x close

เรื่องควรรู้หลังยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี


เรื่องควรรู้หลังยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี ให้กรมสรรพากร แนะข้อมูลหลังยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว 

            พอผ่านพ้นช่วงเวลาของการยื่นเสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ช่วงประมาณเดือนมกราคม-เดือนมีนาคมไปแล้ว เหล่ามนุษย์เงินเดือนคงตั้งหน้า ตั้งตารอว่า เมื่อไหร่กันนะ ถึงจะได้รับเงินคืนภาษี หรือ เช็คคืนเงินภาษี และถ้าไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร เอาเช็คเข้าบัญชีไม่ได้ รวมทั้ง หากเช็คคืนเงินภาษีหาย หรือ ชำรุด ต้องทำยังไง วันนี้เรามีคำแนะนำมาฝาก

            ในการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีนั้น สามารถทำได้ 2 ช่องทาง และมีช่วงระยะเวลาคืนเงินภาษี ดังนี้

            1. การยื่นแบบเสียภาษีทางอินเทอร์เน็ต

            กรมสรรพากร จะคืนเงินภาษีภายใน 15 วัน นับแต่วันยื่นแบบแสดงรายการภาษี กรณีไม่ติดสถานะตรวจก่อนคืน หากติดสถานะตรวจก่อนคืนจะมีระยะเวลาดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันยื่นแบบแสดงรายการภาษี

            2. การยื่นแบบเสียภาษีที่สรรพากรเขต

            กรมสรรพากร จะคืนเงินภาษีภายใน 15 วัน นับแต่วันยื่นแบบแสดงรายการภาษี กรณีไม่ติดสถานะตรวจก่อนคืน หากติดสถานะตรวจก่อนคืนจะมีระยะเวลาดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันยื่นแบบแสดงรายการภาษี

            แต่ทั้งนี้ การจะได้รับคืนเงินภาษีเร็วหรือช้า อาจขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ดำเนินการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี เพราะในบางปี กรมสรรพกร ก็อาจจะรีบดำเนินการคืนเงินภาษีให้แก่ผู้ที่รีบยื่นเสียภาษีก่อน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนรีบจัดการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีนั่นเอง

            พอรู้ช่องทางการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี และช่วงเวลาที่จะได้รับคืนเงินภาษีกันแล้ว คราวนี้ก็มาถึงปัญหาที่หลาย ๆ คนอยากรู้ว่า หากไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร เอาเช็คเข้าบัญชีไม่ได้ รวมทั้ง หากเช็คคืนเงินภาษีหาย หรือ ชำรุด ต้องทำยังไงนั้น ไปหาคำตอบพร้อมกันเลย


อยากรู้สถานะ "คืนเงินภาษี" ตอนนี้อยู่ขั้นตอนไหน


            ในกรณีนี้ ให้เข้าไปที่ เว็บไซต์ www.rd.go.th เลือก E-FILING และเลือก "สอบถามการขอคืนภาษี" เพียงเท่านี้ ก็จะรู้แล้วว่า เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด


ยื่นภาษีเงินได้ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเช็ค ต้องทำอย่างไร

            สำหรับสาเหตุ ที่ทำให้เช็คคืนเงินภาษีส่งมาไม่ถึงมือของเราซะทีนั้น อาจเกิดจากการที่เราเปลี่ยนที่อยู่แล้วไม่ได้แจ้งให้ทางกรมสรรพากรรู้ หรือไม่ได้เปลี่ยนที่อยู่แต่ก็ไม่ได้รับเช็ค เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอให้รีบติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามที่ระบุไว้ในแบบแสดงรายการ เพื่อยื่นคำร้องขอออกเช็คฉบับใหม่

            โดยเอกสารที่ใช้ประกอบคำร้อง มีดังนี้

            1. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา

            2. หนังสือมอบอำนาจ กรณีให้ผู้อื่นกระทำการแทน และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจพร้อมสำเนา


กรณีเช็คคืนเงินภาษีชำรุด สูญหาย หรือธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน มีวิธีแก้ไขไหม

            หากเช็คคืนเงินภาษีที่ได้รับชำรุด หรือสูญหาย หรือธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เช่น เช็คเกิน 6 เดือน คำนำหน้าชื่อไม่ถูกต้อง หรือชื่อ/นามสกุลไม่ถูกต้อง ให้นำเช็คดังกล่าวติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามที่ระบุไว้ในแบบแสดงรายการ เพื่อยื่นคำร้องขอออกเช็คฉบับใหม่

            โดยเอกสารที่ใช้ประกอบคำร้อง มีดังนี้

            1. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา

            2. หนังสือแจ้งความ กรณีผู้ขอคืนทำเช็คสูญหาย

            3. หนังสือแจ้งเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล กรณีเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล

            4. หนังสือมอบอำนาจ กรณีให้ผู้อื่นกระทำการแทน และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจพร้อมสำเนา


ได้รับเช็คคืนเงินภาษีแล้ว แต่ไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ไหม

            บางครั้ง เราก็จะพบว่าผู้ยื่นเรื่องรับเงินคืนภาษี อาจจะไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร ทำให้ไม่สามารถไปขึ้นเช็คได้ ซึ่งในเรื่องนี้ กรมสรรพากร ได้เสนอทางแก้ปัญหาไว้แล้ว โดยให้ผู้ยื่นเรื่องรับเงินคืนภาษีนำเช็คไปแลกเป็นเงินสดแทน และสถานที่ที่ต้องไปดำเนินการนำเช็คคืนเงินภาษีมาแลกเป็นเงินสด มีดังนี้

            1. กรณีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้นำเช็คคืนเงินภาษีมาแลกเป็นเงินสดที่กองคลัง ชั้น 7 อาคารกรมสรรพากร เลขที่ 90 ถนนพหลโยธิน 7 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ

            2. กรณีที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด ให้นำเช็คคืนเงินภาษีมาแลกเป็นเงินสดที่ฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักงานสรรพากรพื้นที่จังหวัดที่ตนอาศัยอยู่
 
            ทั้งนี้ เอกสารที่ใช้ประกอบการแลกเช็คดังกล่าวเป็นเงินสด มีดังนี้

            1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทางกรณีคนต่างด้าว พร้อมสำเนา

            2. หนังสือจัดตั้งคณะบุคคล กรณีคณะบุคคล

            3. หนังสือมอบอำนาจ กรณีให้ผู้อื่นกระทำการแทนและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจพร้อมสำเนา


            และนี่คือข้อมูลที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาควรรู้ หลังยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ก็อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลกันนะคะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสรรพากร





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องควรรู้หลังยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี อัปเดตล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10:42:06 11,430 อ่าน
TOP