x close

กิตติรัตน์ แจงลดภาษีบุคคลธรรมดา จูงใจนักลงทุนต่างชาติ ปัดเอื้อคนรวย


กิตติรัตน์ แจงลดภาษีบุคคลธรรมดา จูงใจนักลงทุนต่างชาติ ปัดเอื้อคนรวย


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก กิตติรัตน์ ณ ระนอง

            กิตติรัตน์ ณ ระนอง แจงลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ พร้อมปัดสั่งปรับโครงสร้างภาษีใหม่ เอื้อคนรวย

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว กิตติรัตน์ ณ ระนอง โดยระบุว่า การสั่งปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่นั้น มิใช่การทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่คนรวย แต่เป็นการทำเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากปัจจุบันชาวต่างชาติเข้าใจว่า เราทิ้งภาระภาษีให้กับผู้มีเงินได้สูง แต่หากเราปรับโครงสร้างใหม่ด้วยการทำให้ผู้ที่มีภาระภาษีได้เสียภาษีน้อยลง จะช่วยจูงใจบริษัทต่างชาติให้มาร่วมลงทุนในประเทศของเรามากขึ้น พร้อมทั้งขอยืนยันว่า แม้จะมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาแล้ว แต่รัฐบาลจะไม่ไปเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีกแน่นอน

            สำหรับข้อความบนเฟซบุ๊ก กิตติรัตน์ ณ ระนอง มีรายละเอียด ดังนี้

            ทำไมต้องปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?

            ประเด็นเรื่องของการที่จะทำให้ผู้ที่มีภาระภาษีได้เสียภาษีน้อยลง สามารถดำเนินการได้ในสองลักษณะคือ1. เพิ่มการลดหย่อนภาษี หรือ 2. ลดอัตราภาษี หรือทำทั้งสองอย่าง ขณะนี้มีหลายประเทศที่ดำเนินการโดยไม่ได้ให้น้ำหนักในเรื่องของการหักค่าลดหย่อน แต่ใช้วิธีการกำหนดอัตราที่ต่ำ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจทั่วไปว่าประเทศเหล่านั้นมีความน่าจูงใจที่จะเข้าไปร่วมลงทุนด้วยเพราะมีอัตราภาษีต่ำ

            สำหรับประเทศไทยแล้ว แต่เดิมของเราใช้กลไกที่เป็นลักษณะหักค่าลดหย่อน เน้นเรื่องของการใช้ค่าลดหย่อนที่มากประเภท เช่น ค่าลดหย่อนทั่วไป ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนการดูแลบุพการี ค่าลดหย่อนในรูปแบบการประกันภัย ค่าลดหย่อนในรูปของการออมกองทุนรวม เราเน้นเรื่องพวกนี้ ในขณะเดียวกันอัตราภาษีที่ใช้เป็นอัตราภาษีที่สูง จึงทำให้หลายคนซึ่งมองมาในประเทศไทย เข้าใจไปว่า เราทิ้งภาระภาษีให้กับผู้มีเงินได้สูง สิ่งที่เรากำลังดำเนินการเพื่อที่จะให้ภาระภาษีของผู้มีเงินได้นั้นลดลง จึงควรเริ่มต้นที่การลดอัตราภาษีลง และควรศึกษาให้รอบคอบว่าจะใช้วิธีเพิ่มหักค่าลดหย่อนหรือไม่ เพราะว่าการเพิ่มหักค่าลดหย่อนเป็นอะไรที่มองไม่เห็นได้ง่ายนัก ไม่สามารถเข้าใจได้ง่าย รัฐบาลต้องการให้มีบริษัทต่างชาติมาร่วมลงทุนในประเทศของเรา เพื่อมีการจ้างงานทั้งบุคลากรทั้งที่เป็นคนไทยและเป็นคนต่างประเทศ ถ้าต่างชาติไม่เข้าใจเรื่องการหักค่าลดหย่อนเหล่านี้ ก็จะไม่มาลงทุนตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายครับ

