x close

กองทุนรวม คืออะไร ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่

ลงทุน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            กองทุนรวม คืออะไร เป็นการลงทุนที่มั่นคงหรือไม่ แล้วเราจะเลือกลงทุนอย่างไรให้ได้กำไร ไม่อยากเสี่ยง แต่ก็อยากลงทุนอะไรสักอย่าง ศึกษาก่อนเริ่มลงทุน เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพื่อตัดสินใจลงทุนกับเงินเก็บทั้งชีวิต 

          บทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับกองทุนรวม สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่ต้องการลงทุนกับกองทุนรวม ความรู้เบื้องต้นเพื่อนำไปต่อยอดสู่อีกระดับของการลงทุน 

 

กองทุนรวม คืออะไร?


          กองทุนรวม (Mutual Fund) เป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง โดยนำเงินของผู้ลงทุนรายย่อยมากองรวมกันเป็นเงินก้อนใหญ่ แล้วนำเงินนั้นไปลงในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามที่ได้ตกลงกันไว้ แล้วนำไปจดทะเบียนให้เป็น นิติบุคคล โดยมีบริษัทจัดการกองทุนเป็นผู้บริหารจัดการแทน นักลงทุน

          กองทุนรวม ถือว่ามีสถานะเป็นนิติบุคคล แยกต่างหากจากบริษัทจัดการกองทุนนั้นๆ ดังนั้น ความน่าเชื่อถือของบริษัทจัดการกองทุนจึงไม่เป็นเครื่องชีวัดผลตอบแทน หรือหลักประกันของนักลงทุนแต่อย่างใด



กองทุนรวม เหมาะกับใคร?


          การลงทุน ในรูปแบบกองทุนรวมนี้ เหมาะกับผู้ที่มีเงินทุนจำกัด อาจจะไม่มีความรู้มากพอ ไม่มีประสบการณ์  ไม่มีเวลาศึกษาข้อมูล แต่คิดอยากจะลงทุน ดังนั้น การนำเงินลงทุนเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปร่วมกับกองทุนรวม แล้วให้บริษัทจัดการกองทุนคอยดูแลเรื่องการลงทุนแทน เมื่อลงทุนไปแล้ว ผู้ลงทุนแต่ละรายจะได้รับ "หน่วยลงทุน" เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันความเป็นเจ้าของเงิน


โครงสร้าง และผู้เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม


          ในการดำเนินกิจการจัดการ การลงทุน จะประกอบไปด้วยบุคคลต่างๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลกองทุนนั้น ประกอบด้วย

           1. บริษัทจัดการกองทุน

          เป็นผู้กำหนดโครงการกองทุนรวม นโยบายการลงทุนและวัตถุประสงค์ เพื่อเสนอให้สำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติ โดย บริษัทจัดการกองทุนจะต้องแจ้งนโยบายการลงทุน และวัตถุประสงค์ให้ผู้ลงทุนทราบในหนังสือชี้ชวน เสนอขายหน่วยลงทุนที่แจกจ่ายให้แก่ผู้ลงทุน และผู้ที่สนใจลงทุนได้ศึกษาก่อนที่จะลงทุน

          ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนจะต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตจัดการลงทุนจาก กระทรวงการคลังเท่านั้น

          2. นักลงทุนผู้ถือหน่วยลงทุน

          ก็คือ บุคคลที่ร่วมลงทุนในกองทุนรวมนั้น โดยหน่วยลงทุนแต่ละหน่วยที่ถือไว้ เป็นเหมือนตัวแสดงสัดส่วนความเป็นเจ้าของในกองทรัพย์สินของโครงการกองทุนรวมนั้น ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนจะมีสถานะคล้ายกับผู้ลงทุนที่ไปถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนสักแห่งหนึ่ง สามารถออกเสียงเพื่อลงมติหรือดำเนินการใดๆ ได้

