x close

ธปท. แจงเหยื่อถูกดูดเงิน ตัดบัตร 1.07 หมื่นใบ อ่วม 130 ล้าน ใครโดนแล้ว ทำยังไง

         ธปท. - สมาคมธนาคาร แจงเหยื่อถูกตัดบัตรผิดปกติ 1.07 หมื่นใบ ช่วง 1-17 ตุลาคม ความเสียหายอ่วมกว่า 130 ล้านบาท ชี้คนรู้ตัวโดนตัดบัตรแล้ว ทำยังไง ได้เงินคืนไหม

ถูกตัดบัตรเครดิต

         จากกรณีมีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกดูดเงินอย่างเป็นปริศนาจำนวนมาก ซึ่งหลายรายเป็นการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเดบิตและบัตรเครดิตของธนาคาร ทำให้เหยื่อสูญเงินเกลี้ยงบัญชี รวมเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 130 ล้านบาท

         ล่าสุด (17 ตุลาคม 2564) เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานข้อมูลจาก น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ ธปท. และสมาคมธนาคารไทย พบว่ามีผู้เสียหายถูกตัดเงินจากบัตรผิดปกติ 10,700 ใบ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 130 ล้านบาท แบ่งเป็น บัตรเดบิต 30 ล้านบาท และบัตรเครดิต 100 ล้านบาท เหตุเกิดขึ้นในช่วง 1-17 ตุลาคม ที่ผ่านมา

         ขณะที่แถลงการณ์ร่วมจาก ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า สาเหตุสำคัญของกรณีการตัดเงินที่ผิดปกติ ผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของลูกค้าจำนวนมาก เกิดจากการที่มิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตรและนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศ ที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP)

         โดยตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม มีบัตรที่มีการใช้งานผิดปกติจากเหตุข้างต้นจำนวน 10,700 ใบ ซึ่งการใช้งานส่วนใหญ่มีจำนวนเงินต่อรายการต่ำ เช่น 1 ดอลลาร์ และมีการใช้เป็นจำนวนหลาย ๆ ครั้ง


         ทั้งนี้ ธนาคารมีระบบตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ โดยแต่ละธนาคารจะกำหนดเพดานและเงื่อนไขการใช้งานของบัตรตามลักษณะประเภทร้านค้าและประเภทสินค้าแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ ธปท. และ สมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันและแก้ปัญหา ดังนี้

ถูกตัดบัตรเครดิต

         1. ยกระดับความเข้มข้นในการตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้ครอบคลุมทั้งธุรกรรมที่มีจำนวนเงินต่ำและที่มีความถี่สูง หากพบธุรกรรมที่ผิดปกติ ธนาคารจะระงับการใช้บัตรทันทีและแจ้งลูกค้าในทุกช่องทาง รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังรายการธุรกรรมจากต่างประเทศเป็นพิเศษ

         2. เพิ่มการแจ้งเตือนลูกค้าในการทำธุรกรรมทุกรายการ ตั้งแต่รายการแรกผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ระบบ Mobile banking อีเมล หรือ SMS  

         3. กรณีที่ตรวจสอบพบว่าลูกค้าได้รับผลกระทบจากการทุจริตตามข้างต้น

         - กรณีบัตรเดบิต ลูกค้าจะได้รับการคืนเงินภายใน 5 วันทำการ

         - กรณีบัตรเครดิต ธนาคารจะยกเลิกรายการดังกล่าว ลูกค้าไม่ต้องชำระเงินตามยอดเรียกเก็บที่ผิดปกติ และจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย

         4. ธปท. และสมาคมธนาคารไทยจะเร่งหารือกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตร เช่น Visa Mastercard เพื่อกำหนดให้มีการใช้การยืนยันตัวตนเพิ่มเติม เช่น OTP กับบัตรเดบิตสำหรับร้านค้าออนไลน์


         กรณีลูกค้าพบความผิดปกติของธุรกรรมด้วยตนเอง สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์ หรือสาขาของธนาคารผู้ออกบัตร เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

         สำหรับประชาชนทั่วไป ควรตรวจสอบการทำธุรกรรมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งระมัดระวังการผูกบัตรเดบิตในการทำธุรกรรม โดยเฉพาะกับแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยง เช่น เกมออนไลน์ แพลตฟอร์มที่ไม่มีการยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งาน หรือไม่มี OTP ทั้งนี้ สำหรับบางธนาคาร ลูกค้ายังสามารถเปิด/ปิดการใช้งานของบัตร หรือเปลี่ยนแปลงวงเงินการใช้บัตร หรืออายัดบัตรได้ด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร นอกเหนือจากการติดต่อกับธนาคาร

         ธปท. และ สมาคมธนาคารไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยธนาคารมีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและมีการตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติอย่างต่อเนื่อง ในระยะต่อไป ธปท. และสถาบันการเงินจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกระดับมาตรการและประสิทธิภาพการตรวจจับและตอบสนองต่อรายการผิดปกติ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว  

ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์, ธนาคารแห่งประเทศไทย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธปท. แจงเหยื่อถูกดูดเงิน ตัดบัตร 1.07 หมื่นใบ อ่วม 130 ล้าน ใครโดนแล้ว ทำยังไง อัปเดตล่าสุด 19 ตุลาคม 2564 เวลา 15:22:20 10,843 อ่าน
TOP