x close

5 ยุทธวิธีสู่อิสรภาพจากหนี้สิน


5 ยุทธวิธีสู่อิสรภาพจากหนี้สิน


5 ยุทธวิธีสู่อิสรภาพจากหนี้สิน (ธนาคารกสิกรไทย)

            เชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็นหนี้เป็นสินจนผ่อนชำระไม่ไหว และเบียดบังการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว จะจัดการอย่างไรให้หลุดพ้นจากภาระหนี้สิน บทความนี้มี 5 วิธีมาแนะนำ ดังนี้

            1. หยุดสร้างหนี้เพิ่ม เพื่อไม่ให้ชีวิตวนเวียนอยู่กับการเป็นหนี้ โดยรวบรวมหนี้สินที่มีทั้งหมด แล้วเลือกปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน แล้วไล่ตามลำดับ ส่วนหนี้ที่เหลือให้จ่ายขั้นต่ำไปก่อน ส่วนใครที่เป็นหนี้นอกระบบ ควรชำระเป็นก้อนแรกๆ เพราะส่วนใหญ่หนี้นอกระบบมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าหนี้ในระบบ โดยอาจสูงถึง 5-20% ต่อเดือน หรือ 60-240% ต่อปี รวมถึงอาจโดนทวงหนี้จากเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราได้

            2. จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย จะช่วยให้เรารู้ว่าเงินที่หาได้นั้นถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เพื่อปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น ค่าเคเบิ้ลทีวี ค่าอินเตอร์เน็ตราคาแพง ค่าทานอาหารนอกบ้าน ค่ากาแฟ ค่าขนมหวาน ค่าชอปปิ้ง ค่าดูหนัง เป็นต้น นอกจากนี้ แนะนำให้มีการตั้งงบประมาณการใช้จ่ายของตัวเรา เช่น กำหนดค่าอาหารไว้วันละ 200 บาท หรือสัปดาห์ละ 1,400 บาท แล้วพยายามอย่าใช้ให้เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหารายได้ไม่พอใช้จ่าย
 
            3. หาทางเพิ่มรายได้ โดยการใช้เวลาว่างจากการทำงานไปหาอาชีพเสริม เช่น รับจ้างสอนหนังสือให้เด็ก รับจ้างดูแลคนแก่ หาของมาขาย เมื่อมีรายได้พิเศษเพิ่มเข้ามาจะช่วยให้มีเงินเพื่อชำระคืนหนี้สินที่มีได้มากขึ้น นอกจากนี้ การขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือของสะสมต่างๆ แน่นอนว่าหากต้องขายทรัพย์สินต่างๆ เหล่านี้ ย่อมเกิดความรู้สึกเสียดาย แต่หากตัดใจขายได้ จะพบว่าเงินที่ได้จากการขายสิ่งของที่ไม่จำเป็นสามารถปิดยอดหนี้ได้มากทีเดียว

            4. แปลงหนี้ดอกเบี้ยสูงเป็นหนี้ดอกเบี้ยต่ำ วิธีนี้จะใช้ได้กับผู้ที่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เช่น บ้าน รถ ที่ปลอดภาระ สามารถนำมาเป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อได้ ข้อดีของสินเชื่อแบบมีหลักประกันคือ ดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสด และผ่อนชำระได้ระยะเวลานาน ซึ่งทำให้ยอดผ่อนต่อเดือนลดลงเมื่อเทียบกับสินเชื่อบัตรต่างๆ อย่างไรก็ตาม การอนุมัติสินเชื่อ ธนาคารจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งยอดชำระหนี้ต่อเดือนไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน หากยอดผ่อนหนี้สูงเกินเกณฑ์ดังกล่าว จะไม่สามารถขอสินเชื่อที่มีบ้านหรือรถยนต์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยอาจใช้วิธีหยิบยืมเงินญาติพี่น้องมาชำระหนี้บัตรต่างๆ ให้หมดก่อน จากนั้นจึงนำรถหรือบ้านไปขอสินเชื่อ เพื่อนำเงินก้อนนี้ไปใช้คืนญาติพี่น้อง

            5. เจรจาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หากพยายามปรับลดค่าใช้จ่าย หรือหาทางเพิ่มรายได้แล้ว ยังผ่อนหนี้ที่มีอยู่ไม่ไหว แนะนำให้เจรจาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เพื่อขอทยอยจ่ายหนี้ตามที่สามารถจ่ายได้ แต่ผลการพิจารณาขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้และประเภทของหนี้ที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม การขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะเป็นประวัติทางการเงินที่ติดตัวเราเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งทำให้โอกาสของการขอสินเชื่อต่างๆ ในอนาคตเป็นไปได้ยาก

            หากสามารถปลดหนี้ได้ทั้งหมดแล้ว แนะนำให้ควบคุมค่าใช้จ่าย ด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่ายต่อเนื่อง และพยายามเก็บออมเงินเพื่อเป็นเงินสำรองไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินอย่างน้อย 3 - 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน เพราะหากจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา จะได้มีเงินสำรองเพียงพอ ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินให้เสียดอกเบี้ยอีก หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter@KBank_Expert


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 ยุทธวิธีสู่อิสรภาพจากหนี้สิน อัปเดตล่าสุด 8 พฤษภาคม 2557 เวลา 15:32:20 1,576 อ่าน
TOP