          3. ผู้ดูแลผลประโยชน์

          เป็นสถาบันการเงิน ที่ได้รับมอบหมายให้คอยดูแลเงินกองทุนนั้นแทนนักลงทุนที่นำเงินมาลงทุน ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์แทน ผู้ถือหน่วยลงทุน เช่น หากบริษัทจัดการกองทุนล้ม ผู้ดูแลผลประโยชน์ก็จะชดเชยให้กับนักลงทุน หรือหาก บริษัทจัดการกองทุนไม่ได้ทำตามหนังสือชี้ชวน ผู้ดูแลผลประโยชน์ก็สามารถทำหน้าที่เอาผิดบริษัทจัดการกองทุน แทนผู้ถือหน่วยลงทุนได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ชำระราคาค่าซื้อ และรับชำระราคา จากการขายทรัพย์สิน เก็บรักษาทรัพย์สินทั้งหมด ของกองทุนรวม สอบทานความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม ฯลฯ

          ทั้งนี้ สถาบันการเงินนั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด และต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบริษัทจัดการ

          4. ตัวแทนสนับสนุนการขายหน่วยลงทุน หรือ ผู้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกองทุนรวม

          คือ ผู้ที่ให้คำแนะนำแก่นักลงทุนและผู้สนใจลงทุนทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ


               ตัวแทนสนับสนุนการขาย-ระดับหนึ่ง (Investment Planner (IP)) หมายถึง บุคคลที่สามารถให้คำแนะนำ ในการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมแก่ ผู้ถือหน่วยลงทุน และผู้สนใจลงทุนทั่วไป ทั้งที่เป็นคำแนะนำทั่วไป และคำแนะนำเฉพาะเจาะจง

               ตัวแทนสนับสนุนการขาย-ระดับสอง (Fundamental Guide (FG)) หมายถึง บุคคลที่สามารถให้คำแนะนำในการลงทุน ในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมแก่ ผู้ถือหน่วยลงทุน และผู้สนใจลงทุนทั่วไป เฉพาะที่เป็นคำแนะนำทั่วไปเท่านั้น

          ทั้งนี้ บุคคลที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว ต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมายกำหนด และต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น โดยต้องผ่านการทดสอบความรู้ ในหลักสูตรการเป็นตัวแทนขายจากสถาบันที่สำนักงาน ก.ล.ต.เห็นชอบ และขึ้นทะเบียนรายชื่อกับสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ บุคคลที่จะทำหน้าที่ต้องปฏิบัติตัวตามกรอบกฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันการขายและการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิด

          5. นายทะเบียนหน่วยลงทุน

          คือ สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้คอยหน้าที่ดูแลทะเบียนรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน ตลอดจนสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน เช่น การจ่ายเงินปันผล และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหน่วยลงทุน สำหรับกองทุนรวมภายใต้การจัดการของตนก็ได้

          6. ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

          คือบุ คคลที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้สอบบัญชี และมีชื่อขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงาน ก.ล.ต. มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของกองทุนรวม ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบงบการเงินของกองทุนให้ถูกต้องตามมาตรฐานบัญชี ข้อสำคัญคือบุคคลนี้ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบริษัทจัดการ เพื่อป้องกันการทุจริต

          7. สมาคมบริษัทจัดการลงทุน

          เป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ โดย จดทะเบียนสมาคมกับ สำนักงาน ก.ล.ต. มีบริษัทจัดการที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท การจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล และการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสมาชิก สมาคมมีหน้าที่กำหนดจรรยาบรรณ และวางมาตรฐานในการปฏิบัติ ให้บริษัทสมาชิกยึดถือและปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกราย กำหนดบทลงโทษเมื่อบริษัทสมาชิกฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตาม

          8. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

          เป็นองค์กรของภาครัฐ ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงการจัดการลงทุน ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือ ข้อกำหนดตามความในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์

 

หนังสือชี้ชวนคืออะไร?

