x close

15 ข้อคิดเรื่องเงิน ที่ไม่มีสอนในโรงเรียน


money

เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณ Panda Smile สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม

          เรื่องเงินเรื่องออม ไม่มีสอนในโรงเรียน เรื่องใกล้ตัวที่ใครหลาย ๆ คน มักมองข้ามจนกลายเป็นเรื่องไกลตัว แท้ที่จริงแล้วเรื่อง เงินเงิน ทองทอง เป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่ขาดคือ ความใส่ใจในการซึมซับเรียนรู้การจัดการทางการเงินอย่างถูกวิธี ซึ่งถ้าเราใส่ใจ และให้ความสำคัญ ชีวิตในวันนี้อาจเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ชีวิตที่ขัดสนอาจเปลี่ยนเป็นชีวิตที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างพอเพียงไม่เดือดร้อนก็เป็นได้

          วันนี้เราจึงอยากชวนมาอ่านบทความที่จะสะท้อนให้เห็นเสี้ยวแก่นการออม เป็นวิธีง่าย ๆ ที่หลายคนมองข้ามไป บทความนี้เกิดจากความคิดด้วยใจที่ต้องการแบ่งปันข้อคิดดี ๆ เกี่ยวกับการเงินของ คุณ Panda Smile สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม


          15 ความจริงเรื่อง "การเงิน" ที่คนไทยต้องรู้ !
       
          เรื่องที่ 1 : ทันทีที่เด็กรู้จัก การบวก ลบ เลขเป็น ผู้ปกครองต้องรีบสอนเรื่องการเงินแบบง่าย ๆ ให้เด็กได้ทันที ไม่ต้องรอให้โตเป็นผู้ใหญ่ สอนให้เค้ารู้จักการออมเงิน คุณค่าของเงิน การประหยัดมัธยัสถ์ ตั้งแต่เด็ก ๆ ให้เป็นนิสัย อย่ารอให้โตเป็นวัยรุ่นก่อนแล้วค่อยสอน เพราะอาจจะไม่ทันกับพฤติกรรมการใช้เงินของเด็ก และยากในการอบรมสอนเรื่องพวกนี้ในวันข้างหน้า

         เรื่องที่ 2 : คนโดยทั่วไปมักจะมีวิธีลดหย่อนภาษีอย่างชอบธรรม และวิธีการส่วนใหญ่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การซื้อประกัน การซื้อกองทุนต่าง ๆ  เพื่อไปลดหย่อนภาษี หรือแม้แต่บริษัทองค์กรใหญ่ ๆ ก็มักจะนำเงินบางส่วนออกมาช่วยบริจาคตามองค์กรการกุศล เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่ได้บอกว่าผิด แต่เป็นกระบวนการที่ถูกต้องในการลดการจ่ายภาษีเท่านั้นเอง คนไทยไม่รู้ มักจะไม่เข้าใจ และไม่เคยหาคำตอบว่าทำไม ต้องจ่ายภาษีแพง ๆ ทุกปี

         เรื่องที่ 3 : ระบบการสอนเรื่องการเงิน การออม ของการศึกษาไทยนั้น ไม่มีและยังไม่มีวี่แวว จะถูกบรรจุเข้าไว้ในระบบการศึกษาไทยเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นส่วนที่สำคัญสำหรับเด็กไทย และอนาคตของเยาวชนไทยด้วยซ้ำ !! น่าเศร้าตรงที่ เด็กไทยที่ผ่าน ๆ มาต้องโตขึ้นมา โดยเรียนรู้เรื่องการเงินเอาเองตอนเป็นผู้ใหญ่ และบางครั้งก็ไม่ทันกับสถานการณ์ เพราะบางคนเป็นหนี้หัวโต การเงินติดลบตัวแดง แทบล้มละลาย ไม่สามารถทำอะไรต่อไปได้ เพราะเพิ่งจะมาเข้าใจตอนเป็นผู้ใหญ่ และต้องใช้เวลาในการจัดการหนี้สินให้จบ ทำไมการศึกษาไทยบ้านเราไม่บรรจุสิ่งเหล่านี้ไปไว้ในบทเรียนเพื่อสอนให้เด็ก ๆ ของเรา เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้ทางการเงิน ไม่ใช่แค่เรียนเพียงบัญชีอย่างเดียว !!! 

