x close

ฝากเงินแบบไหน ให้เหมาะกับเรามากที่สุด


ฝากเงินแบบไหน ให้เหมาะกับเรามากที่สุด


ฝากเงินแบบไหน ให้เหมาะกับเรามากที่สุด Which Bank Accounts is Suitable for You (ธนาคารกสิกรไทย)

            เมื่อต้องการฝากเงินกับธนาคาร คำถามหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในใจเราคือ จะฝากเงินบัญชีแบบไหนดี เพราะปัจจุบันบัญชีเงินฝากมีหลายรูปแบบ ทั้งบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ และบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี เรามาทำความรู้จักกับบัญชีเงินฝากแต่ละประเภท เพื่อให้สามารถเลือกฝากเงินได้เหมาะกับตัวเรามากที่สุดค่ะ


บัญชีเงินฝากออมทรัพย์


            เป็นบัญชีที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะเรามักใช้บัญชีเงินฝากออมทรัพย์สำหรับการจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆโดยมีบัตร ATM เป็นตัวช่วยเพิ่มความสะดวกในการเบิกถอนเงิน นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีค่าใช้จ่ายซึ่งต้องชำระทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็น ค่าสาธารณูปโภค ค่าโทรศัพท์ หรือค่าผ่อนบ้าน และต้องการให้มีการตัดบัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้อัตโนมัติ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์จะเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้

            อัตราดอกเบี้ยของเงินฝากออมทรัพย์อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับเงินฝากประจำ โดยดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละปี หากไม่เกิน 20,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น เราไม่ควรออมเงินไว้ในบัญชีเงินฝากประเภทนี้มากนัก แนะนำว่า เมื่อเงินเดือนเข้าบัญชี ให้ลองประมาณดูว่า แต่ละเดือนค่าใช้จ่ายของเราเป็นเงินประมาณเท่าไหร่ โดยเงินที่ฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ควรมีไม่เกิน 3 เท่าของรายจ่ายรายเดือน ส่วนเงินส่วนเกินนั้น แนะนำให้ลงทุนหรือฝากในบัญชีที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นต่อไปค่ะ

   
บัญชีเงินฝากประจำ
   
            บัญชีเงินฝากประจำเหมาะสำหรับการออมเงินก้อน โดยมีระยะเวลาในการฝากให้เลือกหลากหลายทั้ง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี ยิ่งเราเลือกระยะเวลาในการฝากนาน อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับก็จะเพิ่มสูงขึ้น แต่เราต้องแน่ใจว่า จะสามารถฝากเงินได้ครบตามกำหนด เพราะหากถอนเงินก่อน เราจะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ โดยอาจได้รับอัตราดอกเบี้ยเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ หรือไม่ได้รับดอกเบี้ย (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร) เช่น หากเลือกฝากในบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน และมีการถอนก่อนครบ 3 เดือน อัตราดอกเบี้ยที่ได้นั้น จะน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากประจำ 3 เดือน ในทางกลับกัน เมื่อเราฝากเงินครบ 3 เดือนแล้ว และยังไม่มีความต้องการใช้เงิน ก็ไม่ต้องรีบไปถอนเงินออกมานะคะ เพราะธนาคารจะฝากเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยต่อให้เราไปอีกเรื่อย ๆ ทุก 3 เดือนเลยล่ะค่ะ
   
            ส่วนการคำนวณดอกเบี้ยที่จะได้รับนั้น ก็ไม่ยากค่ะ เช่น หากฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำ 6 เดือน เป็นเงิน 50,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย 2.0% ต่อปี โดยเงินฝากประเภทนี้ จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ดังนั้นดอกเบี้ยที่จะได้รับในช่วง 6 เดือนแรก คำนวณได้จาก (50,000 x 2.0%) /2 = 500 บาท ส่วนในช่วง 6 เดือนถัดมา หากฝากเงินต่อ จะได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เพราะธนาคารจะคำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นรวมกับดอกเบี้ยที่ได้มาในช่วง 6 เดือนแรกค่ะ ทั้งนี้ สำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินฝากประจำ ธนาคารจะหักภาษีเอาไว้ 15% ค่ะ ยกตัวอย่างเช่น หากได้รับดอกเบี้ยเป็นเงิน 500 บาท จะถูกหักภาษีไปก่อน 75 บาท ทำให้ได้รับดอกเบี้ยเป็นเงิน 425 บาท


บัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี

            ใครที่อยากออมเงินเป็นประจำสม่ำเสมอ จำนวนเงินเท่ากันทุกเดือน หากสามารถออมเงินได้ 2 ปีขึ้นไป แนะนำให้ออมในบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษีค่ะ บัญชีเงินฝากประเภทนี้มีจุดเด่นคือ อัตราดอกเบี้ยที่สูง และดอกเบี้ยที่ได้รับไม่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่แต่ละธนาคารกำหนดจะแตกต่างกัน โดยมีทั้งแบบลอยตัว (ขึ้นลงตามอัตราดอกเบี้ยโดยรวมของธนาคาร) และแบบคงที่ หากคาดว่า อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น แนะนำให้เลือกแบบลอยตัว ในทางกลับกัน หากมองว่า อัตราดอกเบี้ยจะลดลง แนะนำให้เลือกแบบคงที่ค่ะ

            บัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษีมีข้อกำหนดของภาครัฐฯ ว่า ยอดเงินฝากโดยรวมต่อบัญชีจะต้องไม่เกิน 600,000 บาท ซึ่งมีผลให้ยอดเงินฝากรายเดือนของบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษีถูกกำหนดให้ไม่เกิน 25,000 บาท สำหรับบัญชีอายุ 2 ปี และ 16,500 บาท สำหรับบัญชีอายุ 3 ปี นอกจากนี้ ธนาคารมีการกำหนดยอดเงินขั้นต่ำในการฝากเงินแต่ละเดือนอยู่ที่ 500-1,000 บาท อีกด้วยค่ะ

            การเลือกฝากเงินในบัญชีให้ถูกประเภท จะช่วยให้เราได้รับผลตอบแทนจากการฝากเงินที่สูงขึ้น สำหรับผู้ที่อยากเริ่มออมเงิน แนะนำให้กันเงินออกมาจากเงินเดือนก่อนใช้จ่าย เริ่มต้นที่ 10% ต่อเดือนก่อน จากนั้น หากมีเงินเหลือหลังจากการใช้จ่ายต่าง ๆ ก็สามารถออมเพิ่มได้ค่ะ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter @KBank_Expert







ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝากเงินแบบไหน ให้เหมาะกับเรามากที่สุด อัปเดตล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10:34:22 74,410 อ่าน
TOP