          "หนังสือชี้ชวน" (Prospectus) เป็นคัมภีร์สำคัญที่ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องรู้จัก เพราะเป็นเอกสารสำคัญที่บริษัทจัดการลงทุนต้องทำขึ้น เพื่อเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการลงทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับทราบ และต้องแจกจ่ายหนังสือนี้ให้ผู้ลงทุนทุกครั้งที่จะเสนอขายหน่วยลงทุนด้วย ถือเป็นเอกสารที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย เป็นสัญญาที่บริษัทให้ไว้กับผู้ถือหน่วยลงทุน หากปฏิบัติไม่ได้ตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

          โดยทั่วไป หนังสือชี้ชวนจะประกอบด้วย "ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนควรทราบ" และ "ส่วนข้อมูลโครงการ" ซึ่งส่วนสรุปข้อมูลสำคัญนั้น จะต้องบอกให้ทราบว่า กองทุนรวมนี้มีลักษณะอย่างไร มีนโยบายอย่างไรบ้าง ระยะเวลาการชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุน คำเตือนและข้อแนะนำ ความเสี่ยงจากการลงทุน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ฯลฯ

          ขณะที่ ส่วนข้อมูลโครงการ นั้น จะเป็นการแจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบว่า ตนเองมีสิทธิประโยชน์อะไร เงื่อนไขต่างๆ วิธีการวัดผลการดำเนินงาน หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัทจัดการลงทุน ฯลฯ

 

ประเภทของกองทุนรวม

          กองทุนรวมมีมากมายหลายรูปแบบ เพื่อ ให้เหมาะสมกับ แต่ละลักษณะของผู้ลงทุน ซึ่ง โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งออกเป็น "ตามแบ่งตามการจำหน่าย และรับซื้อคืน" และ "ตามนโยบาย การลงทุน" ดังนี้

          แบ่งตามการจำหน่ายและรับซื้อคืน มี 2 ประเภทคือ

          1. กองทุนปิด (Closed-End fund)

           เป็น กองทุน ที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุน แบบคงที่ เปิดให้จองซื้อเพียงครั้งเดียวเมื่อเริ่มต้นโครงการ มีกำหนดอายุแน่นอน ในระหว่างเวลาที่ถือหน่วยลงทุนจะไม่สามารถขายหน่วยลงทุนคืนได้ จนกว่าจะครบกำหนดอายุโครงการ และไม่สามารถไถ่ถอนได้ก่อนถึงเวลาด้วย

          โดย ส่วนใหญ่แล้ว อายุโครงการของกองทุนรวมในประเทศไทย จะมีกำหนด 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี และเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการ อาจนำหน่วยลงทุนของกองทุนปิดไปจดทะเบียนซื้อขาย ในตลาดรอง (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) หรือ จัดให้มีตัวแทนจัดการซื้อขาย (Market maker) เพื่อให้สามารถทำการซื้อขายได้ตลอดได้

          2. กองทุนเปิด (Open-end Mutual Fund)

          เป็น กองทุน ที่ขายหน่วยลงทุนให้นักลงทุนแบบไม่จำกัดขนาด และเวลาในการไถ่ถอน ดังนั้น หากนักลงทุนต้องการขายเมื่อไรก็ขายได้ หรือ จะเพิ่ม หรือ ลด หน่วยลงทุนได้ตามที่นักลงทุนต้องการ ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกไตรมาส ฯลฯ ดังนั้น กองทุนเปิดจึงเป็นที่นิยมมากกว่ากองทุนปิด เพราะมีสภาพคล่องมากกว่า สามารถซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์นั้นๆ ได้เลย


          แบ่งตามนโยบายการลงทุน ตามมาตรฐานของสำนักงาน ก.ล.ต. จะมี 10 แบบ คือ


          1.กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ (General fixed income fund)

          เป็น กองทุนที่ขายหน่วยลงทุน ให้ นักลงทุนนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารหนี้ภาครัฐบาล และตราสารหนี้ภาคเอกชน เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ผลตอบแทนจะอยู่ในรูปของดอกเบี้ยรับที่จะไปเพิ่มมูลค่าหน่วยลงทุนสุทธิ (Net Asset Value) หรือ (NAV) ให้สูงขึ้น

          กองทุนนี้เหมาะสำหรับ ผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย เพราะตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยที่มีความสม่ำเสมอ นอกจากนี้ แม้ว่าราคาตราสารหนี้อาจมีความผันผวนขึ้นลงตามสภาวะตลาด แต่ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ ก็ยังผันผวนไม่มากเท่ากับตราสารทุน


