x close

การวางแผนลงทุนประหยัดภาษี

วางแผนการเงิน

การวางแผนลงทุนประหยัดภาษี
(modernmom)
เรื่อง : สุวภา เจริญยิ่ง

        ตอนต้นปีแบบนี้คงต้องรีบเขียนรีบบอก ก่อนที่ปล่อยเวลาล่วงเลยไปถึงปลายปีแล้วมานั่งเสียดาย เพราะไม่ทันการณ์ ต้องมาเร่งมาทำแล้วอาจไม่ทันได้ เรื่องลงทุนเพื่อประหยัดภาษีตอนปลายปี มีหลายเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว... เรามาเริ่มกันดีไหมคะ

1. เลือกลงทุน

        ไม่มีอะไรจะเหมาะไปกว่าลงทุนคู่ขวัญที่ชื่อ LTF (Long Term Equity Fund) และ RMF (Retirement Mutual Fund) สองกองทุนที่รัฐออกมาโดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ เข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น และการเก็บออมสำหรับใช้ในวัยเกษียณ

        โดยยอมให้เราลงทุนแต่ละกองทุนได้สูงถึง 15% ของรายได้รวมแต่ไม่เกินปีละ 500,000 บาทต่อคน รวมสองกองทุนนี่ก็สูงสุดปีละ 1 ล้านบาท สิ่งที่รัฐให้เป็นแรงจูงใจคือการคืนภาษีเท่ากับภาษีที่ต้องเสียสำหรับเงินลงทุนทั้งหมดตามฐานภาษีที่ต้องเสียของแต่ละบุคคล นั่นหมายถึงภาษี ปีนี้ที่บุคคลธรรมดาเสียสูงสุด 35% หากมาลงทุนตามสิทธิแบบเต็มที่ก็จะได้เงินคืนภาษีสูงถึง 350,000 บาทกันเลยทีเดียว ไม่นับอัตราผลตอบแทนที่แต่ละกองทุนจะทำได้อีก จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องทำไว้ก่อนสิ้นปี และที่สำคัญปลาย ๆ ปีมักมี Promotion ดี ๆ แบบเร้าใจสุดขีดจากทุก บลจ. มานำเสนอค่ะ เรียกว่าน่าจะได้เห็นอะไรดีดีมาให้เลือกกัน

2. ดูแลชีวิตและสุขภาพผ่านประกันชีวิต

        สิ่งที่เจอะเจอในวันนี้ก็คือการที่สุขภาพและความมั่นคงของคนที่เรารักมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกปี ว่ากันตรง ๆ ก็คือ ถ้าเราเป็นอะไรไปจะเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวเราและคนที่เรารัก ถ้าเราห่วงเรื่องนี้การซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แถมรัฐยังให้ลดหย่อนในวงเงินสูงถึงคนละ 100,000 บาทเลยทีเดียว

        ในขณะเดียวกันกับปัญหาเดิมแต่ไม่ได้กลัวตายก่อน ทว่าวิตกว่าตัวเองจะอายุยืนเกินไป นั่นคือตายช้า สิ่งที่มีเสนอเลยเป็นการซื้อประกันแบบบำนาญที่จะสามารถเลือกรับเงินประกันคืนได้เป็นงวด ๆ แบบรับเงินบำนาญได้ แถมยังให้ลดหย่อนสูงถึง 300,000 บาท บาทต่อคนต่อปี แต่ต้องนำไปรวมกับ RMF และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทจัดให้เราโดยไม่ให้เกินวงเงินรวม ในแต่ละหมวดถ้าคุณมีการลงทุนเหล่านั้นแล้วก็นำมาหักกับ 300,000 บาท ถ้ามีเหลือก็ซื้อได้เท่านั้น แต่ถ้าคุณไม่มี RMF หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลย คุณซื้อได้สูงสุดถึง 300,000 เลยทีเดียว

3. บ้านคือวิมานของเรา

        นั่นคือเงินซื้อบ้าน ถ้าท่านเข้าร่วมโครงการลดหย่อนบ้านหลังแรกก็นำสิทธิ์นั้นมาใช้ แต่ถ้าท่านไม่ได้เข้าร่วมแต่ยังผ่อนบ้านอยู่ก็อย่าลืมเอาดอกเบี้ยที่ผ่อนบ้านมาหักภาษีได้อีกปีละ 100,000 บาท จะเป็นหลังที่สองหลังที่สามไม่ว่ากัน แต่กรุณาวางแผนกับคนเดิมที่บ้าน มิฉะนั้น บ้านอาจแตกได้

4. บิดามารดาพระคุณดั่งขุนเขา

        ยิ่งถ้าคุณดูแลบิดามารดาไม่มีรายได้ รัฐให้ท่านหักค่าดูแลบิดามารดาสูงถึงท่านละ 50,000 บาท และรวมถึงกรณีบิดามารดาของคู่สมรสอีกด้วยรวม 4 ท่านได้สูงสุด 200,000 บาท

5. เงินบริจาคการศึกษา วัดวาอาราม หรือมูลนิธิสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ

