถแบ่งกลุ่มตลาดส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ได้ดังนี้

          ตลาดหลักเดิมที่ยังคงมีโอกาสขยายตัว นำโดยออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 25% ของการส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ทั้งหมดของไทย ตามมาด้วยซาอุดิอาระเบีย โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา การส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ไปยัง 2 ประเทศนี้ขยายตัวกว่า 3% และ 4% ตามลำดับ

          ตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวอยู่ในระดับสูง ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์จากไทยไปสูง และเพิ่มขึ้นอย่างมากสวนทางกับตลาดที่หดตัวลง ได้แก่ นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ลาว เปรู อิรัก อัลจีเรีย และเวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้ติดอันดับกลุ่ม 20 ประเทศแรก ที่ไทยส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ไปมีมูลค่าสูง และเพิ่งมีการขยายตัวของการส่งออกแบบก้าวกระโดดในช่วง 1 ถึง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงเท่านั้น พบว่าส่วนใหญ่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งในประเทศเหล่านั้น ขณะที่ประเทศส่งออกอื่นมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ลดลง นั่นคือรถเพื่อการพาณิชย์ของไทยสามารถเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นได้ในตลาดใหม่เหล่านี้

          ตลาดหลักเดิมที่หดตัวลงในปี 2556 ในช่วงปีที่ผ่านมา การส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ไปยังหลายประเทศที่เป็นตลาดหลักเดิมของไทย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน ชิลี มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีการหดตัวลงทุกตลาด อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกของปี 2556 การส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ไปยังตลาดหลักเหล่านี้แทบทุกตลาดก็ยังเป็นมูลค่าที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงหลายปีติดต่อกันก่อนหน้านั้นถึงกว่า 1 เท่าตัว ยกเว้นเพียงอินโดนีเซียที่มูลค่าการส่งออกไม่แตกต่างจากเดิมมากเท่าประเทศอื่น ๆ ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ของไทยต่อมูลค่าตลาดรวมในประเทศผู้นำเข้าแต่ละประเทศเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าตลาดเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต

          กล่าวโดยสรุปคือ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2557 โดยรวมแล้วมีโอกาสขยายตัวได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มของตลาดรถยนต์นั่ง โดยนอกเหนือจากการผลิตรถยนต์ประเภทนี้ที่เพิ่มขึ้นมากในไทยแล้ว ยังเนื่องมาจากไทยสามารถเปิดตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กในบางกลุ่มประเทศได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลได้ที่สำคัญจากการวางมาตรฐานรถยนต์ที่ผลิตในประเทศสูงขึ้นจากโครงการรถยนต์อีโคคาร์เฟส 1 ซึ่งโครงการรถยนต์อีโคคาร์เฟส 2 ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานตามแผนก็คาดว่าจะกลายมาเป็นอีกความหวังหนึ่งสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งได้เช่นเดียวกัน



    

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กสิกรไทยคาดส่งออกรถยนต์ไทย ปี 57 แนวโน้มขยายตัว อัปเดตล่าสุด 4 เมษายน 2563 เวลา 01:44:01
TOP