          2. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะยาว (Long-term fixed income fund)

          เป็น กองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุน เพื่อนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวที่มีอายุมากกว่า 1 ปี เช่น หุ้นกู้ พันธบัตร เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย และสามารถลงทุนระยะยาวได้


          3. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น (Short-term fixed income fund)

          เป็น กองทุนที่ขายหน่วยลงทุน ให้กับ นักลงทุน เพื่อนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี เช่น ตั๋วแลกเงิน เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะสั้น และต้องการความเสี่ยงต่ำ


          4. กองทุนตราสารทุน (Equity fund)

          เป็น กองทุนที่ขายหน่วยลงทุน ให้กับ นักลงทุน เพื่อนำเงินไปลงทุนในตราสารทุน ประเภทหุ้นสามัญ ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดย สัดส่วนของการลงทุน ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด คือ โดยเฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ กองทุนรวม ทั้งนี้ เมื่อผู้จัดการกองทุนได้ลงทุนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าวข้างต้นแล้ว เงินทุนส่วนที่เหลือก็สามารถที่จะนำไปใช้ลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทอื่นๆ เช่น เงินฝากหรือตราสารหนี้ หรือ จะนำเงินทั้งหมดไปลงทุนในตราสารทุนก็ได้ ผลตอบแทนที่ได้ขึ้นอยู่กับ บริษัทจัดการกองทุน ว่าจะเป็นผลตอบแทนประเภทจ่ายเงินปันผล (dividend) หรือ จากกำไรส่วนต่าง (capital gain)

          ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว กองทุนรวมตราสารแห่งทุนมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารประเภทอื่น จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง และควรลงทุนเพื่อหวังผลที่ดีกว่าในระยะยาว


          5. กองทุนรวมตลาดการเงิน (Money market fund)

          เป็น กองทุนที่ขายหน่วยลงทุน ให้กับ นักลงทุน เพื่อนำเงินไปลงทุนในตลาดการเงิน เช่น ฝากธนาคาร หรือนำไปลงทุนในตราสารหนี้ ระยะสั้น ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี หรือ ตั๋วแลกเงิน ลักษณะของกองทุนตลาดเงิน จะคล้ายๆ กับกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะ มีนโยบายคล้ายคลึงกัน ผลตอบแทนที่ได้จะอยู่ในรูปดอกเบี้ยรับ ซึ่งจะไปเพิ่มมูลค่าให้กับหน่วยลงทุนสุทธิ (Net Asset Value) หรือ (NAV) ราคาหน่วยลงทุนจะเพิ่มขึ้นนั้นเอง แต่ที่ต่างกันคือ กองทุนตลาดการเงินจะเอาเงินบางส่วนไปฝากไว้กับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูงอีกด้วย

          ทั้งนี้ กองทุนตลาดการเงินมีความเสี่ยงต่ำสุด เหมาะสำหรับการลงทุนระยะสั้นของผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง


          6. กองทุนรวมผสม (Balanced Fund)

          คือ กองทุนรวม ที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น เงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือ ตราสารอื่นๆ แต่จะต้อง มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน ในขณะใดขณะหนึ่ง ไม่น้อยกว่า 35% และไม่เกินกว่า 6 % ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ของกองทุนรวมนั้น เช่น หากหุ้นดี ผู้จัดการกองทุนอาจซื้อหุ้นได้สูงสุดคือ 65% แต่ ถ้าหุ้นตก ก็จะลดส่วนหุ้นลงมาเหลือเพียง 35% ส่วนที่เหลือสามารถนำไปลงทุนในตราสารอื่นได้ตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้จัดการกองทุนที่จะ แสวงหาโอกาสลงทุนที่ดีกว่าได้

          สำหรับผลตอบแทนการลงทุนนั้น ก็จะอยู่ในระดับ ปานกลาง และ ความเสี่ยงก็อยู่ในระดับ ปานกลาง เช่นกัน


          7. กองทุนรวมผสมยืดหยุ่น (Flexible Portfolio Fund)