money

         เรื่องที่ 4 : เงินออม เป็น "ต้นน้ำ" ที่สำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยสำหรับการมีความมั่งคั่งในด้านการเงินต่อไปในอนาคต เงินออมเกิดขึ้นได้โดย การมี "วินัย" อย่าง "สม่ำเสมอ" ... กับพฤติกรรมการใช้เงิน กล่าวคือ ใช้จ่ายเงินเฉพาะเรื่องที่จำเป็น รู้จักประหยัด ไม่สุรุ่ยสุร่ายจ่ายเงินอย่างโง่เขลาในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องทำเป็นนิสัย เมื่อมีเงินออมแล้ว นำไปลงทุนต่อ ทำให้เกิดการ ออกลูกออกหลาน ของเงินออม และนำเงินที่ได้ ไปลงทุนต่อให้ให้เกิดการพอกพูนของความมั่งคั่งต่อไปเรื่อย ๆ

         เรื่องที่ 5 : ความมั่งคั่ง ควรมีก่อน ความมั่นคง ... โดยพฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนไทย ชอบที่จะมีความมั่นคงก่อน ความมั่งคั่ง นิสัยคนไทยเราชอบอะไรที่สะดวก สบาย จ่ายเงินซื้อความมั่นคงให้ตัวเองก่อนเพราะคิดว่านี้คือรางวัลของการทำงานหนัก เช่น ซื้อบ้าน มือถือใหม่ ๆ รถหรู ๆ ซื้อสิ่งของแพง ๆ หรือแม้แต่เลือกที่จะผ่อนจ่ายสบาย ๆ ไม่มีดอกเบี้ย เพื่อให้ตัวเองครอบครองสมบัติ สิ่งของ ที่บางครั้งไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง ... ไม่ได้บอกว่าผิดถ้ารู้จักการบริหารเงินเป็น แต่บางคนเลือกที่จะไม่ออมเงินไว้ก่อน เพื่อสร้างความมั่งคั่ง แล้วควรจะมีอิสระในการซื้อความมั่นคงทีหลัง ....

money

         เรื่องที่ 6 : บัตรเครดิต เป็นเครื่องมือทางการเงินของคนที่รู้จักใช้มัน ให้กลายเป็นทาสที่ดีของการบริหารเงิน แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จักการใช้บัตรเครดิต มันจะกลายเป็นปีศาจที่ทำให้คนใช้กลายเป็น "ทาสดอกเบี้ย" ทันที เพราะดอกเบี้ยจะเป็นตราบาปที่เกาะติดผู้นั้นไปยาวนาน กว่าจะใช้หนี้ได้หมด อาจจะทำให้ผู้ใช้บัตรเครดิตบางคน กลัว และขยะแขยง "บัตรเครดิต" ไปอีกนานแสนนาน บางคนถึงกับหักหรือตัดบัตรเครดิตให้เสียไปเลย เพื่อไม่ต้องมีโอกาสได้ใช้มันอีก นั่นอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีนัก เพราะอย่างที่บอกว่า ถ้าใช้บัตรเครดิตให้ถูกวิธี มันจะกลายเป็น "เครื่องมือ" ทางการเงินที่ดีอันหนึ่ง

