x close

ฝากเงินธนาคาร กับ ทำประกัน ต่างกันอย่างไร


ฝากเงินธนาคาร กับ ทำประกัน ต่างกันอย่างไร


ฝากเงินธนาคาร กับ ทำประกัน ต่างกันอย่างไร (Differences between Deposit and Life Insurance) (ธนาคารกสิกรไทย)

            หลายคนคงเคยได้รับการเสนอขายประกันจากนายหน้าหรือตัวแทนขายประกัน ซึ่งเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าการทำประกันชีวิตเหมือนกับการฝากเงินธนาคาร แต่ที่จริงแล้ว ประกันชีวิตและการฝากเงินมีความแตกต่างกันในหลาย ๆ ด้านด้วยกัน โดยบทความนี้ได้รวบรวมจุดเด่นของการทำประกันชีวิตและการฝากเงินธนาคาร เพื่อเป็นตัวช่วยในการพิจารณาว่า ควรทำประกันชีวิตหรือควรฝากเงินไว้กับธนาคารค่ะ


ประกันชีวิต : คุ้มครองชีวิต พร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

            การได้รับเงินคืน : หากผู้ทำประกันมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญาของกรมธรรม์ ผู้ทำประกันจะได้รับเงินคืนตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ หรือหากเสียชีวิตภายในระยะเวลาของสัญญา แม้ไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยครบตามจำนวนงวดที่กำหนดไว้ บริษัทประกันฯ จะจ่ายเงินตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ ในขณะที่เงินฝากธนาคารนั้น ผู้ฝากเงิน หรือทายาท (หากผู้ฝากเงินเสียชีวิต) จะได้รับเงินคืนเท่าที่ฝากไว้พร้อมกับดอกเบี้ย
   
            ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ฝากเงินธนาคารปีละ 10,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี เมื่อนาย ก. ถอนเงินคืนหรือนาย ก. เสียชีวิต นาย ก. หรือทายาทจะได้รับเงินคืน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ถ้านาย ก. ทำประกันชีวิต โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท จ่ายเบี้ยประกันภัยปีละ 10,000 บาท หากนาย ก. เสียชีวิตในปีที่ 3 ผู้รับประโยชน์ของนาย ก. จะได้รับเงินจำนวน 100,000 บาท แม้ว่านาย ก. จะจ่ายเบี้ยประกันภัยเพียง 30,000 บาทก็ตาม

            ความคุ้มครองชีวิต : การทำประกันชีวิตช่วยสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้แก่ผู้ทำประกันและครอบครัว โดยเงินจากประกันจะช่วยให้ครอบครัวหรือบุคคลที่อยู่ข้างหลังใช้ดำรงชีวิตต่อไปได้ รวมถึงผู้ทำประกันยังสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความคุ้มครอง เช่น ประกันสุขภาพ ประกันทุพพลภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น
   
            สำหรับเงินฝากธนาคาร โดยทั่วไปจะไม่มีความคุ้มครองชีวิต ยกเว้นเงินฝากบางประเภทที่มีความคุ้มครองชีวิต หรืออุบัติเหตุ ทั้งนี้ อาจมีเงื่อนไขในการฝากเงิน เช่น กำหนดยอดเงินฝากคงเหลือขั้นต่ำในบัญชี

            สิทธิประโยชน์ทางภาษี : ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ผู้ทำประกันสามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตในแต่ละปีไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท รวมทั้ง เงินคืนหรือเงินปันผลที่ได้รับระหว่างสัญญา และเงินผลประโยชน์ที่ได้รับเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์ ก็ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี
   
            สำหรับเงินฝากธนาคาร ผู้ฝากเงินไม่สามารถนำเงินฝากดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีได้ รวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากเงินจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ทั้งเงินฝากประจำ และเงินฝากออมทรัพย์ (หากจำนวนเงินดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สูงกว่า 20,000 บาทต่อปี)


เงินฝากธนาคาร : สภาพคล่องสูง ฝากถอนได้ทุกวัน

            สภาพคล่อง : ผู้ฝากเงินสามารถฝากเงิน ถอนเงิน หรือปิดบัญชีเมื่อใดก็ได้ โดยได้รับเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย ในขณะที่การทำประกันชีวิต ผู้ทำประกันจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยตามงวดการชำระเบี้ยประกันภัยที่กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นกรมธรรม์ที่ทำไว้จะสิ้นผลบังคับ และหากต้องการยกเลิกสัญญาประกันชีวิต หรือเวนคืนกรมธรรม์ อาจได้รับเงินคืนน้อยกว่าเบี้ยประกันภัยที่ชำระไป

            ผลตอบแทน : ผลตอบแทนของเงินฝากจะอยู่ในรูปของดอกเบี้ย ซึ่งผู้ฝากเงินจะทราบอัตราผลตอบแทนที่ได้รับค่อนข้างแน่นอน เมื่อเงินฝากครบกำหนดระยะเวลา หรือทำการปิดบัญชี ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนเท่ากับเงินต้นที่ฝากไว้พร้อมกับดอกเบี้ยตามที่ธนาคารกำหนด

            ด้วยจุดเด่นที่แตกต่างกันของการทำประกันและการฝากเงิน ดังนั้น การเลือกว่าควรทำประกันหรือฝากเงินธนาคาร จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการออมเงินของแต่ละบุคคล หากต้องการความคุ้มครองชีวิต และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ควรเลือกทำประกันชีวิต แต่หากต้องการสภาพคล่อง ก็ควรเลือกฝากเงินกับธนาคาร ทั้งนี้ แนะนำว่า เพื่อสร้างความคุ้มครองให้กับชีวิตของตนเอง และเพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่องเมื่อต้องการใช้เงินฉุกเฉิน ควรมีการเก็บเงินสภาพคล่องประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน ไว้ในสินทรัพย์สภาพคล่องสูง ที่สามารถถอนเงินใช้ได้ทันทีที่ต้องการ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ แล้วจึงพิจารณาจัดสรรเงินไปซื้อประกันชีวิตเพื่อสร้างความคุ้มครองให้กับตนเองและเป็นหลักประกันให้กับครอบครัว



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝากเงินธนาคาร กับ ทำประกัน ต่างกันอย่างไร อัปเดตล่าสุด 4 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 17:35:46 12,613 อ่าน
TOP