          เป็น กองทุนรวมที่ลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ แบบผสมผสานได้ทุกประเภท เช่นเดียวกันกับกองทุนแบบผสม แต่ ไม่ได้กำหนดขอบเขตการลงทุนในตราสารทุน หรือ ตราสารหนี้ในสัดส่วนเท่าใด ดังนั้น การจัดสรรเงินลงทุนระหว่างเงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือ ตราสารอื่นๆ จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของ ผู้จัดการกองทุนตามสภาวะตลาดในขณะนั้นๆ

           กองทุนรวม ประเภทนี้เหมาะสำหรับ ผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ ปานกลาง


          8. กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds)

          คือ กองทุนรวม ที่มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุน และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน ของกองทุนรวม โดย เฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ กองทุนรวม ส่วนเงินที่เหลือ อาจนำไปลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ หรือ ตราสารทุนก็ได้

          ข้อดี ของกองทุนรวมหน่วยลงทุน คือ มีต้นทุนเฉลี่ยต่ำ เป็นการกระจายการลงทุนไปในหลายกองทุนรวม ภายใต้การจัดการของหลายผู้จัดการกองทุน และ หลายบริษัทจัดการ ดังนั้น จึงเป็นการกระจายความเสี่ยง ได้กว้างขวางกว่ากองทุนรวมทั่วไป แต่ ก็มีข้อเสียเช่นกัน ตรงที่มีค่าธรรมเนียมในการจัดการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ซ้ำซ้อน


          9. กองทุนรวมใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant Fund)

          คือ กองทุนรวม ที่มีนโยบายการลงทุน ใน ใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่จะซื้อ หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน หรือ หุ้นเพิ่มทุน โดยเฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ กองทุนรวม และเงินส่วนที่เหลืออาจนำไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทอื่น ๆ ได้

          อย่างไรก็ตาม การลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิมีความเสี่ยงสูง กองทุนประเภทนี้จึง มีความเสี่ยง สูงมาก

 
          10. กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ (Sector fund)

          เป็น กองทุนรวม ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุน ของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกัน ตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด โดยเฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

          ทั้งนี้ กองทุนนี้จะลงทุนเฉพาะกลุ่มธุรกิจใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มสื่อสาร ที่คาดว่าหุ้นในกลุ่มดังกล่าวจะมีผลประกอบการดี และจะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด แต่ด้วยรูปแบบที่เป็นการลงทุนกระจุกตัว การลงทุนแบบนี้จึงมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมตราสารแห่งทุนทั่วไป

          นอกจากนี้ ยังมีกองทุนประเภทอื่นๆ ซึ่งที่เราควรรู้จักก็อย่างเช่น

          กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property fund) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า "กอง 1" 
          เป็น กองทุน ที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุน เพื่อนำเงินไปซื้อ หรือ เช่าอสังหาริมทรัพย์ อาคาร โรงแรม โรงงาน ห้างสรรพสินค้า ที่ดินที่เป็นประโยชน์ ซึ่งมักจะนำไปเช่าในระยะยาว 20-30 ปี ไม่ได้มุ่งจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนา หรือขายต่อ โดย มีนโยบายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ในอัตราไม่ต่ำกว่า 75% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้ อสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนนั้นต้องอยู่ในประเทศไทย และ ไม่ใช่ที่ดินเปล่า แต่ต้องเป็นอสัหาริมทรัพย์ที่สร้างเสร็จแล้ว หรือ ก่อสร้างไปแล้วไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ

          และ เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาว กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นกองทุนปิดเท่านั้น ไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน แต่บริษัทจัดการจะไปจดทะเบียนไว้ในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการซื้อขาย โดยกองทุนนี้จะมีเงินทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

          กองทุนอสังหาริมทรัพย์ แบบมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ (Freehold) คือ กองทุนรวม เป็นเจ้าของในตัวทรัพย์สินโดยตรง เป็นการซื้อขาด กองทุนสามารถรับค่าเช่าได้เต็มที่ มีกรรมสิทธิ์เต็มที่ สามารถขายตึกได้ และจะไม่มีวันหมดความเป็นเจ้าของในตัวทรัพย์สิน จนกว่ากองทุนจะขายทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้อื่น และผู้ถือหน่วยก็จะได้รับเงินลงทุนคืนตามมูลค่าที่กำหนด

          กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (Leasehold) คือ กองทุน จะได้รับสิทธิในการหารายได้จากทรัพย์สินนั้นๆ ในระยะยาวผ่านสัญญาเช่า ซื่งจะมีระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญา หรือเรียกว่าการ "เซ้ง" นั่นเอง รูปแบบนี้จะได้รับเพียงแค่สิทธิ ในการนำอสังหาริมทรัพย์ไปหาผลตอบแทนตามช่วงระยะเวลาที่ตกลงกันไว้กับเจ้าของ แต่ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น หากครบกำหนดสัญญาเช่าก็ต้องคืนให้เจ้าของ

          ผลตอบแทนที่ได้จะอยู่ในรูปของค่าเช่า ไม่ได้มุ่งจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนาหรือขายต่อ ซึ่งจะแบ่งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนในรูปของเงินปันผล (Dividend) ในแต่ละปี

 

กองทุนทองคำ (Gold fund)


          ปัจจุบัน กองทุนทองคำ กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถซื้อขายได้ง่าย ผ่านธนาคารที่เป็นตัวแทนของบริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน หรือ ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งในประเทศไทยปัจจุบันมีอยู่กว่า 20 กองทุน นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้รับเงินปันผลด้วย หากกองทุนนั้นมีนโยบายจ่ายเงินปันผล

          ลักษณะของ กองทุนทองคำ ก็เหมือนกับ กองทุนรวมอื่นๆ ที่จะรวบรวมเงินจากนักลงทุน แล้วนำไปซื้อทองคำมาเก็บไว้ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำแท่ง ในตลาดโลก ผู้ที่ถือหน่วยลงทุน จะไม่ได้ถือทองคำจริงๆ แต่จะถือในรูปหน่วยลงทุน ซึ่งผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนทองคำ คือมูลค่าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอยู่ในรูปกำไรส่วนต่าง


          อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจจะลงทุนกองทุนทองคำต้องระวังความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงราคาทองคำ (Price Risk) และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Risk) อันเกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศอื่นด้วย

 

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil fund)


          เป็น กองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้กับ นักลงทุน เพื่อนำเงินไปลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า น้ำมันดิบ ผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนน้ำมันคือ ส่วนต่างมูลค่าของสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบที่เปลี่ยนแปลง

          ทั้งนี้ หลายคนอาจสงสัยว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีความสำคัญอย่างไร คำตอบคือ เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง จึงไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกสูงและมีความผันผวน เราจึงได้รับผลกระทบในส่วนนี้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ระดับหนึ่ง เพราะจะไปรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ที่ระดับหนึ่ง โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายชดเชย และเมื่อราคาน้ำมันลดลงจึงเก็บส่วนที่่ชดเชยไปคืนกลับมา ซึ่งสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ และช่วยให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายราคาน้ำมันในราคาที่สูงเกินไป

 
กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign investment fund) หรือ FIF

          คือ กองทุนรวม ที่จะระดมเงินจากผู้ลงทุนในประเทศไทย ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในตลาดเงิน ตลาดทุน ทองคำ หรือ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่มองว่ามีแนวโน้มที่ดีกว่า เพื่อเป็นการกระจายการลงทุน และเพิ่มโอกาสในการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศ

          ทั้งนี้ ผลตอบแทนที่ได้จะต้องนำมาคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งผลกำไรอาจจะเท่าทุนก็เป็นได้ถ้าขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมาชดเชยกำไรที่ได้ ดังนั้น ความเสี่ยงของกองทุนนี้ก็คือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และความผันผวนระหว่างเงินสองสกุล รวมทั้งสถานการณ์ภายในประเทศที่เลือกลงทุนด้วย แต่ก็มีผลดีก็คือเป็นการกระจายการลงทุนออกไปนอกประเทศ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจภายในประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย


กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น (Principle or Capital Protection Fund)

          คือ กองทุนรวม ที่มีนโนบายมุ่งลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อคุ้มครองเงินต้น (Principle) ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าจะได้รับผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าเงินลงทุนเบื้องต้นที่ลงทุนไป หลังครบกำหนดอายุโครงการ มี 2 แบบ คือ

          แบบ Passive เป็นการมุ่งลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก โดยอาจถือครองได้สูงถึง 90% สำหรับเงินลงทุนส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนในตราสารทุนที่มีความเสี่ยงมากกว่า

           แบบ Active เป็นการมุ่งลงทุนในตราสารทุนเพิ่มขึ้น และลดการถือครองพันธบัตรหรือตราสารหนี้ลง หรืออาจไม่ถือครองเลยก็ได้เมื่อดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์สูงขึ้น โดยต้องไม่ให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่ำกว่ามูลค่า ณ เริ่มต้น และในทางกลับกัน จะมุ่งลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้เพิ่มขึ้นและลดการถือครองตราสารทุนลงหรืออาจไม่ถือครองเลยก็ได้เมื่อดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ลดลง โดยไม่ให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่ำกว่ามูลค่า ณ เริ่มต้นเช่นกัน
 

กองทุนรวมแบบมีประกัน (Guarantee Fund)

          หมายถึง การลงทุน ที่เมื่อมีการถือหน่วยลงทุนจนครบตามระยะเวลาประกันที่กำหนด แล้วบริษัทจัดการลงทุนไม่สามารถบริหารเงินลงทุนให้ได้ผลตอบแทน ตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ผู้รับประกัน (Guarantor) จะจ่ายเงินลงทุน หรือ ทั้งเงินลงทุน และผลตอบแทนคืน ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามจำนวนเงินที่ได้รับประกันไว้ โดยอาจจ่ายเงินคืนเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้แล้วแต่กรณี


กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF)

          คือ กองทุนรวม ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นสามัญจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น โดย ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นสิ่งจูงใจในการลงทุน เพราะ เงินลงทุนในกองทุนนี้ สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินในปีภาษีนั้น แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และการยกเว้นภาษีเงินได้นี้ก็เป็นกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน

 
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)

          เป็น กองทุนรวม ที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนออมเงินระยะยาวไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ ลักษณะคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ของข้าราชการ

          ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ เงินลงทุนในกองทุนจะนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมเข้ากับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่ผู้ลงทุนมีอยู่ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ ให้นับตามเวลาแบบวันชนวัน ตั้งแต่วันแรกที่ได้เริ่มลงทุน


กองทุนอิงดัชนี (Index Fund)

          เป็น กองทุน ที่ลงทุนในตราสารทุน แต่จะให้น้ำหนักการลงทุนให้เท่ากับดัชนีนั้นๆ  หรือเหนือกว่า ส่วนใหญ่จะอ้างอิงกับ SET50index บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ 50 อันดับแรกในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งวัดกันที่ขนาดมูลค่าบริษัทจดทะเบียนในตลาด หรือ Market cap ซึ่งการลงทุนในดัชนี SET50index นี้ส่วนใหญ่มุ่งที่จะชนะตลาดในระยะยาว ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้จัดการกองทุนนั้นๆ ผลตอบแทนที่ได้คือกำไรส่วนต่างราคา 


 
กองทุน ETF (Exchange Traded Fund)


          เป็น กองทุนเปิด ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และซื้อขายสะดวกเหมือนหุ้น เสียค่าบริหารจัดการต่ำกว่ากองทุนอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากกองทุนอิงดัชนี (Index Fund) อย่างเห็นได้ชัด และสามารถอ้างอิงดัชนีได้หลายประเภท เช่น ดัชนีราคาหลักทรัพย์ ดัชนีราคาตราสารหนี้ ดัชนีราคาทองคำ


กองทุนประเภทกำหนดผลตอบแทน (Target Fund)

