x close

รายงานธุรกิจในไตรมาส 1 ปี 2557 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย

รายงานแนวโน้มธุรกิจ : ภาวะธุรกิจในไตรมาส 1 ปี 2557 และแนวโน้ม

 
เกริ่นนำข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           จากสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ที่มีการชุมนุมทั้งบรรยากาศการชุมนมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมถึงชาวนา ทำให้หลายคนหวั่นวิตกว่าแล้วแบบนี้เศรษฐกิจในประเทศไทยได้รับผลกระทบมากเพียงใด ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค ยอดจองที่อยู่อาศัย หรือธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีรายงานแนวโน้มธุรกิจ (Business Outlook Report) ประจำเดือนเมษายน 2557 จากส่วนเศรษฐกิจภาคกลาง ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาฝาก 

           สำหรับรายงานแนวโน้มธุรกิจดังกล่าว ทาง ธปท. ได้ประมวลผลจากข้อมูลจากภาคธุรกิจผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่  1) Business Liaison Program คือ การเข้าพบแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักธุรกิจทั่วประเทศ จำนวน 208 รายในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 2) Business Sentiment Survey คือ การส่งแบบสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจรายเดือนไปยังบริษัทต่าง ๆ จานวน 1,010 รายทั่วประเทศโดยมีการตอบกลับประมาณ 600 รายต่อเดือน ผลสำรวจล่าสุดเป็นข้อมูลเดือนมีนาคม 2557 3) Senior Loan Officer Survey คือ การสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อรายไตรมาส จากผู้บริหารงานด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน 50 แห่งโดยไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีการตอบกลับ 46 แห่ง เป็นธนาคาร 25 แห่ง และ Non-bank 21 แห่ง ครอบคลุมสินเชื่อร้อยละ 95.5 ของทั้งระบบ

           จากข้อมูลที่ได้ ทางส่วนเศรษฐกิจภาคกลาง ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคและยอดจองที่อยู่อาศัยหดตัวจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงตามภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความล่าช้าในการจ่ายเงินของโครงการจำนำข้าว ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนหดตัว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนใหม่เพื่อรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองด้วย ส่วนข้อมูลและรายละเอียดทั้งหมดในรายงานมีการแบ่งเป็นไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 (ไตรมาสที่ 1 หมายถึงช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ส่วน ไตรมาสที่ 2 หมายถึงช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน) ดังนี้

รายงานแนวโน้มธุรกิจ (Business Outlook Report) : ภาวะธุรกิจในไตรมาส 1 ปี 2557 และแนวโน้ม

 
บทสรุปผู้บริหาร
 
            ภาวะธุรกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัวจากการหดตัวของอุปสงค์ในประเทศ
 
           ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคและยอดจองที่อยู่อาศัยหดตัวจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงตามภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความล่าช้าในการจ่ายเงินของโครงการจำนำข้าว รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในไตรมาสนี้ถูกบั่นทอนเพิ่มเติมจากสถานการณ์ทางการเมือง ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนหดตัว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนใหม่เพื่อรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง ประกอบกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ยังถูกเลื่อนออกไปจากความล่าช้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ชุดใหม่ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารแปรรูป และพลาสติก ยังคงลงทุนต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต การส่งออกสินค้าฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้นอย่างช้า ๆ  โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองไม่ได้กระทบต่อธุรกิจส่งออกอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากยังสามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ตามปกติ อย่างไรก็ดี ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวแต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าผลกระทบยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลกระ ทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองและอุทกภัยในอดีต
 
            ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 คาดว่าภาวะธุรกิจจะยังไม่ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ

 

(ภาพที่ 1)
 
           ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่าภาวะธุรกิจมีแนวโน้มทรงตัวจากปัจจุบัน (ภาพที่ 1) ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยรวมยังไม่ฟื้นตัว สถานการณ์ทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัย ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อไป สำหรับการลงทุนภาคเอกชน สถาบันการเงินคาดว่าความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่จะลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 สะท้อนมุมมองต่อการลงทุนภาคเอกชนที่โน้มลดลง อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันยังไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานการผลิตหรือหันไปลงทุนในประเทศอื่น เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยมีเสถียรภาพและมีความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อีกทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและมีทำเลที่ตั้งเหมาะสำหรับการเป็นฐานการผลิตหลังจากเข้าสู่ AEC

           ด้านการส่งออก ผู้ประกอบการคาดว่าการส่งออกสินค้าจะปรับดีขึ้นเป็นลาดับตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และจะสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจในระยะต่อไป เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มผ่อนคลายลง
 

การบริโภคภาคเอกชน : หดตัวตามกำลังซื้อที่ลดลงและการระมัดระวังการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติในไตรมาสถัดไป
 
            การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัวในทุกภูมิภาค

           จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการค้าปลีกพบว่า ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคในทุกภูมิภาคหดตัวตามกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลงจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและรายได้เกษตรกรที่ลดลง ส่วนหนึ่งจากความล่าช้าของการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว ขณะเดียวกันปัญหาการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภค ส่งผลให้ครัวเรือนส่วนใหญ่เพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายครัวเรือนบางส่วนจึงหันไปซื้อสินค้าในกลุ่ม House Brand ของธุรกิจ Modern Trade มากขึ้นเนื่องจากมีราคาถูกกว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงต้องทำการตลาดที่เข้มข้นมากขึ้น ภายหลังสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองผ่อนคลายลง โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารที่ตั้งในบริเวณใกล้กับพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองเพราะได้รับผลกระทบมากในช่วงสองเดือนแรกของไตรมาส นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนยังหันมาเน้นขยายตลาดในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อชดเชยยอดขายในเขตเมืองและพื้นที่การชุมนุมที่ลดลง
            
             ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 การบริโภคภาคเอกชนจะยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับปกติ
 
           ผู้ประกอบการประเมินว่าเทศกาลสงกรานต์และการจัดงานมอเตอร์โชว์ในช่วงเดือนเมษายนจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชนขึ้นบ้าง แต่ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยรวมน่าจะลดลงต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยหลักที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อไป สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่าคำสั่งซื้อในประเทศในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะลดลงจากปัจจุบัน (ภาพที่ 2)



(ภาพที่ 2)
 
           ขณะเดียวกันสถาบันการเงินคาดว่าความต้องการสินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่น ๆ จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน (ภาพที่ 3) สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอ นอกจากนี้ สถาบันการเงินส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มความเข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนจากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับคุณภาพของสินเชื่อ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือน



(ภาพที่ 3)
 
การลงทุนภาคเอกชน : หดตัวเพราะการลงทุนใหม่ถูกชะลอออกไปจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ยังไม่มีสัญญาณการย้ายฐานการผลิตจากปัญหาทางการเมือง
 
            ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง

          จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการพบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอแผนการลงทุนใหม่เพื่อรอประเมินความชัดเจนของแนวโน้มเศรษฐกิจและการเมือง ประกอบกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของหลายธุรกิจยังถูกเลื่อนออกไปจากความล่าช้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ชุดใหม่ อย่างไรก็ดี หลายธุรกิจโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารแปรรูป และพลาสติกยังคงลงทุนตามแผนเดิมแต่เม็ดเงินลงทุนไม่สูงนักเพราะเป็นเพียงการลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกันธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจโรงแรมหลายแห่งโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญยังคงลงทุนขยายสาขาและปรับปรุงห้องพักต่อเนื่อง เพื่อรองรับกำลังซื้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
 
            ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มลดลง


(ภาพที่ 4)
 
