x close

คลัง สานต่อจำนำข้าวปี 57 - นักวิชาการชี้ โครงการส่อเค้าวิกฤต

จำนำข้าว

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          กระทรวงการคลัง หารือ กกต. เดินหน้าจำนำข้าวนาปี 2556/57 หลังยุบสภา ด้านนักวิชาการชี้ โครงการเริ่มส่อเค้าวิกฤต หลังรัฐบาลชะลอการจ่ายเงิน และคาดว่าในอนาคตอาจขาดสภาพคล่อง ทำให้ไม่มีงบในการดำเนินโครงการต่อ

          วันนี้ (11 ธันวาคม 2556) นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมาว่า ได้มีการหารือกับคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตข้าวนาปี 2556/57 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดย กกต. ยืนยันว่า โครงการยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่องที่มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้

          โดยรัฐบาลกำลังเร่งจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่เข้าโครงการวันละหลายพันล้านบาท ซึ่งขณะนี้จ่ายเงินให้เกษตรกรรวมแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนเกษตรกรที่ยังมีปัญหาการรับเงินจากโครงการล่าช้าตั้งแต่เดือนตุลาคมนั้น คาดว่าจะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่นำใบประทวนมาขึ้นเงินได้ครบภายในกลางเดือนมกราคม 2557 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มรับจำนำ วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2556 มีข้าวเข้าโครงการแล้วกว่า 5.91 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 ล้านตัน

          นายทนุศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการจำนำข้าวฤดูกาลผลิตข้าวนาปรังปี 2557 รัฐบาลจะต้องรอสอบถามจาก กกต. ว่า จะยังสามารถเดินหน้าโครงการต่อได้หรือไม่ ส่วนตัวคาดว่า น่าจะดำเนินการได้ทันที เพราะจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยจะเปิดให้เกษตรกรนำข้าวเข้าโครงการภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 โดยชาวนาสามารถนำใบประทวนมาขึ้นเงินได้ไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2557

          ด้าน นายอำพน กิตติอำพน รักษาการเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวยังดำเนินการได้ตามปกติ เนื่องจากไม่ได้เป็นการอนุมัติงบประมาณที่ผูกพันกับงบประมาณของรัฐบาลต่อไป และไม่ต้องขออนุญาตกับ กกต. ก่อน เพราะงบประมาณที่ต้องขออนุญาตจาก กกต. มีเพียงงบกลาง หรือรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น

          ขณะเดียวกัน นายสมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวในปีที่ 3 จะสร้างวิกฤตจากงบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการ แต่หากรัฐบาลมีการระบายข้าวเร็วก็จะต่ออายุโครงการได้อีกระยะหนึ่ง แต่จากปัญหาการจ่ายเงินให้กับชาวนาในฤดูกาลผลิตใหม่  ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวได้ หรือแม้จะขายข้าวได้ แต่ก็ได้ในราคาต่ำ โดยเฉพาะการขายข้าวระดับรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลให้หนี้กลับมาเป็นของรัฐบาล ทำให้กระทบต่อทรัพยากรของกระทรวงอื่นที่วิ่งมาอยู่ที่โครงการจำนำข้าวหมด และคาดว่าอาจจะลามไปยังปัญหาเศรษฐกิจระดับมหภาค

          สำหรับโครงการจำนำข้าวนี้ คาดว่ารัฐบาลจะขาดทุนตันละ 10,000 บาท หากรวมโครงการทั้งหมดในเวลานี้ รัฐบาลน่าจะขาดทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนี้ก็ถึงจุดเริ่มเสื่อมแล้ว เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเน้นการระบายข้าวสู่ตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเป็นตัวกดดันให้ราคาข้าวสารในประเทศไม่สูงขึ้น หากรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายนี้ต่อไป คาดว่าจะเกิดผลเสียที่สังคมเห็นชัดเจนมากขึ้นกว่าปีแรก ๆ อีกด้วย

          นอกจากนี้ ราคาข้าวกำลังอยู่ในช่วงขาลง และคาดว่าจะลากยาวไปจนถึงอีก 2 ปี ข้างหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีผู้ส่งออกรายใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น เช่น พม่า ดังนั้น หากส่งออกเพิ่มอีก 2-3 ล้านตัน ก็จะทำให้ตลาดแย่ลง ขณะเดียวกันการที่อินเดียมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นตัวกดราคาในตลาดโลกด้วย ซึ่งขณะนี้เราขาดทุนถึงตันละ 10,000 บาทแล้ว ดังนั้นคงยากที่จะเอาเงินส่วนอื่นไปอุดหนุน

          นายสมพร กล่าวทิ้งท้ายว่า หากรัฐยอมปรับลดราคารับจำนำลงจาก 15,000 บาทต่อตัน มาเป็น 12,000 บาทต่อตัน ตลาดเอกชนก็จะทำงานได้ โดยเฉพาะการทำข้าวนึ่ง เนื่องจากข้าวไทยเป็นข้าวเปลือกที่ผ่านการพัฒนาพันธุ์มาดี และมีคุณภาพมากกว่าข้าวของเวียดนาม ที่ต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะตามทัน ดังนั้น การส่งออกของเอกชนส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าวนึ่งเสียมากกว่า

 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คลัง สานต่อจำนำข้าวปี 57 - นักวิชาการชี้ โครงการส่อเค้าวิกฤต อัปเดตล่าสุด 12 ธันวาคม 2556 เวลา 11:06:45
TOP