         เรื่องที่ 7 : เราต้องการเงิน เพื่อสำหรับการใช้จ่ายสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต และเราก็ควรหาหนทางเพื่อให้ได้มันมาอย่างถูกต้อง ไม่ทำร้ายหรือรบกวนคนอื่น แต่เงินโดยตัวมันเอง "ไร้คุณค่า" มันคือ สิ่งสมมติให้มีมูลค่าในการแลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่น ๆ คุณค่าของเงินเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราได้ใช้เงินในการแลกเปลี่ยนกับสื่งอื่น ๆ เรื่องนี้สำคัญมาก ก็เพราะว่าคนมากมายไม่เข้าใจ ว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาต้องการมันมากแค่ไหน ดังนั้น ควรมองว่า เงินเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้สิ่งที่คุณต้องการ (ในสิ่งที่ดี) แต่ไม่ใช่เป้าหมายโดยตัวมันเอง ... เพราะหากมองเงินเป็นเป้าหมายใหญ่ในชีวิต คุณจะทำทุกอย่างให้ได้มันมามากที่สุด แล้วก็ไม่เคยพอซะที

         เรื่องที่ 8 : สถาบันการเงินทั้งหลายของไทยเรา มักจะมีเงื่อนไขที่เอาเปรียบเสมอกับลูกค้า โดยกำหนดสัญญาค่อนข้างเอาแต่ได้ไปหน่อย ทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการซึ่งไม่เข้าใจ "ภาษาการเงิน"  ที่ระบุไว้ในสัญญาค่อนข้างเสียเปรียบ... ทำให้เวลามีปัญหา มักจะตกเป็นรองเสมอ ดังนั้น ก่อนทำสัญญาซื้อขาย ขอสินเชื่อ ซื้อประกัน หรือทำสัญญาจำนอง แม้แต่ทำบัตรเครดิตกับสถาบันการเงินทุกที่ ต้องอ่านและเข้าใจในเงื่อนไขให้ดีเสมอ อย่าประมาท เพราะท่านจะโดนเงื่อนไขที่บอกว่า  " ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า"  หรือเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด  หรือแม้แต่ข้อความที่ระบุให้ผู้ลงนาม ยินยอมรับรู้ และให้เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญานั้นทุกประการ  จงระวังให้ดี !!!!! 

money

         เรื่องที่ 9 : ค่าของเงินลดลงเรื่อย ๆ เงินเฟ้อมีอยู่จริง แม้มองไม่เห็นด้วยสายตา แต่สัมผัสได้เสมอ มาทุกยุค ทุกสมัย ไม่ต้องค้นหาคำตอบว่าทำไม หรือจะป้องกันยังไง ทางเดียวเท่านั้นคือ เอาชนะเงินเฟ้อด้วยการลงทุน และออมเงินเก็บสำรองไว้สำหรับเรื่อง "ฉุกเฉิน" ให้เพียงพอ ...  ค่าครองชีพในอนาคตสูงกว่านี้แน่นอน สังเกตจาก ราคาข้าวแกงทุกวันนี้ ราคา 20 - 30 บาท หาแทบไม่ได้แล้ว หรือแม้แต่ทุกอย่างเวลามันขึ้น มันขึ้นยกแผง อาหาร ค่าพลังงาน ค่าเดินทาง ค่าทางด่วน ค่ายารักษาโรค ราคากระดาษ ราคาวัตถุดิบ

         เรื่องที่ 10 :  สถาบันการเงินในปัจจุบันทั้งในระบบและนอกระบบ ส่งเสริมให้คนไทยสร้างหนี้เพิ่มขึ้นในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะหนี้สินสำหรับการบริโภคผ่านบัตรเครดิตและสินค้าเงินผ่อนทั้งหลาย โดยเฉพาะ 0% (ไม่ได้บอกว่าไม่ดี มันขึ้นอยู่กับคนใช้สินเชื่อมากกว่า ว่ามีวินัยแค่ไหน) ซึ่งต้องเข้าใจว่า หนี้สินเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้คนมีรายได้เพิ่ม หรือมีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต บัตรเครดิตสามารถผ่อนมือถือ ค่าสมาชิกฟิตเนส ค่าเทอมการศึกษา ผ่อนทองคำ ผ่อนอะไรก็ได้ที่เป็นการใช้จ่ายได้แทบทุกอย่าง !!! ปัญหาหนี้สินของภาคประชาชนส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจเรื่องเงินของคนไทย และปัญหาเหล่านี้เป็นต้นตอที่สำคัญของปัญหาความเลื่อมล้ำ และบั่นทอนให้สังคมไทยอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ..

