x close

จับตามอง ร่าง พ.ร.บ.บัตรเครดิต ฉบับใหม่ ผู้ใช้ได้ประโยชน์หรือไม่


จับตามอง ร่าง พ.ร.บ.บัตรเครดิต ฉบับใหม่ ผู้ใช้ได้ประโยชน์หรือไม่


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล  

            เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ.บัตรเครดิต ทั้งประวัติความเป็นมาและสาระสำคัญของ พ.ร.บ.บัตรเครดิต ที่ผู้ใช้บัตรเครดิตทั้งหลายควรศึกษากันไว้
   
            สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 ประชุมสภามีมติเอกฉันท์ 330 เสียง ผ่านร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. ..... ฉบับใหม่ ในวาระที่ 1 โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน เพื่อดูแลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมหารือกันที่อาคารวุฒิสภา เพื่อทบทวนกฎหมายฉบับนี้กันอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการนำร่าง พ.ร.บ. เสนอสภาผู้แทนราษฎรโหวตรายมาตรา ในวาระ 2 และโหวตทั้งร่าง ในวาระ 3 แต่ พ.ร.บ.บัตรเครดิต เกิดขึ้นเพื่อเหตุใด มีการบังคับใช้มาตั้งแต่เมื่อไร วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากกันค่ะ

            พ.ร.บ.บัตรเครดิต หรือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต มีสาระสำคัญ คือ เป็นกฎหมายกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงการกำหนดให้การรับส่งข้อมูลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศผ่านศูนย์กลางหรือจุดเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลรายการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดตั้งภายในประเทศ เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคในการประกอบกิจการและการใช้บริการบัตรเครดิต

            ทั้งนี้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ได้มีการประกาศใช้ ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 ต่อมาได้มีการประกาศใช้ฉบับแก้ไข ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 กระทั่งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ได้มีการประกาศใช้ ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นฉบับที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

            ส่วน ร่าง พ.ร.บ.บัตรเครดิต ฉบับใหม่ ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมานั้น มีสาระสำคัญเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและสร้างมาตรฐานในการกำกับดูแลการ ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยมีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตอย่างชัดเจนมากขึ้น

            และเนื่องจากการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทย มีผู้ประกอบการ 2 ประเภท คือ สถาบันการเงิน กับนิติบุคคลที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งการกำกับดูแลสถาบันการเงินนั้น ในช่วงแรกเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ส่วนนิติบุคคลที่ไม่ใช่สถาบันการเงินนั้น จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เป็นไปตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ทำให้การกำกับดูแลผู้ประกอบการ ทั้ง 2 ประเภท มีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน แต่การใช้บัตรเครดิตปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ยังไม่มีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตเป็นการเฉพาะ รวมทั้งยังไม่มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับส่งข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการใช้บัตรเครดิตที่ออกและใช้จ่ายภายในประเทศ จึงมีการกำหนดมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคใหม่ ซึ่งเนื้อหาโดยรวมสรุปได้ดังนี้

            1. หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ห้ามมิให้ออกบัตรเครดิตแก่ผู้ใดที่ไม่ได้มีคำขอยกเว้น เป็นการออกบัตรใหม่แทนบัตรเดิม, ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดทำบัญชีและรายงานผลการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด, ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจลดทุนหรือหยุดหรือระงับการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ ธปท. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินธุรกิจ เช่น การตั้งตัวแทน การใช้บริการจากบุคคลภายนอก การออกบัตรเครดิต การกำหนดประเภทบัตร การเปิดเผยเงื่อนไขในสัญญา การกำหนดวงเงิน การเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายอื่นใด  การยกเว้นการใช้บัตรเครดิต การบังคับชำระหนี้ หรือกรณีอื่นใดที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตร
   
            2. หน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและการคุ้มครองผู้ถือบัตร กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตมีหน้าที่แจ้ง เปิดเผย หรือให้ข้อมูลแก่ผู้ถือบัตร รวมทั้งการเตือนเกี่ยวกับการทุจริตต่าง ๆในการใช้ข้อมูลหรือใช้บัตรเครดิต และแจ้งให้ผู้ถือบัตรระวังการโจรกรรมข้อมูลเครดิต หรือการทำธุรกรรมที่ไม่ปกติ, ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเรียกเก็บเงินจากผู้ถือบัตรก่อนถึงวันครบกำหนด และให้ ธปท. กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจและผู้รับบัตร จัดให้มีศูนย์บริการลูกค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือบัตร

            3. หลักเกณฑ์การให้บริการแก่ผู้รับบัตร กรณีที่ธุรกรรมเกิดจากการใช้จ่ายบัตรเครดิตทั้งในและนอกประเทศ โดยผู้ให้บริการต้องทำการรับ-ส่งข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ จากบัตรเครดิตของผู้ถือบัตรไปยังผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ตามหลักเกณฑ์ ที่ธปท. ประกาศกำหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

            4. ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตมีฐานะการเงินอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.นี้ ให้ ธปท. มีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ถ้าหากไม่สามารถแก้ไขฐานะการเงินในระยะเวลาที่ ธปท. กำหนด ให้ ธปท. มีคำสั่งระงับการประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่หากไม่สามารถแก้ไขฐานะทางการเงินหรือดำเนินการให้ถูกต้องได้ในที่สุด ให้ ธปท. เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเพิกถอนใบอนุญาต

            อย่างไรก็ตาม การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.บัตรเครดิต ฉบับใหม่นี้ อาจเป็นเพียงการแก้ไขเนื้อหาบางส่วนเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันกลุ่มองค์การพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ (ภาคประชาชน) ก็ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบว่า พ.ร.บ.บัตรเครดิต ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และ มาตรา 84 (5) ที่ว่าด้วย รัฐจะต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวมถึงการกำกับให้การประกอบกิจการทุกประเภท มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้บริโภค และมองว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิด้วยการบันทึกข้อมูลในระบบแบล็กลิสต์ จำนวนรวมกว่า 20 ล้านคน ซึ่งมีการแยกที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้นไว้ 7 ประเภท ดังนี้

            1. การสถาบันการเงินปิดตัวลงช่วง พ.ศ. 2540-2545 ทำให้กลุ่มผู้ใช้สินเชื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ และส่งผลให้ประวัติการชำระหนี้ไม่ต่อเนื่องผิดเงื่อนไข

            2. ธุรกิจที่ประสบภาวะขาดทุนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ จนต้องปิดกิจการ หรือกิจการถูกยึด ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ เพราะถูกจำกัดเรื่องการกู้เงิน

            3. อุทกภัย อัคคีภัย ภัยพิบัติ การชุมนุมต่าง ๆ ส่งผลให้กิจการธุรกิจที่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวต้องปิดตัวลง ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้

            4. ปัญหาจากบัตรเครดิตที่ตามมา อาทิ ค่าธรรมเนียมจากการชำระหนี้ ค่าปรับชำระผิดเงื่อนไข บัตรสูญหาย การเลิกใช้บัตรเครดิตโดยไม่ได้ชำระหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด การไม่ได้แจ้งยกเลิกการใช้บัตรกับธนาคารเจ้าของบัตร ทำให้เกิดหนี้ค้างชำระโดยไม่ได้ตั้งใจและเสียประวัติไปโดยปริยาย

            5. เกษตรกรทั้งประเทศประมาณ 10 ล้านคน เป็นบุคคลที่มีประวัติเสียหรือติดเครดิตบูโร เพราะผิดเงื่อนไขการชำระหนี้

            6. กองทุนเพื่อการศึกษาที่ให้นักศึกษากู้ผ่านธนาคาร เมื่อจบการศึกษาแล้ว หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ นอกจากถูกดำเนินคดี ทางธนาคารก็จะส่งข้อมูลให้บริษัทข้อมูลเครดิตฯ ว่าเป็นผู้มีประวัติเสีย

            7. ผู้ค้ำประกันสินเชื่อต่าง ๆ ต้องติดเครดิตบูโร จนทำให้ประวัติเสียไปด้วย

            จากปัญหาในข้างต้นนี้ ส่งผลให้เกิดประชาชนที่ติดเครดิตบูโรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสถาบันการเงินในระบบได้ ทำให้ประชาชนบางส่วนต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ และต้องไปประกอบอาชีพไม่สุจริตเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ดังกล่าว ดังนั้นกลุ่มองค์การพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ (ภาคประชาชน) จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเสียรายได้ไปมากว่านี้

            ซึ่งภายหลังทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับเรื่องไว้และเผยว่า จะเร่งดำเนินการพิจารณาตรวจสอบคำร้องดังกล่าว โดยมอบให้ทีมกฎหมายให้พิจารณาหากเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป แต่ในส่วนของการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.บัตรเครดิต ในวาระ 2 และวาระ 3 นั้น เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นคงต้องต้องติดตามกันต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ.บัตรเครดิต ฉบับใหม่นี้ จะมีการปรับแก้เนื้อหาในทิศทางใด และจะช่วยคุ้มครองผู้ใช้บัตรเครดิตจริงดังที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จับตามอง ร่าง พ.ร.บ.บัตรเครดิต ฉบับใหม่ ผู้ใช้ได้ประโยชน์หรือไม่ อัปเดตล่าสุด 14 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17:40:48 2,272 อ่าน
TOP