           สะท้อนจากผลสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อที่พบว่าความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่น่าจะยังลดลงจากปัจจุบันต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 แม้ว่าความต้องการสินเชื่อของ SMEs จะเพิ่มขึ้นแต่มีแนวโน้มชะลอลงจากต้นปี อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นความต้องการสินเชื่อระยะสั้น สะท้อนมุมมองต่อแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง สอดคล้องกับการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่พบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่จะยังชะลอแผนการลงทุนใหม่เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะรอความชัดเจนของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ แต่เชื่อมั่นว่าหากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ชุดใหม่เร่งอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่คั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จได้เร็ว จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น

           ขณะเดียวกันจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันยังไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานการผลิตหรือหันไปลงทุนในประเทศอื่น สะท้อนจากการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ที่มีต่อเนื่องเนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยมีเสถียรภาพและมีความเสี่ยงต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น อีกทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และที่สำคัญทำเลที่ตั้งเป็นปัจจัยช่วยให้ประเทศน่าสนใจมากขึ้นสำหรับการเข้าสู่ AEC ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่าเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ในปี 2554 มีน้าหนักต่อการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมากกว่า นอกจากนี้ การย้ายฐานการลงทุนไม่ใช่แนวคิดที่ทำได้ง่ายในระยะสั้น ๆ โดยเฉพาะการย้ายทั้ง Supply Chain ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี Supply Chain ที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อจนบั่นทอนปัจจัยพื้นฐานของประเทศอาจกดดันให้มีการพิจารณาทบทวนแผนการลงทุนในไทยต่อไปได้
 

การส่งออก : ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าจะเป็นแรงส่งของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
 
            ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 การส่งออกสินค้าฟื้นตัวชัดเจนขึ้นตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
 

           จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการพบว่า การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมมีสัญญาณดีขึ้นและไม่ได้รับผลกระทบทางลบ ในด้านการผลิตและการส่งมอบสินค้าจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับดีขึ้นตามความต้องการในตลาดโลกที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว ขณะที่การส่งออกอาหารแปรรูปของผู้ประกอบการบางรายเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง หลังมีการนาเข้าวัตถุดิบกุ้งจากต่างประเทศ เพื่อชดเชยวัตถุดิบกุ้งในประเทศที่ลดลงมากจากปัญหาโรคระบาด
 
           ส่วนการส่งออกเครื่องหนังปรับดีขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการเน้นคุณภาพและการออกแบบสินค้ามากขึ้น ส่งผลให้สินค้าเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกยางพาราหดตัวแต่เป็นผลจากราคาที่ลดลงมากเป็นสำคัญ เนื่องจากความต้องการจากจีนไม่มากพอเพราะมีสินค้าคงคลังในระดับสูง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ขณะเดียวกันอุปทานยางพาราในตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลาดับ สะท้อนจากผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าคำสั่งซื้อจากต่างประเทศโดยเฉลี่ยในไตรมาสที่ 2 จะปรับดีขึ้นเล็กน้อย
 

(ภาพที่ 5)
 
           ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์เห็นว่าแนวโน้มการส่งออกค่อย ๆ ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการบุกเบิกตลาดใหม่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และอเมริกาใต้ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก การขยายตลาดในอาเซียนและอาเซียน+3 มากขึ้น จากเดิมที่เน้นส่งออกไปกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก
 
ธุรกิจท่องเที่ยว : ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่คาดว่าจะปรับดีขึ้นภายหลังการยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)
 
            ธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัว

           ผู้ประกอบการเห็นว่าการชุมนุมปิดพื้นที่หลายจุดในเขตกรุงเทพมหานคร และการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก สะท้อนจากจานวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักที่ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกับปีก่อน โดยเฉพาะในสถานประกอบการบริเวณใกล้เคียงพื้นที่การชุมนุม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการหลายรายถูกยกเลิกการจัดอบรมและสัมมนาทั้งจากภาครัฐและเอกชน เนื่องจากผู้จัดมีความกังวลต่อความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมงาน ผู้ประกอบการจึงปรับตัวด้วยการหันมาเจาะตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม อาทิ กลุ่มคู่รัก กลุ่มฮันนีมูน และแต่งงาน อีกทั้งยังหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น อาทิ ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการประเมินว่าปัญหาการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรุนแรงเท่าเหตุการณ์ทางการเมืองและอุทกภัยในอดีต
 
           ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ธุรกิจท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้น หลังการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และการลดพื้นที่การชุมนุมในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบกับเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาวในช่วงวันแรงงานเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางด้วยตนเอง และนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเป็นคณะจะกลับเข้ามาในประเทศไทยหลังจากสถานการณ์การเมืองเริ่มผ่อนคลายลง อย่างไรก็ดี คาดว่านักท่องเที่ยวชาวไทยจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้รายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีแนวโน้มลดลง
 
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ : อุปทานใหม่ลดลงสอดคล้องกับความต้องการที่อยู่อาศัยที่ชะลอลงต่อเนื่อง แต่คาดว่าตลาด จะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นในระยะถัดไป
 
            ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ตลาดอสังหาริมทรัพย์หดตัวต่อเนื่อง
 

           จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการพบว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยโดยรวมหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน สะท้อนจากยอดจองที่ลดลงมากเนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงปรับตัวด้วยการชะลอการเปิดโครงการใหม่เพื่อให้สอดรับกับความต้องการที่ลดลงและหันมาเร่งระบายอุปทานคงค้างที่มีอยู่ในระดับสูงแทน ส่งผลให้อุปทานส่วนเกินจากช่วงที่ผ่านมาค่อย ๆ ลดลง
 
            ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มปรับดีขึ้น
 
           ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่าความต้องการที่อยู่อาศัยจะปรับดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว รวมถึงสถานการณ์การเมืองที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อระบายอุปทานคงค้างน่าจะส่งผลให้ผู้บริโภคกลับมาตัดสินใจซื้อใหม่ สอดคล้องกับมุมมองของสถาบันการเงินที่คาดว่าความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสที่ 2 จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
 


(ภาพที่ 6)
 
การจ้างงาน : ความต้องการจ้างงานทรงตัว และยังไม่เห็นสัญญาณการเลิกจ้างอย่างมีนัยสำคัญ
 
           ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ความต้องการจ้างงานของธุรกิจทรงตัว

 
           ผู้ประกอบการโดยรวมเห็นว่าแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ความต้องการจ้างงานยังทรงตัวและไม่ส่งผลให้มีการเลิกจ้างเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ ประกอบกับต้นทุนการจัดหาและฝึกอบรมแรงงานยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง
 
            การจ้างงานมีแนวโน้มทรงตัวในไตรมาสที่ 2 ปี 2557

           ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการรักษาแรงงานไว้สำหรับรองรับคำสั่งซื้อและการลงทุนในอนาคตที่จะเกิดขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศคลี่คลายลง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าแนวโน้มค่าแรงจะไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนหน้า
 
ต้นทุนและราคา : ต้นทุนสูงขึ้นขณะที่ราคาสินค้าและบริการอาจเพิ่มได้บ้างหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป
 
            ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นต่อเนื่อง

 
            ต้นทุนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้นจากราคาที่ดินและราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ต้นทุนของภาคการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมพลาสติก อาหาร พลังงาน และเครื่องนุ่งห่ม สูงขึ้นตามราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบนาเข้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการอ่อนค่าของเงินบาท แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับราคาขายขึ้นได้ยากเนื่องจากการแข่งขันสูง ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว จึงปรับตัวด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนทุกประเภทลง
 
            ต้นทุนมีแนวโน้มสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2557
 
           ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คาดว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นอีก ตามต้นทุนแรงงานมีฝีมือเนื่องจากการขาดแคลนแรงงานมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการในภาคการผลิตคาดว่าต้นทุนจะยังคงเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มราคาพลังงาน ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มไปยังผู้บริโภคน่าจะทำได้มากขึ้นหากเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็ว
 
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ส่วนเศรษฐกิจภาคกลาง
ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รายงานธุรกิจในไตรมาส 1 ปี 2557 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย อัปเดตล่าสุด 19 พฤษภาคม 2557 เวลา 17:07:21
TOP