         เรื่องที่ 11 : ก่อนที่จะลงทุนอะไรก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการเงิน สำคัญที่สุดคือ ลงทุนกับตัวเอง ในการหาความรู้เรื่องการเงินให้เพียงพอ และรอบด้าน ก่อนที่จะลงมือทำอะไรลงไปกับ "เงินออม" ของเรา อย่าไปตามกระแส อย่าให้ความโลภ เข้าครอบงำสติ ทำให้ขาดการพิจารณาเรื่องการลงทุน และการเดิมพันกับเงินออมของตัวเอง ฉะนั้นเรื่องการเงิน หากไม่รู้ ก็ให้หาหนังสือมาอ่าน เข้าอบรม สอบถามผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ค้นหาเอาจากอินเทอร์เน็ต ทำทุกอย่างให้ตัวเองมีความรู้ในระดับที่ จะมองภาพกว้าง ๆ ให้เห็นว่า ตัวเองควรลงทุนอย่างไร ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองให้มากที่สุด แล้วชีวิตการเงินของคุณจะมีความสุข ...

         เรื่องที่ 12 : การยืมเงิน เป็นสาเหตุหลักของการผิดใจกัน ระหว่างเพื่อนฝูง คนรัก ครอบครัว พี่น้อง การยืมเงินควรเป็นทางเลือกสุดท้ายจริง ๆ เมื่อถึงทางตัน โดยต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินที่ตัวเองก่อขึ้นกับคนรู้จัก การยืมเงินกับคนใกล้ชิดบ่อยครั้ง เป็นการพิสูจน์ใจของกันและกัน ระหว่างผู้ให้ยืม กับผู้ขอยืมเงิน ซึ่งส่วนใหญ่คนมักจะไม่อยากคุยเรื่องนี้ ไม่อยากให้ใครมายืม แต่บางครั้งด้วยบทบาทหน้าที่ในสังคม ทำให้จำเป็นต้องให้ยืม ฉะนั้นผู้ยืมทุกท่าน โปรดอย่าทำร้ายความน่าเชื่อถือของคุณเอง ด้วยการจ่ายล่าช้า หรือเบี้ยวชำระหนี้ หากไม่มีจะจ่าย หรือจะขอเลื่อนการจ่าย กรุณาแจ้งเจ้าของเงินให้ทราบด้วยถึงสาเหตุ เพื่อให้ตัวเองมีเครดิตสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อมิตรภาพที่มีต่อกัน เรื่องนี้สำคัญมาก ๆ .....

         เรื่องที่ 13 : สำหรับการเงินของคนวัยทำงาน ซึ่งยังมีงานทำและสามารถหารายได้อยู่ จงอย่าประมาท ในเก็บเงินออมไว้ยามฉุกเฉิกของชีวิต ซึ่งไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยทั่วไปคือ ควรจะมีเงินออมสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือน 6-10 เดือนล่วงหน้า เก็บไว้ก่อนเลย  และมีเงินสดสำรอง (Cash flow) ไว้หมุนเวียนพร้อมใช้สำหรับตัวเองในแต่ละเดือน แต่ละเดือนที่หามาได้ เก็บออมไว้ 10% ก่อน  จากนั้น เหลือเท่าไหร่ ก็ค่อยใช้จ่ายตามกำลังที่มี ทำแบบนี้ได้ทุกเดือน ชีวิตจะมีความสุข หากมีเงินเดือนมากขึ้น สามารถเก็บออมไว้เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ยิ่งดี อย่าไปคาดหวังว่ารัฐบาลจะมาอุดหนุนช่วยเหลือยามแก่ชรา เลิกฝันหวานไปได้เลย เพราะกองทุนประกันสังคม ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของคนทำงานแน่ ๆ และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ แต่โดนละเลยมากที่สุดก็คือ การทำประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต หลายคนมัวแต่ทำงานหนัก มุ่งเน้นลงทุน ลืมใส่ใจสุขภาพ และอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ปลายทางเอาเงินที่หามา จ่ายให้หมอซะงั้น !! ฉะนั้นเรื่องประกันชีวิตสำคัญอย่าลืม !!

