x close

สิ่งที่ผู้ใช้มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต

บัตรเครดิตกับการใช้งานให้ถูกวิธี

เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ และคุณสุนิติ ถนัดวณิชย์ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย

          บัตรเครดิตกับการใช้งานให้ถูกวิธี ยังมีอีกหลายคนที่ใช้งานบัตรเครดิตด้วยความเข้าใจผิด ดังนั้นวันนี้เราเลยมีสิ่งที่ผู้ใช้มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตมาบอกกัน

          การมีบัตรเครดิตเอาไว้ในครอบครอง กลายเป็นเรื่องสามัญที่คนทำงานส่วนใหญ่มักจะมีเอาไว้เพื่อความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย แต่บางครั้งการมีบัตรเครดิตที่ใช้งานง่ายก็อาจทำให้ลืมใส่ใจในเรื่องสำคัญอย่างการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต หรืออาจจะยังเข้าใจผิด ๆ อยู่ ดังนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอนำเอาบทความดี ๆ จาก คุณฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ และคุณสุนิติ ถนัดวณิชย์ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย มาฝากให้ได้ทำความเข้าใจกันค่ะ

          ความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าและบริการ เมื่อมากับกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอาจทำให้เกิดนิสัยการใช้เงินเกินตัวได้ การใช้จ่ายเงินมากกว่าที่หามาได้นั้นเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน จึงเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงกระทำ นอกจากนี้ยังเพิ่มภาระทางการเงินหากคุณไม่สามารถชำระหนี้ก้อนดังกล่าวแบบ เต็มจำนวนเมื่อครบกำหนด เพราะคุณจะต้องเสียดอกเบี้ยจ่ายและ/หรือค่าธรรมเนียม รวม ๆ กันแล้วอยู่ในอัตรา 20% ต่อปี ซึ่งอาจเป็นภัยเงียบใกล้ ๆ ตัวคุณได้

          สิ่งที่ผู้ใช้บัตรเครดิตมักจะเข้าใจผิด คือ วิธีการคำนวณดอกเบี้ยจ่ายของบัตรเครดิต ยกตัวอย่างเช่น รูดบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าอาหาร และค่าซ่อมรถยนต์ไป จำนวน 25,000 บาท เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2554 คุณได้รับใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

การคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต

          ยอดเงินถึงวันที่ 5 ส.ค. 54 (Billing Date)
     
          วันครบกำหนดชำระ 30 ส.ค. 54 (Payment Due Date)

          ยอดรวมที่ต้องชำระ 25,000 บาท (Outstanding Bal.)

          ยอดเงินขั้นต่ำที่ต้องชำระ 2,500 บาท (Minimum Payment Due)


          ในวันที่ครบกำหนดชำระ คุณสามารถที่จะเลือกชำระเต็มจำนวน 25,000 บาท หรือ เลือกชำระขั้นต่ำเพียง 10% ของยอดเต็ม คือ 2,500 บาท โดยปกติแล้วบริษัทบัตรเครดิตมักเสนอให้จ่ายขั้นต่ำ 10% ของยอดฯ หากคุณเลือกจ่ายขั้นต่ำจะทำให้คุณชำระเงินมากขึ้นจาก "ดอกเบี้ย"

          ถ้าในกรณีนี้ คุณตัดสินใจที่จะชำระบางส่วน จำนวน 20,000 บาท และเป็นหนี้คงค้างจำนวน 5,000 บาท เมื่อคุณกลับมาคิด "ดอกเบี้ย" ที่ต้องจ่ายสำหรับเงินต้นคงเหลือจำนวน 5,000 บาท คุณอาจจะคิดว่าดอกเบี้ยจ่ายคงไม่เท่าไร แต่เมื่อรอบบัญชีถัดมา (5 ก.ย. 54) ดอกเบี้ยจ่ายที่พบอาจทำให้คุณตะลึง !! แทนที่คุณจะจ่ายดอกเบี้ยเพียง 19.17 บาท (อัตราดอกเบี้ยต่อปี (20%) x จำนวนวัน (30 ส.ค. – 5 ก.ย. 54) x เงินต้น (5,000 บาท)) แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ !!! คุณจะต้องจ่ายถึง 469.04 บาท ดังตารางคำนวณต่อไปนี้

การคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต

          สิ่งที่ทำให้ดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น มาจาก 2 ส่วน คือ ยอดหนี้ที่ใช้คิดดอกเบี้ย และจำนวนวันที่ใช้คำนวณดอกเบี้ย

          ปัจจัยแรก แน่นอนว่ายอดหนี้ที่ใช้คิดดอกเบี้ย ไม่ได้มีเพียงแต่ยอดหนี้คงเหลือนับจากวันครบกำหนดชำระเพียงอย่างเดียว (5,000 บาท) แต่คิดจากยอดหนี้เต็มจำนวนโดยคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่รูดซื้อสินค้าและบริการ

          ปัจจัยที่สอง คือจำนวนวันที่คิดดอกเบี้ย ซึ่งคิดตั้งแต่วันที่บันทึกจนกระทั่งถึงก่อนวันครบกำหนดชำระ 1 วัน โดยใช้ยอดหนี้ซื้อสินค้าหรือบริการเป็นเงินต้นในการคำนวณ (ส่วนที่ 1) และจำนวนวันที่คิดดอกเบี้ยยังคิดต่ออีก ในวันที่ครบกำหนดชำระจนกระทั่งถึงวันตัดยอดของรอบบัญชีถัดไป (5 ก.ย. 54) อาจจะกล่าวในทางเทคนิคได้ว่า คุณเปิดโอกาสให้ผู้ออกบัตรเครดิตคิดดอกเบี้ยในระยะปลอดดอกเบี้ยได้เต็มที่เลยทีเดียว ซึ่งรายละเอียดในการคำนวณดอกเบี้ยจะไม่ได้แสดงในใบเรียกเก็บหนี้ แต่จะแสดงอยู่ในข้อควรปฏิบัติและเงื่อนไขในการใช้บัตรเครดิต ซึ่งจะเป็นเอกสารแนบในใบเรียกเก็บในแต่ละเดือน

การคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต

          ถึงแม้บัตรเครดิตจะดูดเงินในกระเป๋าคุณได้ คุณก็สามารถควบคุมการใช้บัตรเครดิต อย่างระมัดระวังได้ วิธีที่ดีที่สุดในการใช้บัตรเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพ คือเมื่อตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการแล้ว คุณต้องแน่ใจว่าจะมีเงินจ่ายเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนด หรือพยายามจ่ายคืนให้เร็วที่สุด บัตรเครดิตจึงเป็นเหมือนดาบสองคม ดังนั้นควรใช้บัตรเครดิตอย่างระมัดระวังด้วย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สิ่งที่ผู้ใช้มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต อัปเดตล่าสุด 5 มิถุนายน 2557 เวลา 11:17:06 19,471 อ่าน
TOP