x close

เปิดวิธีคำนวณตัวเลขจำนำข้าว คิดอย่างไรได้ขาดทุนกว่า 4 แสนล้าน




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Noch Hautavanija

           เปิดวิธีการคำนวณตัวเลขขาดทุนโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ขาดทุนปีละกว่า 2 แสนล้าน รวม 2 ปี กว่า 4 แสนล้านบาท ตามแนวคิดของหม่อมอุ๋ย คิดอย่างไรถึงได้ตัวเลขนี้

          จากกรณีที่ หม่อมอุ๋ย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เผยถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ในงาน "มหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริต" เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ว่า จากการคำนวณความเสียหายโครงการจำนำข้าว 2 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะเกิดความเสียหายจนถึงวันที่ ขายข้าวหมดสูงถึง 425,000 ล้านบาท โดยปีแรกเสียหาย 205,000 ล้านบาท ปีที่สองเสียหาย 220,000 ล้านบาท แต่ชาวนากลับได้ประโยชน์ไปไม่ถึงครึ่ง คือเพียง 210,126 ล้านบาท และมีผู้อื่นที่มิใช่ชาวนาได้ประโยชน์ไปด้วย 115,831 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่สามารถสกัดการหาผลประโยชน์หรือคอร์รัปชั่นจากโครงการดังกล่าวได้เลย ก่อนที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จะออกมาปฏิเสธที่จะชี้แจงถึงผลขาดทุนในโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการตอบโต้ เพราะรู้ว่านักเศรษฐศาสตร์หลายท่านไม่ได้เรียนบัญชี อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

           ในขณะที่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล  รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ทราบว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร นำตัวเลขขาดทุนดังกล่าวมาจากไหน เพราะขณะนี้รัฐบาลยังขายข้าวไม่หมด จึงยังไม่สามารถสรุปตัวเลขขาดทุนทั้งหมดได้ โดยตัวเลขที่เขาเห็นล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2556 คือขาดทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องการคิดราคาจำนวนข้าวที่เหลือในสต็อก ซึ่งหลายฝ่ายอยู่ในระหว่างการประเมินตัวเลขการขาดทุน
 
           ก่อนที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศ์กร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ นายกัมพล ปั่นตะกั่ว นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ จะเขียนบทความเรื่อง "การขาดทุนทางบัญชีจากการจำนำข้าว" ซึ่งมองว่า การที่ตัวเลขขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวของทั้ง 2 ฝ่ายแตกต่างกันนั้น  เพราะฝ่ายรัฐบาลตีมูลค่าของข้าวในสต็อกด้วยต้นทุนข้าวที่ซื้อมา ส่วน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ใช้วิธีตีมูลค่าข้าวในสต็อกด้วยราคาตลาด ซึ่งนักบัญชีทราบกันดีว่าหลักวิชาการทางบัญชีที่นิยมใช้กันคือการตีราคาสินค้าคงคลังด้วยราคาตลาด เพราะการตีราคาสินค้าคงคลังด้วยต้นทุนสินค้าที่ได้มาจะไม่สามารถแสดงมูลค่าที่แท้จริงของสินค้า โดยเฉพาะในกรณีที่ราคาตลาดของสินค้านั้น ๆ ตกต่ำลงกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อมาอย่างรวดเร็ว การใช้ราคาต้นทุนจะก่อให้เกิดการบิดเบือนสถานะทางบัญชีได้

             ทางด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง  ก็ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะขาดทุนจากโครงการดังกล่าวมากกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท หรือ รวม 2 ปี โครงการรับจำนำข้าวจะขาดทุนมากกว่า 4 แสนล้านบาท โดยอ้างอิงข้อมูลของคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว จาก นางสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่ง นางสุภา ก็ได้ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกัน


ม็อบชาวนา เรียกร้องรัฐบาลขยาย โครงการรับจำนำข้าว


             มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า ตัวเลขขาดทุนกว่า 4 แสนล้านบาทที่หลายฝ่ายให้ข้อมูลมานั้น คำนวณมาได้อย่างไร ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ทางรายการ ฟ้าทะลายโจร ได้มีการเผยแพร่ภาพกระดานคำนวณขาดทุนจำนำข้าวแบบง่าย ๆ เพื่อดูว่ารัฐบาลขาดทุนจำนำข้าวมากกว่า 4 แสนล้านบาทจริงหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับวิธีคำนวณที่ นายพัสณช เหาตะวานิช เลขาฯ ของนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความไว้ในคอลัมน์ "การเมือง.. เรื่องเงิน ๆ" ใน เว็บไซต์แนวหน้า ดังนี้

              จากข้อมูลที่ นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ผลผลิตข้าวในปี 54/55 และ 55/56 นั้น มีปริมาณ 26 ล้านตัน ขณะนี้ขายไป 12 ล้านตัน ได้เงินมา 1.29 แสนล้านบาท และยังเหลือข้าวในสต็อก 14 ล้านตัน ขณะที่ข้อเท็จจริงจากการใช้เงินภาษีในการจำนำข้าว ตัวเลขโดยกระทรวงการคลัง 2 ปีใช้เงินภาษีในการจำนำข้าวทั้งสิ้น 6.78 แสนล้าน บวกค่าดำเนินการ 8.9 หมื่นล้าน รวมเป็นเงิน 7.67 แสนล้านบาท ในการรับจำนำข้าว 26 ล้านตัน

           เมื่อคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ยของข้าวจากการจำนำข้าว จะได้

           จำนวนเงินที่ใช้รวม 6.78 แสนล้าน + 8.9 หมื่นล้าน = 7.67 แสนล้านบาท หารด้วยจำนวนข้าวที่ได้ 26 ล้านตัน =  ต้นทุนข้าวคือ 28,673 บาทต่อตัน (คำนวณจากตัวเลขสุทธิก่อนปัดเศษ)

           ขณะที่ราคาขายข้าวในตลาดโลกอยู่ที่ 10,750 บาทต่อตัน ดังนั้น...

           จำนวนขาดทุนต่อตัน = ต้นทุนต่อตัน - ราคาตลาดต่อตัน จะได้ 28,673 - 10,750 = จำนำข้าวขาดทุน 17,923 บาทต่อตัน

           โดยกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า สามารถขายข้าวออกไปได้ 12 ล้านตัน ดังนั้น ผลขาดทุนรวมจากการขายข้าว 12 ล้านตัน
ก็คือ...

           จำนวนเงินขาดทุน 17,923 บาท X 12 ล้านตัน = 215,076 ล้านบาท

           นอกจากจำนวนข้าวที่ขายออกไปได้แล้ว ยังต้องคำนวณจำนวนข้าวที่เหลือล้นในโกดังอีก 14 ล้านตันด้วย ซึ่งนับวันจะยิ่งเสื่อมสภาพ หากนำมาขายในตอนนี้ที่ราคาปัจจุบัน จะขาดทุน 17,923 บาทต่อตัน ถ้าขายหมด 14 ล้านตัน จะเท่ากับ 14 ล้าน X 17,923 = 250,922 ล้านบาท

           ดังนั้น หากการรับจำนำข้าว 26 ล้านตัน สามารถขายได้หมดสต็อกที่มีอยู่ จะขาดทุนรวม 250,922 ล้านบาท + 215,076 ล้านบาท = 465,998 หรือราว 4.66 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ระบุว่า รัฐบาลขาดทุนจำนำข้าวสูงกว่า 4 แสนล้านบาทนั่นเอง



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  , เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดวิธีคำนวณตัวเลขจำนำข้าว คิดอย่างไรได้ขาดทุนกว่า 4 แสนล้าน อัปเดตล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2556 เวลา 09:25:39 3,359 อ่าน
TOP