          เป็น กองทุน ประเภทกำหนดผลตอบแทน และระยะเวลาชัดเจนเป็นรูปแบบกองทุนปิดอาจลงทุนในกองทุนน้ำมัน กองทุนทองคำ หรือกองทุนต่างประเทศก็ได้

 

วิธีการลงทุนกองทุนรวม


           เริ่มจาก บริษัทจัดการกองทุนจะออกหนังสือชี้ชวนให้นักลงทุนได้พิจารณาตัดสินใจ จากนั้น จะออกหน่วยลงทุน กำหนดราคาว่าจะขายเริ่มต้นที่หน่วยละเท่าไร หากนักลงทุนคนไหนสนใจก็จะซื้อหน่วยลงทุนนั้นๆ เมื่อถึงกำหนดเวลา หรือเมื่อขายคืน นักลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนในรูปของกำไรส่วนต่าง หรือเงินปันผล หรือดอกเบี้ยรับ ส่วนลดรับ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการของบริษัท และผู้จัดการกองทุน


ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในกองทุนรวม เมื่อเราลงทุนในกองทุนรวมแล้ว ผลตอบแทนที่เราจะได้รับก็คือ

            กำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain) คือ เงินได้ที่เกิดขึ้นจากผลต่างของราคาขายหลักทรัพย์ ที่สูงกว่าราคาทุน จะได้รับเมื่อผู้ลงทุนขายคืนหน่วยลงทุนให้กับบริษัทจัดการลงทุนในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมาตอนแรก (วัดได้จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากมูลค่าที่เริ่มแรกลงทุน)

          ส่วนแบ่งกำไรในรูปของเงินปันผล (Dividend) เฉพาะกรณีที่กองทุนรวมนั้นมีนโยบายจ่ายเงินปันผล ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีนโยบายแตกต่างกันไป

          ดอกเบี้ยรับ (Interest Received) สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยเป็นประจำ ตามจำนวน

          เงินที่คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ (Coupon rate) บนตราสารหนี้ และตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล มีอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ร้อยละ 7 จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน หมายความว่า ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงิน 3.50 บาท ในเดือนมิถุนายน และธันวาคม ของทุกปี เป็นต้น และงวดสุดท้ายจะได้รับดอกเบี้ยพร้อมการชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวน

          ส่วนลดรับ (Discount Earned) ในกรณีของตราสารหนี้ประเภท zero coupon bond ผู้ลงทุนสามารถซื้อตราสารหนี้

           ในราคาซื้อลด หรือในมูลค่าที่ต่ำกว่าจำนวนเงินหน้าตั๋ว (Face value) ที่ระบุไว้ว่าจะใช้คืนในวันกำหนดชำระ ตัวอย่างเช่น ตราสารหนี้ประเภท Zero coupon bond ที่ไม่มีอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ จำนวนเงินที่จะชำระคืน 1,000 บาท กำหนดชำระคืนในปีที่ 5 นับจากวันลงทุน จำหน่ายให้แก่ผู้ลงทุนในอัตราผลตอบแทนจนถึงวันครบกำหนด (Yield to maturity) ที่ 7% ต่อปี ราคาซื้อของตราสารหนี้ประเภท Zero coupon bond จะคำนวณได้เท่ากับ 708.91 บาท ส่วนลดรับ จะเท่ากับ 1,000 - 708.91 = 291.09 บาท

          อย่างไรก็ตาม ที่ต้องรู้ก็คือ ผู้ลงทุนอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนก็ได้ ในกรณีที่ขายหน่วยลงทุนแล้วไม่ได้กำไร ซึ่งกองทุนรวมจะไม่รับประกันผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ยกเว้นว่ากองทุนนั้นมีประกัน และนอกจากนี้ เงินส่วนแบ่งกำไรนี้จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามกฎหมายด้วย

          ได้เข้าใจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการลงทุนกองทุนรวมแล้ว ก็อย่าลืมศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมให้มากขึ้น ก่อนตัดสินใจว่าการลงทุนประเภทนี้เหมาะกับความต้องการของเราหรือไม่นะคะ
 





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กองทุนรวม คืออะไร ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ อัปเดตล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14:25:13 7,996 อ่าน
TOP