         เรื่องที่ 14 : สำหรับหนี้ก้อนโต ที่หลายคนมีอยู่ และอยากจะปลดหนี้ แต่ไม่กล้าเผชิญหน้าความจริงของชีวิต ขั้นตอนแรกหากอยาก ปลดหนี้  จริง ๆ จงกล้ายอมรับความจริง และทำรายการหนี้สินทั้งหมด (ขอย้ำว่า ทั้งหมด และแจกแจงรายละเอียดให้มากที่สุด เพื่อให้เห็นภาพรวมของหนี้สินที่มี) แล้วจัดอันดับว่า ควรจ่ายก้อนไหน ก่อนหลัง ตามลำดับความสำคัญ.. เจรจาต่อรองเจ้าหนี้ ขอ Refinance หรือจะขายของที่มีอยู่ เช่น  รถยนต์ ทอง ของสะสม อะไรที่ตัวเองมีแล้วตัดใจขายได้ เพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ได้ ต้องตัดใจทำ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย ... จากนั้น พยายามหาช่องทางรายได้เพิ่ม และอย่าก่อหนี้เพิ่มจากที่มีอยู่ ที่สำคัญ ห้ามเอากดเงินสดจากบัตรเครดิตมาโปะหนี้สินเดิมเด็ดขาด เพราะจะทำให้วงจรหนี้เพิ่มขึ้น และยุ่งยากในการจัดการ ต้องมีวินัยอย่างเด็ดขาดกับตัวเอง .......

         เรื่องที่ 15 : "เงินทองเป็นของนอกภาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้" เป็นเรื่องที่ถูกต้องครึ่งหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้เงิน ในการขับเคลื่อนทุกกิจกรรมของชีวิต เงินมีความสำคัญและทวีความจำเป็นตามกลไกลของโลกทุนนิยมที่เข้มข้นเรื่อย ๆ หากแต่ ต้องเข้าใจ รู้จักใช้ และรู้จักออมเงิน ให้เหมาะสมกับช่วงวัยชีวิต และรู้เท่าทันตัวเองให้ดี อย่าให้เงินมาใช้งานเราแทน ...!!  และกลายเป็นทาสของเงินอย่างไม่ลืมหู ลืมตา  ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักใช้เงินให้ทำงานแทนเราด้วย เพื่อให้สามารถต่อกรกับ เงินเฟ้อ หรือรองรับ

          "เหตุฉุกเฉิน" ของชีวิต ที่ไม่รู้จะเข้ามาวันใดของชีวิต เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ตลอดเวลาอย่าเบื่อหน่าย หรือหันหนีปัญหาการเงิน เพียงเพราะข้ออ้างว่า คุณไม่เคยเรียนรู้มาก่อน ปล่อยให้เป็นไปตามโชคชะตา หรือกรรมเวรที่เคยก่อขึ้นมา อย่าลืมว่า หนี้สิน ก็ต้องตามใช้ หากคุณไม่ใช้ คนข้างหลังคุณก็ต้องชดใช้แทน .... 

          หวังว่าทั้ง 15 ข้อที่กล่าวมาแล้วนั้น น่าจะสร้างข้อคิดและให้มุมมองบางประการที่ช่วยให้คนไทยอีกหลายคน ได้เริ่มตระหนักและมองเห็นแนวทางในการเริ่มต้น ปรับตัวเองในการใช้เงิน การรู้จักบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ....








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
15 ข้อคิดเรื่องเงิน ที่ไม่มีสอนในโรงเรียน อัปเดตล่าสุด 17 เมษายน 2557 เวลา 14:16:19 16,523 อ่าน
TOP