        นั่นก็คือความใจบุญของคุณส่งผลบุญกันชาตินี้ไม่ต้องรอชาติหน้า ยิ่งเป็นการบริจาคเพื่อการศึกษาลดหย่อนได้ถึงสองเท่า เช่น คุณบริจาคให้โรงเรียน 100,000 บาท คุณก็สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ 200,000 บาท ถ้าฐานภาษีคุณ 35% ก็หมายความว่าคุณได้รับการลดหย่อนภาษีสูงถึง 70,000 บาท แสดงว่าเงินที่คุณบริจาค 100,000 บาทนั้น คุณจ่ายเงินออกจริง ๆ แค่ 30,000 บาทเท่านั้น

6. เครดิตภาษีเงินปันผล และภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

        ผู้ใหญ่หลายท่านที่เกษียณในปัจจุบัน หรือพ่อแม่หลายคนที่มีการลงทุนผ่านชื่อบุตรที่ยังไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่ถึง 200,000 บาทต่อปีหลังหักค่าลดหย่อนแล้ว ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ทำให้เงินปันผลที่บริษัทจ่ายภาษีไว้ที่ 20% และภาษีดอกเบี้ยที่โดนหัก ณ ที่จ่ายไว้ 15% นั้นสูงกว่าฐานภาษีที่จะต้องจ่าย จึงทำให้เราสามารถขอเครดิตภาษีคืน และขอภาษีดอกเบี้ยเงินฝากคืนได้ เลยมีผู้ใหญ่หลายท่านนำเงินภาษีคืนเหล่านี้ที่ปีละหลายหมื่นอยู่ เอาไปซื้อทัวร์ไปเที่ยวกำไรชีวิตกันไปตาม ๆ กัน

7. การแยกยื่นภาษีสำหรับสามีภรรยา

        หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้สามีภรรยาสามารถแยกกันยื่นภาษีได้แล้ว และควรทำด้วยเพราะเป็นการกระจายรายได้ เนื่องจากระบบภาษีเราเป็นในแบบอัตราก้าวหน้าได้น้อยเสียน้อยได้เยอะเสียเยอะ เลยทำให้การกระจายฐานรายได้มีผลให้เสียในอัตราที่ต่ำลง แถมกรณีที่สามีหรือภรรยาไม่ได้ทำงาน การนำไปใช้ชื่อเป็นผู้ถือบัญชีเงินฝากซื้อพันธบัตร หุ้นกู้ หรือหุ้น จึงเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาเพราะยังสามารถไปขอเครดิตภาษีเงินปันผล และขอคืนดอกเบี้ยเงินฝากได้อีกด้วย

8. การจัดทำรายละเอียดทรัพย์สิน หนี้สิน รายรับ รายจ่ายประจำปี

        เนื่องจากเราต้องคำนวณว่าเราจะลงทุนเท่าไร ฝากเงินที่ไหน ขอภาษีคืนอะไรบ้าง อาจจะเตรียมข้อมูลสำหรับช่วงเดือนสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะมากที่จะสรุปเรื่องราวทั้งปีว่า...

        ตอนนี้เรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน เช่น ทรัพย์สินทางการเงิน เงินฝากเงินลงทุน ตราสารอื่น ๆ ที่ครอบครอง ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไร อัตราผลตอบแทนเป็นอย่างไร มากน้อยเราพอใจหรือเปล่า ปรับปรุงดีขึ้นได้ไหม ไม่ใช่ไม่พอใจก็ต้องทำใจ เพราะเราควรดูแลเงินทองของเราให้ดียิ่งขึ้นในแต่ละปีที่ผ่านไป

        ในขณะเดียวกันยังมีหนี้สินอะไรค้างอยู่บ้าง ดอกเบี้ยที่เสียสูงไปหรือเปล่า ควร Refinance คือไปหากู้ที่อื่นที่ดอกเบี้ยต่ำลงได้ไหม (ไว้มีจังหวะจะเขียนเรื่อง Refinance ให้อ่านนะคะ)

        รวมทั้งสรุปว่าตลอดปีเรามีรายได้เท่าไร หาได้จากทางไหน และมีรายจ่ายอะไรบ้าง ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ไหม และเงินที่เหลือเก็บเราเอาไปทำอะไร ออกดอกออกผลหรือเปล่า หรือที่ผ่านมาดีกว่าฝังตุ่มนิดเดียว

        เริ่มวางแผนตั้งแต่ต้นปีอย่างนี้ถือเป็นการตั้งหลักที่ดี ทุกอย่างจะได้เดินหน้าฉลุยแล้วค่ะ ขอให้มีความสุขมาก ๆ ในช่วงของความรื่นเริงแบบนี้ แล้วระลึกเสมอว่า ในชีวิตของคนเรามีคนคนหนึ่งที่เราควรเอาชนะเขาให้ได้ คนคนนั้นก็คือตัวเราเมื่อวานนี้อย่างไรล่ะค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.19 No.219 มกราคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การวางแผนลงทุนประหยัดภาษี อัปเดตล่าสุด 19 พฤษภาคม 2557 เวลา 17:07:02 1,232 อ่าน
TOP