            ดังนั้นเรื่องที่จะเพิ่มค่าลดหย่อนขึ้นไป น่าจะยังไม่ใช่แนวทางหลักในเวลานี้ ถ้าเรามาดูอัตราภาษีขั้นสูงสุดของเราอยู่ที่ 37% มาลดเหลือ 35% ก็ยังสูงกว่าประเทศที่เราชื่นชมเขาว่ามีความก้าวหน้าที่ดีอย่างมาเลเซีย ที่อัตราภาษีสูงสุดของเขาอยู่ที่ 25% แต่เราก็ต้องค่อยๆดำเนินการ เพราะว่าการลดจาก37% เป็น 35% ยังถูกวิจารณ์ว่าไปช่วยคนรวย จากการคำนวนยอมรับครับว่าทำให้ผู้มีเงินได้แล้วอยู่ถึงบันไดภาษีสูงสุดอาจจะเสียภาษีน้อยลงเป็นหลักแสน แต่ผู้ที่เสียภาษีในกลุ่มนี้ที่น้อยลงเป็นหลักแสน เขาเสียภาษีเป็นหลักล้านอยู่แล้ว จากข้อมูลที่เห็นจะเห็นได้ว่าอัตราภาษีที่ลดลง เมื่อคิดเป็นร้อยละ จะเป็นร้อยละ 5 เศษๆ ในขณะที่เป็นกลุ่มแรกที่เป็น 150,000-300,000 บาท เดิมเคยเสียภาษี 10% แล้วมาเสีย 5% แม้จะประหยัดได้ไม่กี่พันบาท แต่ประหยัดได้ถึงร้อยละ 50 เพราะฉะนั้นการดำเนินการตรงนี้จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง และให้แน่ใจว่าแหล่งรายได้ของรัฐยังคงมีพอที่จะส่งสำนักงบประมาณอย่างเหมาะสม จึงต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในระยะปานกลางยังให้ความสำคัญกับการลดที่อัตรามากกว่าที่จะเพิ่มหักค่าลดหย่อน ยกเว้นในกรณีที่เราเห็นว่า การกำหนดค่าลดหย่อนบางประเภทนำไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น เรื่องของการออม เรื่องของการบริจาคเข้าสู่ภารกิจที่มีประโยชน์ต่อประเทศและรัฐรู้ว่าระบบงบประมาณทำให้เกิดความคล่องตัวได้น้อย เช่นการบริจาคให้กับการศึกษา เป็นต้น

            สำหรับข้อกังวลว่าหากลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาแล้วจะเตรียมไปเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่นั้น ผมขอเล่าให้ฟังว่า กาลครั้งหนึ่งเคยมีข้อแนะนำจากองค์กรระดับโลกต่างๆว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรจะอยู่ในระดับร้อยละ 10 ของประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นเราจึงมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ10 ในอดีต แต่ต่อมาเราลดลงมาเหลือ 7% ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจในช่วงหลังวิกฤติ แต่ต้องบอกว่าอันนี้เป็นความคิดเก่าดั้งเดิมมาก แต่ในขณะนี้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นเท่าไหร่นั้นมันขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศไปแล้ว ในยุโรปบางประเทศมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงมาก เกินกว่าร้อยละ20 ก็มี ในขณะเดียวกัน ในบางประเทศก็มีอัตราภาษีที่ต่ำได้ ดังนั้นประเทศไทยเราใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ก็จะมีแหล่งรายได้ที่เพียงพออยู่แล้ว การกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอัตราเท่าไหร่ก็แล้วแต่ มันมีโอกาสที่จะถูกส่งผ่านไปยังราคาสินค้าเท่าๆกับอัตราที่เพิ่ม เพราะฉะนั้นการที่รัฐจะอยากมีรายได้เพิ่มฝากไปที่ราคาสินค้า กลายเป็นเงินเฟ้อ ไม่มีรัฐบาลไหนอยากทำ ดังนั้นรัฐบาลไม่ทำแน่นอน

            สุดท้ายนี้ เรื่องการปรับลดภาษีนี้เป็นเรื่องที่ได้เสนอมาแล้วตั้งแต่ต้นปี และเป็นเรื่องที่คำนวนมาอย่างระมัดระวังแล้วว่าผลกระทบทางตรงต่อการดำเนินการนี้จำให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขาดหายไปเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกันก็คำนวนมาแล้วว่าท่านที่มีเงินได้เหล่านี้ สุดท้ายแล้วนำไปบริโภคส่วนหนึ่ง เอาไปออมส่วนหนึ่ง ส่วนที่นำไปบริโภคจะมาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการที่ภาคธุรกิจสามารถที่จะขายสินค้าบริการให้ท่านบริโภคเพื่อคุณภาพชีวิตได้ด้วย ส่วนที่ออมส่วนหนึ่งก็จะมีดอกเบี้ย ก็จะมีภาษีที่กลับมาส่วนหนึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะเราก็คำนวนไว้อย่างละเอียด เราต้องการให้แน่ใจว่าสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วและต้องการให้เกิดผลจริงครับ



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กิตติรัตน์ แจงลดภาษีบุคคลธรรมดา จูงใจนักลงทุนต่างชาติ ปัดเอื้อคนรวย อัปเดตล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10:52:35
TOP